คอลัมนิสต์

ต้องขน'มวลชน'ให้ได้จริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต้องขน'มวลชน'ให้ได้จริง : บทบรรณาธิการประจำวันที่  26 สิงหาคม 2559

            เพียงแค่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไม่กี่วัน รถไฟฟ้าสายสีม่วง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ออกอาการเหมือนคนป่วยไข้เรื้อรังมาเป็นเวลานาน ด้วยผลประกอบการขาดทุนถึงวันละ 3 ล้านบาท เบื้องต้นบอร์ดรฟม.ได้ประชุมร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อหาทางแก้ปัญหา ซึ่งได้ข้อสรุปว่า รฟม.จะปรับลดค่าโดยสารช่วงบางใหญ่-เตาปูน ลงจากเดิมที่ระยะทางช่วงสถานีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาท เหลือ 1 บาท หรือลดลง 50% ส่งผลให้ค่าโดยสารตลอดสายลดลงจาก 42 บาท เหลือ 29 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 พร้อมกับลดค่าโดยสารสายสีน้ำเงินตลอดเส้นทางที่ผู้โดยสารมาต่อสถานีบางซื่อไปหัวลำโพงจากทั้งหมด 70 บาท เหลือ 57 บาท ส่วนค่าจอดรถบริเวณอาคารที่จัดไว้ก็ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ ใช้สำหรับระบบโดยสารที่จ่ายผ่านบัตรโดยสารเท่านั้น

            ตามประมาณการของ รฟม.นั้น วิเคราะห์เอาไว้ก่อนหน้าว่า เมื่อเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะมีผู้โดยสารวันละ 1 แสนคน แต่กลับมีผู้โดยสารจริงเพียงวันละ 2 หมื่นคนเท่านั้น ซึ่งรฟม.เองก็แจกแจงสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงยังมีน้อยว่า เป็นเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทาง เพราะยังมีปัญหาบริการขาดช่วงระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ รองลงมาคือปัญหาค่าโดยสารแพง การเดินรถไม่นิ่ง และขบวนรถจอดไม่ตรงป้าย ซึ่งได้ประสานให้บีอีเอ็มเร่งแก้ปัญหาแล้ว คาดว่าจะดำเนินการปรับระบบแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 สำหรับความเห็นของนักวิชาการมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากการขาดความเชื่อมโยงกับชุมชน ทำให้ระบบขนส่งมวลชนไม่สามารถเข้าถึงผู้โดยสารตามหมู่บ้านชานเมือง และแหล่งย่านต่างๆ ได้

            รถไฟฟ้าสายสีม่วง ถือว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรางชานเมืองสายแรกที่เปิดให้บริการ โดยในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าต่อเชื่อมชุมชนเมืองอีกหลายสายทยอยเปิดให้บริการในทุกทิศทางของกรุงเทพมหานคร โดยย่านจตุจักร จะเป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมระบบรางทั้งหมด หากแต่บทเรียนที่เกิดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง คงเป็นเรื่องยากที่จะห้ามสังคม ไม่ให้เป็นห่วงเป็นใยว่า อีกหลายโครงการที่เหลือในอนาคตจะไม่เข้าอีหรอบเดิม เพราะสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากเรื่องการต่อเชื่อมเพียงอย่างเดียว หากแต่ที่สำคัญก็คือ โครงการนั้นๆ จะต้องตอบโจทย์วิถีการเดินทางของผู้คนให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยระหว่างที่พำนักพักอาศัยกับสถานีใกล้ที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่า เป็น “ขนส่งมวลชน” ที่แก้ปัญหาการขนส่งคนทางถนนได้

            ตัวอย่างจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ยังมีอีกบางปัญหาที่รอการแก้ไขแบบ “บูรณาการ” ระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด อย่างเช่นที่ขณะนี้ปัญหาการต่อเชื่อมโครงการยังมุ่งไปที่ระบบของรฟม.เองมากกว่า ทั้งๆ ที่รถไฟฟ้าของกทม. หรือบีทีเอส ที่มีผู้โดยสารจำนวนมากนั้น ก็ถือเป็นสายหลักที่ขนถ่ายผู้คนสู่ย่านธุรกิจ ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนเมืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตก็จะต้องวางระบบให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารให้มากที่สุด ทั้งบีทีเอส รฟม. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือแม้กระทั่งทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการขับเคลื่อนแผนงานแม่บทอย่างเป็นระบบ อันประสานสอดคล้องกับการคมนาคมแยกย่อยในระดับชุมชน ที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการได้โดยเท่าเทียม ซึ่งจะต้องไม่มีอุปสรรคทั้งทางกายภาพ และราคา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ