คอลัมนิสต์

ออง ซาน ซูจีเยือนแดนมังกร : ไฉนต้องเคลียร์เรื่องเขื่อนก่อน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ออง ซาน ซูจีเยือนแดนมังกร : ไฉนต้องเคลียร์เรื่องเขื่อนก่อน? : บทความพิเศษ โดยสุทธิชัย หยุ่น

“จีนกับพม่าเชื่อมต่อกันทั้งด้วยแม่น้ำและภูเขา...”

นี่คือวาทะเชิงศิลป์ของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ของจีนกล่าวต่ออาคันตุกะจากพม่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

พอ ออง ซาน ซูจี ก้าวลงที่ปักกิ่งเมื่อไม่กี่วันก่อนเพื่อการเยือนอย่างเป็นทางการ 5 วัน นั่นย่อมถือเป็นการไปเหยียบดินแดนจีนครั้งแรก

หลังจากที่เธอชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น คนเฝ้าการเมืองระหว่างประเทศก็จับตาว่าเธอจะวางตัวอย่างไรเพื่อถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจในโลกโดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐ

และทำไมหัวข้อเจรจาหลักจึงเป็นเรื่องเขื่อน?

ประเด็นแรกที่น่าสนใจคือหลังจากขึ้นมาเป็น “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” และรัฐมนตรีต่างประเทศ มีอำนาจบารมีเหนือประธานาธิบดีด้วยซ้ำ, ออง ซาน ซูจีไปเยือนลาวก่อนเป็นประเทศแรก หลังจากนั้นก็มาเยี่ยมประเทศไทย ถือเป็นสองประเทศเพื่อนบ้านที่เธอให้ความสำคัญ

และเมื่อเธอประกาศว่าจะไปประเทศจีนก่อนไปอเมริกา, ก็ต้องถือว่านี่เป็นการวาง “ลำดับความสำคัญ” ที่มีนัยทางด้านยุทธศาสตร์การทูตอย่างสำคัญยิ่ง

เพราะอเมริกาอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้พม่าก้าวพ้นระบอบทหารมาสู่การเลือกตั้งที่ให้ประชาชนคนพม่าตัดสินชะตากรรมของตน

จีนเคยได้ประโยชน์อย่างมากในยามที่กองทัพปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในพม่า ผู้นำจีนก็ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เชิญออง ซาน ซูจีในฐานะผู้นำฝ่ายค้านไปเยือนจีน จับมือถ่ายรูปกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อย่างเปิดเผย

จีนทุ่มเงินลงทุนในพม่าหลายโครงการ ที่ดูเหมือนจะเป็นข่าวมากที่สุดคือ เขื่อนมิตโสน (Myitsone Dam) ซึ่งถูกระงับยับยั้งการก่อสร้างไปในปี 2011 เพราะชาวบ้านและเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งได้ลุกขึ้นต่อต้านด้วยเกรงจะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการครอบงำของจีนในระบบเศรษฐกิจของพม่า

เขื่อนนี้เป็นโครงการลงทุนร่วมระหว่างสองประเทศ ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 125,000 ล้านบาท

เป็นโครงการที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่า เป็นการทดสอบว่าจีนจะสามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเชื่อในประโยชน์ของโครงการนี้ต่อประชาชนคนพม่าอย่างแท้จริงหรือไม่

จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าการที่ปักกิ่งได้โครงการนี้มิได้เกิดจากประโยชน์ระหว่างผู้นำจีนกับผู้นำทหารของพม่าเท่านั้นเอง

พอออง ซาน ซูจีนั่งลงเจรจากับฝ่ายจีนที่นำโดยนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง, หัวข้อเรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นหลักจริงอย่างที่มีการคาดการณ์กัน

และดูเหมือนทั้งสองฝ่ายจะตระหนักดีว่าหากการมาเยือนจีนของผู้นำพม่าจะมีภาพว่าประสบความสำเร็จก็จะต้องมีทางออกสำหรับหัวข้อละเอียดอ่อนเรื่องนี้

แถลงข่าวครั้งแรกมาจากรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ หลิว เจินหมิน ที่บอกว่ารัฐบาลพม่าภายใต้การนำของออง ซาน ซูจีจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นเขื่อนแห่งนี้โดยเน้นว่า “เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับทั้งสองประเทศ”

น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์ ประธานาธิบดีอู ถิ่นจอ ได้ประกาศตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อทบทวนโครงการเขื่อนพลังน้ำทั้งหมดในลุ่มน้ำอิรวะดี ซึ่งก็รวมถึงเขื่อนมิตโสนที่เป็นเรื่องเป็นราวมาตลอดด้วย

เท่ากับว่าผู้นำพม่าได้ปูทางสำหรับการเจรจาหาทางลงกับจีนเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความกระอักกระอ่วน

ระหว่างการเยือนอย่างที่เป็นทางการของออง ซาน ซูจีสู่ปักกิ่งที่ตกอยู่ในสายตาระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดแน่นอน

ต้องไม่ลืมว่า ณ วันนี้จีนเป็นประเทศลงทุนในพม่าอันดับหนึ่ง มาตัวเลขลงทุนในโครงการต่างๆ ถึง 15,400 ล้านดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือการทำเหมือง

พม่าต้องพึ่งพาจีนไม่น้อยในการช่วยเกลี้ยกล่อมให้ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธตรงชายแดนโดยเฉพาะกลุ่มโกกั้งให้ร่วมแผนการเจรจากับรัฐบาลกลางเพื่อวางอาวุธอย่างถาวรและร่วมสร้างชาติสร้างบ้านเมืองหลังจากต่อสู้กันมาหลายสิบปี

อีกทั้งหากรัฐบาลพม่าจะปราบปรามการค้ายาเสพติดและสินค้าเถื่อนตรงชายแดนอย่างถาวรก็จำเป็นจะต้องได้ความร่วมมืออย่างจริงจังจากปักกิ่งด้วย

ผมติดตามสื่อทางการของจีนในเรื่องนี้ ก็พอจะเห็นว่า มีความพยายามที่จะชี้ว่าพม่าวันนี้มีความใกล้ชิดกับจีนมากกว่ากับสหรัฐ

แม้ว่าใครๆ ก็รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองของพม่าที่เกิดขึ้นวันนี้มาจากแรงผลักดันของโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐและยุโรป

แต่เมื่อทุกอย่างเปลี่ยน อะไรๆ ก็ต้องปรับ...ไม่ว่าจะเป็นมังกร, อินทรี หรือแม้แต่หญิงเหล็กอย่างออง ซาน ซูจี

วันนี้เธอเล่นบทผู้ปกครองประเทศ บทบาท ลีลาและน้ำเสียงย่อมแตกต่างไปจากเมื่อคราวเธอชูธงต่อต้านเผด็จการทหารแน่นอน

.............................

(หมายเหตุ : ออง ซาน ซูจีเยือนแดนมังกร : ไฉนต้องเคลียร์เรื่องเขื่อนก่อน? : บทความพิเศษ โดยสุทธิชัย หยุ่น http://www.oknation.net/blog/blackcheepajornlok/2016/08/23/entry-1)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ