คอลัมนิสต์

ความพยายามกับการตีความคำถามพ่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความพยายามกับการตีความคำถามพ่วง : ขยายปมร้อน สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

           แม้การทำประชามติจะเสร็จสิ้นไปด้วยดี โดยผ่านฉลุยทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ทำให้ดูเหมือนว่า คสช.จะประสบความสำเร็จในทางการเมืองอย่างชนิดที่เรียกว่าเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะสิ่งที่ปรารถนาเอาไว้นั้น จะถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงเสียงประชาชนที่ออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญก็เปรียบเหมือนเสียงที่สนับสนุน คสช. ด้วยเช่นกัน
 
           แต่เรื่องที่จะจบดูเหมือนไม่จบเพราะ แม้ คสช.จะได้ทุกอย่างมาไว้ในกำมือ แต่บางคนดูเหมือนว่าจะยังไม่พอ โดยเรายังไม่อาจฟันธงไปได้ว่าเขาทำไปด้วยเหตุผลใด ไม่ว่าจะเป็นการตีความโดยบริสุทธิ์ใจ การปรารถนาเอื้อทางสะดวกให้แก่ผู้มีอำนาจตามคำร้องขอหรือไม่ หรือทำเพื่อปูทางเผื่อตัวเองในวันข้างหน้า เหล่านี้ยังรอคอยเวลาที่จะเป็นผู้มาตอบ
 
           เรื่องของเรื่องเกิดเพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดว่า หากคำถามถ่วงผ่านการทำประชามติ ก็ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ “ดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ”
 
           ซึ่งคำถามพ่วงครั้งนี้นั้นก็ถือเป็นคำถามที่ยาวและวกวนอยู่ไม่น้อย โดยถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
 
           ซึ่งภายหลังการทำประชามติ ว่ากันตามจริงแล้วกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็น่าที่จะนำคำถามพ่วงไปเป็นหลักในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะต้องถือว่าคำถามที่ไปถามประชาชนนั้นต้องเป็นคำถามที่เคลียร์ในตัวเอง มิใช่ต้องมาตีความ หรือแปรขยายเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะถ้าถึงขั้นต้องตีความเจตนาแล้ว ถึงเวลานั้นไม่สามารถมีประชาชนคนไหนมาโต้แย้งได้ว่าเขามีเจตนาเช่นไร ดังนั้นจึงสมควรยึดการตีความที่เข้าใจง่ายที่สุด
 
           หากอ่านและตีความกันง่ายๆ ก็จะเห็นว่า คำถามดังกล่าวนั้น เป็นเจตนาที่จะถามประชาชนว่า จะให้อำนาจ ส.ว.ในการเข้าร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่ามีใครบางคนไม่ตีความแค่เช่นว่า หากแต่ตีความแบบกว้างไกลว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ส.ว.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญก็สมควรที่จะมีอำนาจเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรีด้วย จากเดิมที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.
 
           จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า การเข้าไปหารือกับ สนช. ในฐานะผู้ตั้งคำถามเพื่อให้ตีความนั้นมีเจตนาเช่นไร
 
           สนช.พยายามระบุว่า การตีความมีสองอย่างคือ การตีความ “อย่างกว้าง” และ “อย่างแคบ”

           “อย่างแคบ” คือการตีความแบบที่คนธรรมดาเข้าใจกันคือ ให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ส่วน “อย่างกว้าง” คือ การเข้าร่วมทั้งกระบวนการ ซึ่งแน่นอนว่าที่ต้องการคือการเสนอชื่อ “นายกรัฐมนตรี” ด้วย 
 
           พวกเขาอธิบายว่าในคำถามพ่วงใช้คำว่า “พิจารณาให้ความเห็นชอบ” และมาแยกแยะรายคำบอกว่า “พิจารณา” ย่อมหมายถึงมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการแรกเช่นการเสนอชื่อ  ส่วนให้ความเห็นชอบก็คือการโหวต
 
           ตามมาด้วย “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ที่ออกมาเปรียบเทียบว่า การที่ศาลพิจารณาคดีนั้นก็ไม่ใช่แค่พิพากษาเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการสืบพยาน การไต่สวนพยานหลักฐาน
 
           อย่างไรก็ตามน่าถามเขากลับเช่นกันว่า ในการพิจารณาคดี ศาลเองนั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาไต่สวน สืบพยาน แต่ไม่ได้ไปทำคดี จับกุม หาตัวคนร้าย หรือหาพยานหลักฐานด้วยตัวเอง  
 
           อย่างไรก็ตามสิ่งที่ควรพิจารณาคือ การเสนอและตีความเช่นนี้เป็นการทำที่นอกเหนือจากคำถามพ่วงหรือไม่ 
 
           จากการพูดคุยกับ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะที่เข้าร่วมหารือกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้เขาก็ระบุว่า “จริงๆ มีการเสนอคำถามที่ยาวกว่านี้ มีรายละเอียด แต่ประชาชนฟังแล้วอาจจะข้องใจว่าทำไมไม่ถามให้ชัดเจน ทำไมถึงถอดความหมายไปในลักษณะที่เป็นคนละทิศคนละทาง เราไม่สามารถเสนอคำถามที่สมบูรณ์ได้ เพราะจะกลายเป็นถามหลายประเด็น”
 
           ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า พวกเขาเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าคำถามที่ถามประชาชนในประเด็นเดียวนั้นคืออะไร  และประเด็นอื่นที่ตีความมาเพิ่มนั้นเรียกว่านอกเหนือหรือไม่ 
  
           จึงน่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาดันเรื่องนี้สุดลิ่มทิ่มประตู  อีกไม่นานเราคงรู้กัน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ