คอลัมนิสต์

ปรากฏการณ์โปเกมอน โก 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรากฏการณ์โปเกมอน โก 

          ปรากฏการณ์ไล่ล่าโปเกมอน กำเนิดขึ้นราวกับประกายไฟวาบขึ้นมาในสังคมไทยในทันทีที่เปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาพเทรนเนอร์รุ่นจิ๋ว จนถึงเทรนเนอร์รุ่นสูงวัย ก้มหน้าไล่ขว้างลูกบอลใส่ปีศาจโปเกมอนในสถานที่ต่างๆ และแทบจะตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

ปรากฏการณ์โปเกมอน โก 

          เพราะผู้เล่นที่เรียกว่า “เทรนเนอร์” จะต้องจดจ่อกับสิ่งที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ว่าตนเองเข้าใกล้ปีศาจโปเกมอนได้มากน้อยเพียงใดแล้ว และปีศาจนั้นปรากฏตัวหรือยัง อยู่ใกล้พอที่จะขว้างลูกบอลไปล่อให้ปีศาจตนนั้นมาอยู่ในอาณัติแล้วหรือยัง

          โปเกมอน โก เป็นเกมที่เกิดขึ้นจากการร่วมพัฒนาระหว่างนินเทนโด (Nintendo) ผู้ผลิตเกมแห่งญี่ปุ่น กับนีแอนทิค แล็บส์ (Niantic Labs) โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก เดอะ โปเกมอน คอมปานี และ กูเกิล ทำให้มีงบประมาณในการพัฒนาราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการลงทุนเดิมพันนำเกมซิมูเลชั่น อาร์พีจี ที่มีเทคโนโลยี Augment Reality (AR) มาใช้เป็นจุดหลักในการดำเนินการเล่นเกม

ปรากฏการณ์โปเกมอน โก 

          เทคโนโลยี Augment Reality หรือ “ความจริงส่วนขยาย” เป็นนิยมของการเพิ่มความหมาย เนื้อหาให้แก่สิ่งของ หรือสถานที่จริง ด้วยการเสริมเนื้อหาด้านภาพ เสียงเข้าไป โดยอาศัยระบบระบุพิกัดด้วยดาวเทียม (จีพีเอส) ประกอบกับโปรแกรมที่ตั้งไว้ ทำให้มีข้อมูลเชิงลึกปรากฏขึ้นในสถานที่จริง และอาจจะเพิ่มการโต้ตอบ (Interaction) เข้ามาทำให้ประสบการณ์ของความจริงส่วนขยายนั้นดูมีน้ำหนักเป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้น

          ดังนั้น ในการกำหนดกติกาการเล่นเกมโปเกมอน โก นั้นก็คือเทรนเนอร์จะต้องเดินหรือเดินทางไปไล่ล่าปีศาจโปเกมอนหลายร้อยตัวในเกมที่จะปรากฏในสถานที่ต่างๆ ตามที่กำหนดในเกม โดยมีการแบ่งชนิดของโปเกมอนออกเป็นชนิดที่มีธาตุต่างๆ ประกอบด้วย ธาตุไฟ น้ำ พิษ พลังจิต ดิน ฯลฯ ซึ่งจุดกำเนิดของโปเกมอนแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นโปเกมอนธาตุน้ำจะปรากฏในสถานที่ใกล้ๆ แหล่งน้ำ หรือแม้กระทั่งในแหล่งน้ำเลยทีเดียว เทรนเนอร์ที่ต้องการจับปีศาจพวกนี้ต้องใช้ทักษะและเครื่องมือช่วยเป็นพิเศษ เช่น โดรน ที่ออกแบบมาให้ไปทิ้งลูกบอลใส่โปเกมอนที่อยู่ในน้ำ เพื่อจับมาอยู่ในมือให้จงได้

ปรากฏการณ์โปเกมอน โก 

          บรรดาเทรนเนอร์ที่เล่นเกมโปเกมอน โก จะต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อมสำหรับการเล่น ประกอบไปด้วยสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต ในระบบ 3G หรือ 4G ได้ตลอดเวลา พร้อมกับเวลาและอุปกรณ์การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางในการไล่ล่าปีศาจโปเกมอน เป็นพื้นฐาน 

          นอกจากนั้นในเกมยังต้องใช้ลูกบอลในการดึงปีศาจโปเกมอนมาอยู่ในอาณัติ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมชนิดต่างๆ เช่น เครื่องฟักไข่ เพื่อให้ได้ปีศาจโปเกมอนที่มีค่าการต่อสู้ในระดับสูง ซึ่งยิ่งลงทุน “ซื้อ” อุปกรณ์เสริมในเกมมากก็มีโอกาสที่จะได้ปีศาจศักยภาพสูงเหล่านี้เพื่อนำมาใช้ต่อสู้กับโปเกมอนของเพื่อนได้มากขึ้นตามไปด้วย

ปรากฏการณ์โปเกมอน โก 

          ไม่น่าแปลกใจที่เกมโปเกมอน โก จะได้รับความนิยมในระดับโลก รวมทั้งประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาแทบจะไม่มีเกมที่ใช้เทคโนโลยีเออาร์ มาให้เล่นกันเลย เว้นแต่เกม Ingress ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้แต่ไม่สามารถสร้างกระแสโด่งดังระดับโลกเช่นเดียวกับโปเกมอน โก แต่ความสนุกสนานในการเล่นเกมโปเกมอน โก ก็ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งจนรัฐบาลในหลายประเทศให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์เห่อ โปเกมอน โก ที่เกิดขึ้น จนบางประเทศมีคำสั่งแบนเกมเออาร์ตัวนี้ไม่ให้เข้ามาใช้งานในประเทศ 

          มีรายงานว่ารัฐบาลอิหร่านประเดิมสั่งห้ามนำเข้าเกมโปเกมอน โก และ ห้ามเล่นเกมนี้ในประเทศ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากว่าอิหร่านมีความอ่อนไหวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และการรักษาความปลอดภัยด้านความมั่นคงในระดับสูง การปล่อยให้ประชาชนไล่ล่าโปเกมอนไปในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทางศาสนา หรือบริเวณสถานที่ด้านความมั่นคงของประเทศคงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลอิหร่านยอมแลก

          ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวการจับกุมตัวหนุ่มชาวฝรั่งเศสที่เดินไล่ล่าปีศาจโปเกมอน เข้าไปในฐานทัพความมั่นคงสูงแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย จนถูกจับกุมและสอบสวนเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อค้นหาว่าชายหนุ่มคนนี้กระทำการจารกรรมหรือเป็นสายลับที่เข้ามาสอดแนมข้อมูลหรือไม่อย่างไร แต่ปรากฏว่าชายชาวฝรั่งเศสคนนี้สารภาพว่าตนเองติดเกมโปเกมอน โก และกำลังไล่ล่าปีสาจอย่างติดพันจึงเดินเข้าไปในฐานทัพโดยไม่รู้ตัว ซึ่งที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา

          สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีข่าวปรากฏออกมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับเทรนเนอร์ที่เล่นเกมนี้ โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทำให้เริ่มมีเสียงวิจารณ์การเล่นเกมยอดนิยมนี้ในประเทศไทย และเสียงกระตุ้นจากนักวิชาการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงไอซีที หรือกสทช. เข้ามาจัดการกำหนดระเบียบในการเล่นเกม เพื่อประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และมิติต่างๆ ของประเทศ

          นายธาม เชื้อสถาปณสิริ นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กของตนเองว่า  “ตอนนี้เกมโปเกม่อนกำลังเริ่มระบาด และจะทยอยสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ที่ไม่ได้เล่น ทั้งการเล่นที่เกะกะกีดขวางบนท้องถนน การเล่นในขณะขับขี่ การเล่นในพื้นที่สาธารณะ ที่เสี่ยงต่อการละเมิดข้อบังคับด้านความปลอดภัย มันก็แปลกดี ที่ “หน่วยงานรัฐบ้านเรา” เช่น กสทช.? ประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ไม่ยักกะออกมากำกับหรือดูแลอะไรเลย??? ” นายธามชี้ว่าไทยเป็นประเทศปลายทางของผู้ใช้เทคโนโลยี ซึ่งทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันในเรื่องเทคโนโลยีน้อยมาก ดังนั้นหน่วยงานที่มีความรู้และหน้าที่ในการจัดการ จึงน่าจะมีบทบาทมากกว่านี้  ทั้งยังแนะนำว่า  หน่วยงานตั้งแต่กสทช. ควรออกมากำหนดค่าบริการ การรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้เล่น ควรเรียกผู้นำเข้าและผู้ให้บริการค่ายโทรศัพท์มือถือ มากำกับ และควรออกประกาศให้ผู้ให้บริการมือถือค่ายต่างๆ ออกซิมเด็ก โดยเฉพาะ ไล่ไปจนถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ควรกำหนดเขตการเล่นไม่ให้รุกล้ำสถานที่สำคัญ และโบราณสถาน ส่วนกระทรวงศึกษาธิการก็ควรพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อให้เด็ก ครู และผู้ปกครอง นอกจากนั้นกระทรวงไอซีทียังควรหาวิธีป้องกันและคุ้มครองกระบวนการอาชญากรรมทั้งหมดที่เสี่ยงต่อผู้เล่นที่เป็นเด็กและเยาวชนอย่างเร่งด่วน (กระบวนการ Phishing หรือ Pharming) และความปลอดภัยทางด้านการเงิน ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

          ปรากฏการณ์โปเกมอน โก อาจจะเป็นเพียงเปลวไฟที่วาบขึ้นมาแล้วหายไปในสังคมไทย แต่หากมีกฎหมายและมาตรการป้องกันจากภาครัฐออกมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เลวร้าย น่าจะทำให้คนไทยที่มีภูมิคุ้มกันทางไอทีต่ำนั้นปลอดภัยมากขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ