คอลัมนิสต์

หนทางสู่ "เซ็ทซีโร่" พรรคการเมือง  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฎหมายลูก กำลังถูกจับตาว่า เนื้อหาจะล้างระบบพรรคการเมือง หรือ เซ็ตซีโร่ พรรคการเมืองปัจจุบัน หรือไม่    

       หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านคะแนน "เห็นชอบ" จากประชาชนส่วนใหญ่ ในการออกเสียงประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็มีคำถามตามมาว่า เส้นทางของโรดแมพ ไปสู่การเลือกตั้งในปี 2560 ยังเป็นโรดแมพเดิมหรือไม่ และพรรคการเมือง ต้องใช้กฎหมายอะไร ในการสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมาถึง

       “ยังยืนยันว่า เราจะเดินหน้าไปตามโรดแมพที่วางไว้ และจัดการเลือกตั้งปี 2560 ให้ได้ นั่นคือหลักการสำคัญไม่มีเปลี่ยนแปลง” คำยืนยันจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ถูกถามถึงโรดแมพ หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติฉลุย
 
       ประเด็นที่ต้องติดตาม นับจากนี้ คือ ภารกิจของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่า จะต้องเดินหน้าทำกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 4 ฉบับ เพื่อเดินไปตามโรดแมพ รองรับการเลือกตั้งในปี 2560 
 
      โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ กำลังเป็นกฎหมายลูกที่ถูกจับตามากที่สุด ว่าอาจมีการเขียนร่างกฎหมายให้มีเนื้อหา ให้พรรคการเมืองปัจจุบันต้องจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่และหาสมาชิกพรรคใหม่ ซึ่งจะเท่ากับ การล้างระบบพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมทั้งหมด หรือ ที่เรียกว่า "เซ็ตซีโร่"   

        หากดูจากรายงานข้อเสนอการปฏิรูประบบพรรคการเมือง ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. หนึ่งในองค์กรที่ร่วมออกแบบ พ.ร.บ.พรรคการเมือง จะพบว่า ปัญหาพรรคการเมืองของไทยที่ผ่านมา ไม่เป็นสถาบันการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง  มีกลุ่มธุรกิจ ระบบทุนครอบงำและผูกขาดทิศทางพรรค ถูกมองเป็นแหล่งผลประโยชน์
          รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยกระดับเส้นของศีลธรรมสูงขึ้นเยอะ คนที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องผ่านการอบรมทางการเมือง เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ สร้างได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่อย่างน้อยเขาจะบังคับว่า คุณจะมาเป็นนักการเมือง คุณต้องยอมรับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้  ที่ผ่านมาก็ไม่มีการทำ บีบให้นักการเมืองอยู่ในศีลในธรรมมากขึ้น  แม้ว่าจิตสำนึกเขาจะไปหรือไม่ก็แล้วแต่”  

            ขณะที่ สปท.เสนอให้มีการปฏิรูปพรรคการเมือง 5 ด้าน คือ 
            ปฏิรูปพรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองต้องประกาศอุดมการณ์ สร้างวัฒนธรรมการเมืองให้น่าศรัทธา เพื่อให้บุคคลหรือนิติบุคคล สนับสนุนทางด้านการเงินและเป็นสมาชิกได้  อีกทั้งรัฐจะให้งบประมาณสนับสนุน ซึ่งพรรคต้องทำหนังสือให้สมาชิกเดิมยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคกลับมา
             ปฏิรูปสมาชิกพรรคการเมือง ต้องไม่มีการว่าจ้างให้ประชาชนมาเป็นสมาชิกพรรค และสมาชิกมีสิทธิเข้าชื่อกัน 50 คน ให้ตั้งกรรมการสอบผู้บริหารพรรคที่ทำความผิดได้ ซึ่งมีมาตรการถึงขั้นการขับออกจากพรรค และสมาชิกยังมีอำนาจคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตในพื้นที่ตัวเอง หรือ ไพรมารีโหวต (Primary Vote) ก่อนที่จะเสนอชื่อไปยังที่ประชุมใหญ่
            ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารพรรค ที่ต้องแยกผู้มีตำแหน่งทางการเมืองกับผู้บริหารพรรคออกจากกัน กรรมการบริหารพรรคต้องได้รับคัดเลือกจากสมาชิกแต่ละภาค และสมาชิกพรรคสามารถเข้าชื่อตรวจสอบผู้บริหารและผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองได้
            ปฏิรูปนโยบายพรรค ต้องเป็นนโยบายที่ผ่านมติที่ประชุมใหญ่ สอดคล้องความต้องการของประชาชนที่ปฏิบัติได้เป็นรูปธรรม ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงรอบด้าน และไม่สร้างปัญหาระบบการคลังประเทศ
            และ ปฏิรูปการตรวจสอบ พรรคต้องทำบัญชีงบประมาณที่สมาชิกตรวจสอบได้และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ มีระบบสอบบัญชีเทียบเคียงได้กับบริษัทมหาชน  
             ส่วนประเด็นการยุบพรรค สปท.เสนอว่า ห้ามยุบพรรค เว้นแต่พรรคทำความผิดตามกฎหมายในข้อหาล้มล้างประชาธิปไตยและทำลายความมั่นคง

            ทั้งนี้  รศ.ดร.สังศิต ให้ความเห็นด้วยว่า  “พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับใหม่ เซ็ทซีโร่ หรือไม่ ผมยังไม่ทราบเลย แต่ว่าคณะกรรมาธิการปฏิรูปทางการเมืองของ สปท. คงจะเสนอเรื่องนี้  ผมเชื่อโดยส่วนตัวผมว่า กรรมาธิการจะไม่ทำแบบนั้น เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรค ล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์ของเขา ไม่ควรจะไปถึงขนาดล้มล้างเขา ผมว่าไม่ค่อยยุติธรรม” 

               ขณะที่ 2 พรรคใหญ่ขั้วตรงข้าม ก็ประเมินสถานการณ์ไม่ต่างกัน

               แกนนำพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า หลายจังหวัดฐานที่มั่นของพรรคหลายจังหวัดอีสานในอีสาน ที่รับร่าง รัฐธรรมนูญครั้งนี้่ ผิดคาดมาก ยอมรับว่าฐานเสียงพรรคคงมีปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่ง อาจจะมาจากตัวอดีตผู้แทนของพรรคเอง หลายจังหวัดที่แดงเข้มๆ ก็ยังไปทางเขา คะแนนมาอย่างนี้ แสดงว่าต้องมีปัญหา ทั้งที่ นปช.ก็ออกแรงเยอะ แต่เหมือนหมดความขลัง ถ้าจะมองว่า กระแสเบื่อนักการเมือง ก็ยังวิเคราะห์ยาก หลายจังหวัดที่ผลออกมา เที่ยวหน้าเหนื่อยแน่   

              "สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ทหารยิ่งได้ใจ ไม่แคร์นักการเมือง เพราะประชาชนเอาด้วย เรามองว่าเขาเซ็ทซีโร่แน่  ทหารยุบทุกพรรคแน่ แล้วให้จดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ คราวนี้เค้าก็ช้อป ส.ส.พรรคต่างๆ ได้ตามสบาย โดยไม่ผิดกติกา นักการเมืองก็ไม่มีข้อหา ทรยศใคร ใครอยากอยู่พรรคลุงป้อม ลุงตู่ ก็ไปได้  คิดว่ากระแสอย่างนี้ มีคนไปร่วมพรรคทหารแน่ ๆ"  อดีต รมต.สายตรง "ทักษิณ" ระบุ 

              เช่นเดียวกับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินเรื่องนี้ล่วงหน้าก่อนผลประชามติว่า "แนวคิดในการเซ็ทซีโร่ มีโอกาสเป็นไปได้สูง หลังพรรคใหญ่ 2 พรรคประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการยุบพรรคการเมืองเพื่อสลายพรรคใหญ่ และมีพรรคอื่นตั้งขึ้นมารองรับอำนาจ สมมุติเป็นทหาร โดยนำสมาชิกบางส่วนทั้งที่เป็นอดีต ส.ส. และสมาชิกที่แตกจากพรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ไปรวมเป็นพรรคที่ 3 ,4 หรือ 5 ก็ได้ " 

            สอดคล้องกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อย่าง ดร.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประเมินว่า "การเมืองหลังประชามติ มีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา ในการออกกฏหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเป็นไปได้สูงว่า กรธ.จะเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง ผ่านข้อบังคับที่ให้จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ต้องการกำจัดอิทธิพลของนายทุนที่ครอบงำพรรค และเปิดทางให้มีนักการเมืองสลายตัวไปตั้งพรรคใหม่ๆ มากขึ้น"
 
          ต้องจับตาว่า ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ฉบับใหม่ จะมีเนื้อหาที่สะเทือนไปถึงพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ และมีประโยชน์กับพรรคการเมืองที่จะเกิดใหม่อย่างไร 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ