คอลัมนิสต์

สแกนอีสานสามเมือง‘สามสี’(ตอนที่2บุรีรัมย์)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สแกนอีสานสามเมือง‘สามสี’(ตอนที่2บุรีรัมย์)  : โค้งสุดท้ายประชามติ โดยสำนักข่าวเนชั่น 

             จากอีสานเหนือ จ.อุดรธานี เมืองหลวงคนเสื้อแดง ล่องลงมา 315 กิโลเมตร สู่อีสานใต้ จ.บุรีรัมย์ เมืองหลวงคนเสื้อน้ำเงิน ซึ่งหากจะพูดถึง จ.บุรีรัมย์ คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก เสื้อน้ำเงินตัวพ่อ ซึ่ง คือ “บิ๊กเน”  เนวิน ชิดชอบ จากผู้อยู่เบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย 

             หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งการทำประชามติเมื่อปี 2550 บุรีรัมย์ถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ฝ่ายความมั่นคงคือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ในขณะนั้น สั่งจับตาดูเป็นพิเศษ และคงต้องหนาวๆ ร้อนๆ แน่นอน  

             เพราะพื้นที่นี้ภายใต้การนำของ “เนวิน” ถือได้ว่าเป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์โหวตโน ในภาคอีสาน โดยถือว่าเป็นตัวเดินเกมหรือหมากตัวสำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านั้นเขาคือ คนสนิทของ “ทักษิณ ชินวัตร”   เขาอยู่ใต้ปีกของพรรคไทยรักไทย และเป็นเสื้อแดงตัวพ่อมาก่อน 

             ผลการลงคะแนนประชามติครั้งนั้น จ.บุรีรัมย์ ถือว่าคะแนนออกมาสูสีเป็นอย่างมาก แม้คะแนนคนโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าแต่ก็ถือว่า หืดจับเลยทีเดียว ผ่านไปด้วยคะแนน 55.20 เปอร์เซ็นต์ต่อ 44.80 เปอร์เซ็นต์ 

             และแม้บุรีรัมย์จะแพ้ แต่พื้นที่อีสานใต้ ใกล้เคียง ทั้ง จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ ก็มีคะแนนไม่เห็นชอบชนะอย่างขาดลอย 

             หากมองปัจจัยก็คงไม่น่าแปลกใจที่ จ.บุรีรัมย์ แพ้ เพราะคมช.เอง ก็ใช้ทุกสรรพกำลังแล้ว ขนาดที่ว่าต้องจับตา “เนวิน” เป็นพิเศษ ว่าเดินทางไปไหนบ้าง พบใครบ้าง เพราะมีการเดินทางจากกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ และบุรีรัมย์-กรุงเทพฯ บ่อยครั้ง 

             จนคนสนิทอย่าง โสภณ ซารัมย์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคไทยรักไทย ถูก กกต.จว.บุรีรัมย์ ให้แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาแจกเงินให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ หัวละ 200 บาท มาแล้ว

             “ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” เวลาเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนไป “เนวิน” ก็เช่นกัน  จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไป 9 ปี เขาไม่ได้อยู่ภายใต้ปีกของพรรคไทยรักไทยและไม่ได้เป็นสนิทของ ทักษิณ อีกต่อไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ เขากลายมาเป็นเสื้อน้ำเงินตัวพ่อ มีปีกน้ำเงินเป็นของตัวเองแล้ว ภายใต้ชื่อ “บิ๊กเน”

             เมื่อลมเปลี่ยนทิศ ทุกอย่างย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง สำนักข่าวเนชั่น จึงได้ลงพื้นที่ติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่ก่อนลงเสียงประชามติ ซึ่งบรรยากาศและสถานการณ์โดยรวมของ จ.บุรีรัมย์ เรียกได้ว่าราบรื่นพอสมควร 

             โดยช่วงแรกอาจจะมีคลื่นใต้น้ำ มีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในพื้นที่อยู่บ้าง ด้วยวิธีการทำใบปลิวหรือป้ายต่างๆ แต่ก็เหมือนไร้ปัญหา อย่าลืมว่าที่นี่ที่ไหน เมืองหลวงเสื้อน้ำเงิน เมื่อพบมีความเคลื่อนไหว เรียกว่า ไม่ต้องถึงมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จัดการกันเองได้ 

             แหล่งข่าวในพื้นที่ เปิดเผยต่อเราว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง มีอะไรหรือนโยบายอะไร ก็เข้าหารือกับเบอร์หนึ่ง เพียงคนเดียว ทุกอย่างก็จบไร้ปัญหา ไร้กังวล 

             เพราะไม่ว่า จะเป็นอดีต ส.ส. นักการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ล้วนแล้วแต่ไร้ปัญหา พูดง่ายๆ ว่า ลูกพี่ว่ายังไง ก็ว่าตามกัน 

             ในส่วนของราชการเอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีคำสั่งกำชับไปยัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า ให้ประชาชนในพื้นที่แต่ละพื้นที่ หากเป็นไปได้ อยากให้มาลงมติประชามติ ให้เสร็จก่อนเที่ยงวัน คือ หากบ้านหลังไหน ประชาชนยังไม่ได้มาออกเสียงประชามติ ก็ให้ไปเชิญถึงบ้าน เพื่อให้มาลงประชามติ และให้รายงานเข้ามาตลอดเวลา โดยผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ และได้ยินว่า จะมีถึงขั้นจัดแข่งขันกันว่า พื้นที่อำเภอใด ตำบลใดประชาชนออกมาลงเสียงประชามติมากที่สุดและเร็วที่สุด จะได้รับรางวัล 

             ขนาดทุกอย่างเปิดโอกาสขนาดนี้ ซึ่งนายกเทศมนตรีก็ยอมรับกับเราว่า ปัญหาหลักๆ คือ ในขณะนี้คือ ประชาชนในพื้นที่เอง ยังไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พอประชาชนไม่รู้ เข้าใจและจะให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างไร 

             ซึ่งความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันกับกำนันในพื้นที่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นครู ข. ด้วย ก็ยอมรับว่า ในพื้นที่เอง ยังดูลำบาก เพราะในหลายพื้นที่ที่ตนลงทำความเข้าใจ ประชาชนไม่ได้ถามอะไร ไม่ใช่เพราะเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจเลยต่างหาก เลยไม่รู้จะถามอะไร ขนาดเขาที่จบด้านกฎหมายมา ยังต้องอ่านทั้งหมด ยังไม่เข้าใจทั้งหมดเลย นี่เพียงให้มาอ่าน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับย่อ ให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านจะเข้าใจได้อย่างไร ขนาดนักกฎหมายเก่งๆ ยังตีความกันจนมึนไปหมด 

             “เอาง่ายๆ หากเปรียบการลงประชามติครั้งนี้ เหมือนการเลือกผู้หญิงมาเป็นเมีย จะให้รู้แต่ชื่อ ไม่เคยรู้เลยว่า นิสัยใจคอเป็นอย่างไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จะให้เลือกรับมาเป็นเมียได้อย่างไร แต่นี่เป็นเรื่องประเทศชาติ ซึ่งสำคัญกว่าอีก” กำนันคนนี้เล่า

             ถึงแม้ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจร่างรัฐรรมนูญ แต่ทางด้านกกต.จังหวัด ก็เชื่อว่า การลงเสียงประชาชนมติครั้งนี้ จะมีประชาชนมาออกเสียงประชามติจำนวนมาก อาจจะถึงขั้นออกมาใช้สิทธิ์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว 

             “แต่สุดท้ายชาวบ้านหรือประชาชนส่วนใหญ่น่าจะออกมาลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ไม่เข้าใจไม่ว่าดีหรือไม่ดี แต่ก็ต้องเลือกที่จะรับ โดยมีเหตุผลเดียวกัน คือ อยากเลือกตั้ง อยากให้มีรัฐบาลปกติ เพราะตอนนี้ลำบาก อยากให้มี ส.ส. เพราะอย่างน้อย ชาวบ้านก็รู้สึกว่า หากมี ส.ส.อย่างน้อยก็มีที่พึ่ง” อดีตนักการเมืองคนหนึ่งเปิดเผยต่อสำนักข่าวเนชั่น 

             จะเห็นได้ว่า จ.บุรีรัมย์ ก็มีปัญหาเช่นเดียวกับ จ.อุดรธานี คือ ประชาชนในพื้นที่ รู้เพียงว่า ต้องไปลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม แต่ไม่รู้รัฐธรรมนูญคืออะไร เป็นอย่างไร ดีอย่างไร พื้นที่ส่วนใหญ่ประชาชนหรือชาวบ้าน ต่างไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องที่ยาก แถมการประชาสัมพันธ์ยังน้อยมาก เข้าไม่ถึงประชาชน

             ทั้ง 2 จังหวัด หากเปรียบเทียบกันแม้จะต่างกันในเรื่องบริบททางการเมือง จังหวัดหนึ่งถูกคุมเข้ม อีกจังหวัดหนึ่งเบ็ดเสร็จ แต่ประชาชนหรือชาวบ้าน ก็มีความคิดเห็นที่เหมือนกัน คือ พร้อมที่จะออกมาลงคะแนนประชามติ แต่ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

             สุดท้ายแล้วเหตุผลที่ประชาชนออกมาลงประชามติที่แท้จริงของทั้ง 2 จังหวัด เมืองหลวงทั้ง 2 สีเสื้อ เพียงเพราะอยากให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่านั้นเอง

              
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ