คอลัมนิสต์

มองต่างมุม “ อภิสิทธิ์”  เหตุไม่รับร่าง รธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหตุผลหนึ่งที่“อภิสิทธิ์"อ้างไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือ การทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่อนแอลงในการปราบทุจริต.มันเปฺ็นอย่างนั้นจริงหรือ

 

          เหตุผลหนึ่งที่ “ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  อ้างในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คือ การทำให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่อนแอลงในการปราบปรามการทุจริต

          โดย “ อภิสิทธิ์ “ บอกว่า เดิมถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษาใครผิดใครโกง  คนจะอุทธรณ์ได้คือต้องมีหลักฐานใหม่ และคนที่จะวินิจฉัยคือ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ปรากฏว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้อุทธรณ์ได้ง่ายขึ้น และดำเนินการโดยองค์คณะใหม่ ไม่ใช่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แพ้ครั้งหนึ่งก็ไปลุ้นครั้งที่สอง คาดว่าคนที่จะได้ประโยชน์ คือ จำเลยของคดีโครงการรับจำนำข้าว ถ้าตัดสินว่าผิด เขาก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายใหม่ได้เลย ทำให้กระบวนการปราบโกงอ่อนแอ

         หากแปลความที่ “ อภิสิทธิ์” พูด  ก็อาจได้ความทำนองว่า  ถ้ากระบวนการมันสั้น รวดเร็ว  และค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  หรือ อุทธรณ์ได้ยาก หรือ ศาลเดียวจบ ก็จะทำให้ กลไกการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น มีประสิทธิภาพ

         แต่ขอ “มองต่างมุม” ในประเด็นนี้ว่า จากการที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 278 วรรคสามและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำหนดว่า “ ในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ให้ ผู้ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้”

          แต่หลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ ดังนี้

          1.โจทก์หรือผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้ที่ฟ้องหรือร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญฯปี 2550 และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ให้สิทธิเฉพาะ “ผู้ต้องคำพิพากษา” ซึ่งก็คือ จำเลย เท่านั้นที่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายโจทก์หรือผู้ร้องได้

       ตัวอย่างเช่น คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ริบทรัพย์สินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯตกเป็นของแผ่นดิน คดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ริบทรัพย์สินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ตกเป็นของแผ่นดินเพียงบางส่วน คดีนี้อัยการสูงสุดผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ริบทรัพย์สินของ พ... ทักษิณ  ตกเป็นของแผ่นดินทั้งหมดได้ เพราะกฎหมายไม่เปิดช่อง

          2 การที่กำหนดว่า การที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้  ต้องเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น เกิดขึ้นได้ยากมากในทางปฏิบัติและในสภาพความเป็นจริง เพราะจำเลยไม่สามารถหาหลักฐานใหม่มาได้ทันภายในระยะเวลาอันสั้นเพียง 30 วัน

และยังเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 5  ซึ่งกำหนดว่า บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาทบทวนคำพิพากษาจากองค์กรวินิจฉัยคดีที่สูงกว่า

ด้วยเหตุนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะทำประชามติกัน จึงได้อุดช่องโหว่ ทั้ง 2 ประการข้างต้น โดยในมาตรา 195 วรรคสี่ บัญญัติว่า” คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา

เมื่อเขียนอย่างนี้ จึงทำให้ไม่เฉพาะจำเลย เท่านั้นที่อุทธรณ์คดีได้ แต่ เป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายคือทั้งโจทก์และจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และก็ไม่ต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องมีหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดีจึงจะอุทธรณ์ได้

ซึ่งตามหลักการก็ควรเป็นเช่นนั้น เนื่องจากการ”อุทธรณ์” คดี ควรเป็น “สิทธิ” ของคู่ความในคดี

และไม่ควรไปปิดกั้นหรือสร้างเงื่อนไขขึ้นมาให้มันยุ่งยากซับซ้อนในการอุทธรณ์คดี เพราะในกระบวนการยุติธรรมหากผ่านกลั่นกรองจากหลายชั้น โอกาสผิดพลาดหรือ มี”แพะ” รับบาป ก็จะน้อยลง   ทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากประชาชนมากขึ้น การอุทธรณ์ได้ง่ายจึงไม่ใช่การทำให้อ่อนแอลง  แต่อย่างใด

 

 

    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ