คอลัมนิสต์

เข้าโค้งฝุ่นตลบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เข้าโค้งฝุ่นตลบ : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2559

            ห้วงเวลาที่เหลือก่อนถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนับจากนี้ ถือเป็นโค้งสุดท้าย เป็นอีกหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญยิ่งอีกครั้งสำหรับอนาคตประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นมาได้แบบลุ่มๆ ดอนๆ มีรัฐบาลพลเรือนสลับการรัฐประหารนับตั้งแต่ปี 2475 รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งและร่างขึ้นใหม่จนถึงร่างล่าสุด ก็จะเป็นฉบับที่ 20 ซึ่งก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆ ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายหรือฉบับถาวร เฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศโดยทั่วไปก่อนการลงคะแนนของประชาชน ยังเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน จนดูประหนึ่งว่า การออกเสียงของประชาชนมีเดิมพันเรื่องแพ้ชนะเป็นที่ตั้ง ถึงขนาดวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ถึงผลที่จะเกิดตามมาหลังจากนั้น

            พ.ต.อ.อิทธิ ชำนาญหมอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร น่าจะเป็นข้าราชการระดับสูงคนแรกที่ต้องเซ่นสังเวยประชามติ ด้วยคำสั่งย้ายไปเข้ากรุ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ฐานความผิดที่ไม่รายงานเหตุทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงให้ผู้บังคับบัญชาทราบภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งต่อมาพบว่า แท้จริงแล้วเหตุการณ์นั้นเกิดจากความซุกซนไร้เดียงสาของเด็กหญิง 8 ขวบ ไม่ได้มีนัยทางการเมืองแต่อย่างใด กระนั้นเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ตำรวจทุกพื้นที่เข้มงวดกวดขัน กุลีกุจอถึงขนาดที่ว่า ลิงฝูงหนึ่งรุมฉีกทึ้งบัญชีรายชื่อที่พิจิตรก็ยังเป็นเรื่องเป็นราว เช่นเดียวกับธงกาแฟ "กาโน” ในอีกทางหนึ่ง การส่งเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญก็ระบาดในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือ ซึ่งตำรวจบอกว่า มีนักการเมืองท้องถิ่น และอดีตนักการเมืองระดับชาติอยู่เบื้องหลัง

            ยิ่งใกล้วันออกเสียงประชามติจึงดูเหมือนความสับสนอลหม่านจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ อย่าว่าแต่เหตุการณ์ดังกล่าวมาเลย แม้แต่ผลของการออกเสียงก็ยังเป็นที่สงสัย บางคนบอกว่า ถ้าหากต้องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ได้นานๆ ก็ต้องลงมติไม่รับร่าง ในทางกลับกัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง เห็นว่าถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ รัฐบาล โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ก็หมายความว่า แทนที่จะอยู่ได้นานๆ ก็จะเป็นเรื่องตรงกันข้าม ในแง่มุมนี้ การประกาศเจตนารมณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงของกลุ่มต่างๆ ก็เหมือนกับการประกาศไม่รับรัฐบาลและคสช.ไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่กรณีนี้พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้แสดงท่าทีชัดเจนไปแล้วว่าเป็นคนละเรื่อง

            ยากยิ่งที่จะคาดการณ์สำหรับความเป็นไปของบ้านเมือง หลังการออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมผ่านพ้น เพราะไม่ว่าจะออกทางไหน ก็ล้วนแต่มีผลทั้งทางบวกและทางลบทั้งสิ้น แต่ถึงอย่างไรก็จะเป็นบททดสอบสำคัญที่จะบ่งบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกของฝ่ายต่างๆ ทั้งที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาก่อน และอีกบางส่วนที่โดดมาแสดงบทบาทเป็นแนวร่วม ซึ่งถ้าสังเกตบรรยากาศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันออกเสียง ก็น่าเป็นห่วงยิ่งว่า ประเทศไทยจะยังย่ำอยู่ที่เดิม โดยที่ผู้อาสาเข้ามาสร้างความปรองดองต้องกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ