คอลัมนิสต์

ว่าด้วยตระกูลการเมือง'ล้านนา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ว่าด้วยตระกูลการเมือง'ล้านนา' : กระดานความคิด  โดยบางนา บางปะกง

            10 กว่าปีมานี้ มีกระแสการเมือง “ศึกตระกูล” ในเชียงใหม่ ระหว่าง “ชินวัตร” กับ “ณ เชียงใหม่” ดูภายนอกร้อนแรง แต่ก็เป็นเกมศักดิ์ศรีของตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่พยายามรักษา “พื้นที่การเมือง” เอาไว้

            ก่อนลูกพ่อค้าเชื้อสายจีนจากสันกำแพง จะตั้งพรรคการเมือง ดูเหมือนบารมี “เจ้าหนุ่ย” ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ จะแผ่อาณาเขตไปทั่วล้านนา

            เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เห็นว่า ประชานิยมมีมนต์ขลังอย่างไร? “เจ้าหนุ่ย” ก็ยอมยกพลพรรคจากพรรคความหวังใหม่มาอยู่ใต้ร่มธงพรรคไทยรักไทย

            ผลของการประนีประนอมกันของ “ชินวัตร” กับ “ณ เชียงใหม่” ส่งผลให้ “เจ้าหนุ่ย” ได้เป็นนายก อบจ.เชียงใหม่

            หลังจากเจ้าหนุ่ยคิดการใหญ่ วางแผนสู้กับทักษิณทุกสนามการเมือง ปรากฏว่า ตระกูล “ณ เชียงใหม่” ก็ไม่มีที่ยืนในทุกพื้นที่เช่นกัน

            ขณะที่ “บูรณุปกรณ์” ตระกูลการเมือง ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใต้ร่มธง “ชินวัตร”

            บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในนามของกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม เมื่อปี 2543

            ปี 2551 “บุญเลิศ” ขยับชิงเก้าอี้นายก อบจ.เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แม่ทัพภาคเหนือ

            ส่วนคู่แข่งคือ “เจ้าหนุ่ย” ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ อดีตนายก อบจ. โดยการหาเสียงครั้งนั้นดุเดือดมาก ช่วงโค้งสุดท้าย เจ้าหนุ่ยขึ้นป้ายปลุกกระแส “ไม่เอามาเฟีย-ไม่เอาบ่อนกาสิโน-ไม่เอาพ่อค้ายาเสพติด”

            พอนับคะแนนเสร็จ “บุญเลิศ” ลอยลำได้เป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ แต่บุญเลิศถูกร้องเรียนคัดค้านผลการเลือกตั้งจากการทุจริต กกต.เชียงใหม่ จึงได้มีการสอบสวนหาพยานหลักฐาน พร้อมกับส่งเรื่องให้ กกต.ส่วนกลางชี้มูลในวันที่ 21 มกราคม 2552 มีมติให้ใบแดงแก่บุญเลิศ

            จากนั้นส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยชี้ขาด ในที่สุดวันที่ 22 กันยายน 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำพิพากษายกคำร้องของ กกต.เชียงใหม่ ทำให้คดีได้สิ้นสุดลง บุญเลิศจึงได้บริหารงานจนครบวาระ

            ปี 2555 บุญเลิศ สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ในนามกลุ่มเพื่อไทยคุณธรรม ได้คะแนนทิ้งคู่แข่งนับแสน และเป็นนายกสมัยที่ 2

            ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ น้องชายบุญเลิศ เคยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคชาติพัฒนา แต่สอบตก แต่ในการเลือกตั้ง 2544 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคไทยรักไทย ก็ได้ชัยชนะเป็น ส.ส.สมัยแรก

            เนื่องจากปกรณ์ เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

            ด้วยเป็นสายตรง “เจ๊แดง” จึงมีกระแสข่าวว่า ปกรณ์จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ได้ล้มป่วยลง และเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

            นอกจาก “บุญเลิศ-ปกรณ์” ที่เข้ายึดหัวหาดการเมืองเชียงใหม่ พวกเขายังส่งไม้ต่อให้หลาน 2 คน ที่เป็นลูกของพรทัศน์-ผ่องศรี บูรณุปกรณ์

            โดย ทัศนัย บูรณุปกรณ์ เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ลงสมัคร ส.ส.แทนลุงปกรณ์ที่เสียชีวิตไปแล้ว

            จากปี 2518 จนถึงปัจจุบัน สนามการเมืองล้านนา มากไปด้วยตระกูลการเมือง ที่กระโจนเข้ามาเล่นการเมือง ทั้งเจ้า และเจ๊ก

            สำหรับตระกูลการเมืองที่ยึดครองพื้นที่ได้นานที่สุดคือ “ชินวัตร” โดยมี “บูรณุปกรณ์” เป็นแขนขา ที่มีเครือข่ายตั้งแต่ อบจ. เทศบาล ไปจนถึง อบต.

            ยังไม่มีวี่แววว่า การเมืองล้านนาจะเปลี่ยนพลิกโฉมจากสองตระกูลนี้ไปเป็นตระกูลอื่นได้ในเร็ววันนี้

             
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ