คอลัมนิสต์

ล่อกันจนเละ(3)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ล่อกันจนเละ(3) : โดยวิธีของเราเอง ไพฑูรย์ ธัญญา

            มหาวิทยาลัยไทยทุกวันนี้พัฒนาไปไกลมาก ไม่ว่าจะเป็นตึกรามอาคารเรียน ระบบสาธารณูปการ ระบบสารสนเทศและการสื่อสาร รวมไปถึงคุณวุฒิของอาจารย์ที่เต็มไปด้วยวุฒิปริญญาเอกและตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรสายผู้สอนที่เพิ่มมากขึ้น หากเอามาตรฐานเบื้องต้นเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยก็ถือว่าไม่เป็นรองใครในโลก แต่มีคำถามว่าทำไมคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเราจึงถดถอยและล้าหลัง แถมยังเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ สารพัด

            ผมคิดว่าตัวบ่อนทำลายคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยก็คือ โครงสร้างของระบบการบริหาร ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารทุกระดับบริหารด้วยความไม่ชอบ ไม่โปร่งใสและขาดธรรมาภิบาลนั่นเอง ผมได้ใช้เนื้อที่นี่ไปสองตอนว่าด้วยปัญหาของสภามหาวิทยาลัย และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ที่เต็มไปด้วยการเล่นพวกเล่นพ้อง ซ่องสุมกำลัง เพื่อรักษาฐานอำนาจและระบอบที่ฉ้อฉลขึ้นมา พูดกันง่ายๆ ก็คือ การเมืองในมหาวิทยาลัย นั่นเอง ตรงนี้แหละคือจุดบอดของมหาวิทยาลัยในประเทศเรา เมื่อมีการสรรหาผู้บริหารระดับอธิการบดีในแต่ละครั้ง ก็จะมีทีมคู่แข่งขึ้นมาอย่างน้อยสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหนึ่งได้อำนาจ ก็จะกีดกันและปิดโอกาสของคนอีกฝ่ายไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม พูดกันชัดๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยมีการระดมสรรพกำลังจากบุคลากรมาช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งที่คณาจารย์ข้าราชการและพนักงานเต็มไปด้วยคนที่มีความสามารถ มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ ระบบการสรรหาอธิกาบดี หรือคณบดี ทำให้คนอีกฝ่ายหนึ่งถูกกันออกไปจากสารบบ ถ้าเปรียบว่ามหาวิทยาลัยเหมือนยานพาหนะชนิดหนึ่ง ที่มีเครื่องยนต์สีเครื่อง แต่ยานมหาวิทยาลัยของเราเดินเครื่องยนต์อยู่เพียงเครื่องสองเครื่องเท่านั้นเอง ที่เหลือไม่ได้ทำงานตามที่ควรจะเป็น ยิ่งถ้าคนขับยานเป็นพวกบ้าอำนาจ ไร้วิสัยทัศน์ ก็ยิ่งไปกันใหญ่

            อันที่จริงนี่คือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน แต่ในความเป็นจริงมันไม่อาจทำได้ง่ายนัก เพราะว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัยในวันนี้ ถูกระบบโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเองทำให้อ่อนแอ และขาดพลังในการขับเคลื่อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงานภายในยี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ส่วนข้าราชการนั้นนับวันจะลดน้อยถอยลงไป พูดแบบฟันธงได้ว่า ภายในสิบปีนี้ ข้าราชการในมหาวิทยาลัยก็จะสูญพันธุ์ เพราะทุกคนเกษียณอายุราชการกันหมด

            ถามว่าพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ข้าราชการไม่มีคุณภาพเช่นนั้นหรือ? คำตอบก็คือ ไม่ แต่ที่เป็นปัญหาเพราะสถานภาพของพนักงานนั่นต่างหาก ระบบพนักงานในมหาวิทยาลัยเป็นอะไรที่เปราะบางมาก พวกเขาไม่มีความมั่นใจในสถานะของตัวเอง เมื่อเทียบกับข้าราชการ มันก็คล้ายๆ ครูโรงเรียนเอกชน กับครูโรงเรียนรัฐบาลประมาณนั้น จริงอยู่แม้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะออกแบบระบบบริหารพนักงานขึ้นมาอย่างรัดกุม แต่พวกเขาก็ยังกังวลต่ออนาคตของตนอยู่ดี ลองสมมุติสถานการณ์ง่ายๆ ขึ้นมาว่า เมื่อมีความไม่ชอบมาพากลหรือความเลวร้ายขึ้นในการบริหารมหาวิทยาลัย ก็แทบจะไม่มีใครหาญกล้าลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือคัดค้าน ต่อให้มีการโกงกินคอร์รัปชั่นกันอย่างโจ่งแจ้งแค่ไหน ก็ยากที่จะมีใครมาโวยวาย ตรวจสอบ พวกเขาต่างเลือกฝ่ายวางเฉย และถือหลักว่า ตราบใดยังไม่กระทบต่อหน้าที่การงานของตัวเอง ก็ช่างมัน อาจจะมีบางส่วนที่รับไม่ได้ แต่ก็ไม่มีความกล้าหาญที่จะรวมกลุ่ม รวมพลังออกมาเคลื่อนไหว ถ้าจะมีบ้างก็คงเป็นกลุ่มสภาคณาจารย์ แต่ก็มีไม่กี่ที่หรอกที่สภาคณาจารย์จะทำหน้าที่ต่อต้าน หรือคานอำนาจอย่างขันแข็ง หากออกมาค้านก็จะโดนจัดการด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคนถึงกับต้องลาออก หรือไม่ก็ถูกดอง และแช่แข็ง จากระบบอำนาจใหญ่ สุดท้ายก็คือ ต้องปล่อยเลยตามเลย กลายเป็นองค์กรที่ไร้พลังไปในที่สุด

            ที่พูดมายืดยาวนี่ หาได้เป็นการวิเคราะห์เจาะลึกสักเท่าไหร่ ทำได้เพียงแค่ถากๆ ไปเท่านั้นเอง แต่ปัญหาทั้งหมดนี้คือต้นน้ำของปัญหาความด้อยคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ หากระบบและโครงสร้างยังเปิดโอกาสให้ความไม่เป็นธรรมเถลิงอำนาจได้ ก็อย่าหวังเลยว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างถึงรากถึงโคน คนในมหาวิทยาลัยล้วนแล้วแต่เก่งกล้าสามารถ เวลาคนจบดอกเตอร์มันโกงนี่ หนักกว่าการโกงของเหล่าสมาชิก อบต.นะครับท่าน

 



 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ