คอลัมนิสต์

ทำบุญได้บาปปล่อยปลาราหูดำ‘เอเลี่ยน สปีชีส์’มหันตภัยระบบนิเวศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำบุญได้บาปปล่อยปลาราหูดำ‘เอเลี่ยน สปีชีส์’มหันตภัยระบบนิเวศ 

            ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาถูกรุกรานด้านระบบนิเวศจาก “กลุ่ม Alien Species” หรือสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศอย่างรวดเร็ว โดยผลจากการรุกรานของ “Alien Species” ทำให้เกิดผลกระทบน่าตกใจ เพราะสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นลดจำนวนลงเกือบสูญพันธุ์ 

            ปัญหาเรื่องนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และที่ผ่านมากลุ่มนักวิชาการตลอดจนนักนิเวศวิทยาจะออกประกาศหรือส่งสัญญาณเตือนอยู่เสมอ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับความสนใจจากสังคมในการร่วมมือป้องกันและช่วยบรรเทาปัญหา

            ในส่วนของประเทศไทยก็ประสบกับการรุกรานจาก “เอเลี่ยน สปีชีส์” เช่นกัน แม้ว่าระบบนิเวศทางน้ำของประเทศไทยจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่หากปล่อยให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานต่อไปนั่นคือ “ภัยคุกคาม” ต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นในประเทศได้ 

ทำบุญได้บาปปล่อยปลาราหูดำ‘เอเลี่ยน สปีชีส์’มหันตภัยระบบนิเวศ

            ถึงวันนี้หากทุกคนยังนิ่งเฉย สถานการณ์อาจถึงขั้นวิกฤติ สิ่งมีชีวิตหลากหลายในท้องถิ่นอาจต้องสูญพันธุ์อย่างไม่อาจกู้คืนมาได้

            เฟซบุ๊กของผู้ใช้ชื่อว่า “BIG Tree” ได้โพสต์ภาพและข้อความในลักษณะเตือนภัยในการกระทำที่นำเรื่องผลบุญจากการปล่อยปลา แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นสิ่งที่หายนะเมื่อนำเอเลี่ยน สปีชีส์ คือ “ปลาซัคเกอร์” มาขายเพื่อทำบุญด้วยการปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง แต่ในความเป็นจริงกลับสร้างภัยคุกคามกับปลาท้องถิ่นไทยอย่างมาก

            ข้อความดังกล่าว ระบุว่า “ด่วนมาก อยู่ๆ ก็มีกระแสปล่อยปลาซัคเกอร์ โดยเอามาตั้งชื่อ “ปลาดำราหู” หลอกพวกอยากทำบุญสำเร็จรูป คือปลาซัคเกอร์นี่มันไม่ใช่ปลาท้องถิ่นในไทย ศัตรูทางธรรมชาติจึงแทบไม่มีเลย ประเด็นคือเมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะแพร่พันธุ์เร็ว แถมจะไปดูดไข่ (อาจรวมลูกปลาตัวเล็กๆ มากๆๆๆ) ที่ปลาท้องถิ่นในไทยวางไข่ขยายพันธุ์ พอซักพักปลาท้องถิ่นแบบไทยๆ อย่างปลากระดี่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสวาย ก็จะสูญพันธุ์ไปหมด กระแสหลอกกันทำบุญ แต่กลับเป็นบาปหนักมาแรงมาก เจอแล้วต้องช่วยกันรีบแจ้งจับด่วน”

            ทั้งนี้ “ปลาซัคเกอร์” หรือ “ปลาเทศบาล” อีกชื่อ “ปลากดเกราะ” ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypostomus plecostomus มีการนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีส่วนหัวโต ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่างมีขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อแข็งแรงสามารถใช้ดูดเกาะติดเป็นสุญญากาศกับตู้กระจกหรือวัสดุต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มีลำตัวสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวสากและหยาบกร้านมาก หนังมีลักษณะแข็งจนดูเหมือนเกราะ มีลวดลายสีเขียวตามครีบหลังและครีบหาง ตัวผู้มีเงี่ยงแหลมบริเวณครีบอกและข้างหัว โดยขนาดโตเต็มที่ประมาณ 2 ฟุต มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้

            ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้าประเทศไทยในฐานะเป็นปลาสวยงามที่ใช้ทำความสะอาดเศษอาหารหรือคราบตะไคร่ภายในตู้ปลา แต่พบว่าบางครั้งพฤติกรรมของปลาหากอาหารไม่เพียงพอจะก้าวร้าวไล่ดูดเมือกของปลาอื่นจนถึงแก่ความตายก็มี และเนื่องจากเป็นปลาที่มีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แม้ในภาวะที่เป็นพิษ หรือแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่ามาตรฐานปกติที่ปลาทั่วไปจะอาศัยอยู่ได้ จึงทำให้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย เนื่องจากหลุดรอดรวมทั้งผู้เลี้ยงนำไปปล่อยลงลำน้ำธรรมชาติจนขยายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว

            ดังนั้นกรมประมงได้ประกาศให้เป็น “ปลาต้องห้ามสำหรับเลี้ยงและจำหน่าย” พร้อมรณรงค์ให้นำไปกำจัดและห้ามปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 

            “พิชิต ไทยยืนวงษ์” [email protected] เขียนในหัวข้อ “หยุดซื้อขายปลาซัคเกอร์กันเสียที” ถึงข้อสงสัยว่าถ้าปลาชนิดนี้มีคุณสมบัติดังกล่าว ทำไมในท้องถิ่นธรรมชาติที่เป็นต้นกำเนิดของปลาซัคเกอร์จึงยังคงดำเนินอยู่ได้โดยระบบนิเวศยังปกติ เช่น บริเวณลุ่มน้ำอะเมซอน คำตอบคือปลาถูกสร้างให้สอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติบริเวณนั้น ในขณะที่ศักยภาพการขยายสายพันธุ์และการเอาตัวรอดมีสูง แต่การควบคุมกันเองโดยสัตว์นักล่าอื่นๆ ก็มีมากไม่แพ้กัน จนเรียกได้ว่าเกิดดุลยภาพอย่างน่าอัศจรรย์

            ในขณะที่แหล่งน้ำเมืองไทยไม่เคยมีปลาที่มีศักยภาพในแบบเดียวกับปลาซัคเกอร์มาก่อน ฉะนั้นจึงบอบบางมากเมื่อมีปลาอึดโคตร ตัวใหญ่ ขยายพันธุ์เร็ว และกินทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยเฉพาะไข่ปลาที่เกาะติดตามพื้นผิวของวัสดุต่างๆ ตามรายงานพบว่า มันกินไข่ปลาพื้นเมืองจนทำให้หลายสายพันธุ์ลดปริมาณลงอย่างน่าใจหาย และการขุดโพรงถ้ำสำหรับเป็นที่หลบซ่อนของมันก็ทำลายโครงสร้างของผนังตลิ่งจนพังทลาย

            ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ปลาซัคเกอร์ เป็นปลาอเมริกาใต้ เอาไว้ดูดตะไคร่น้ำในตู้ปลา มันดูดทุกอย่าง กินอาหารไม่เลือก พอมันโตปล่อยลงแม่น้ำ เมื่อปลาในแม่น้ำลำคลอง ออกไข่ ก็จะดูดปลา เป็นปลาที่รบกวนระบบนิเวศอย่างร้ายแรง ซัคเกอร์ น้ำเน่าก็อยู่ได้ แพร่พันธุ์เร็วไปเรื่อยๆ ไม่มีตัวอะไรมาจัดการมันได้ นอกจากตัวตะกวดที่สามารถกินซัคเกอร์ได้ แต่กินไม่ไหว เพราะขยายพันธุ์เร็วมาก ขณะนี้พบปัญหาปลาซัคเกอร์แล้ว 14 จังหวัด ภาคกลาง ตามที่ประชากรเยอะ ตัวมันยาวเกินไม้บรรทัด รับประทานได้ ไม่เป็นพิษ แต่ตัวมันน่าเกลียด เนื้อมันน้อย หนังหนา หัวโต

            “ปัญหาปลาซัคเกอร์มีมากว่า 20 ปี ขณะนี้ก็ยังแพร่พันธุ์ไม่หยุด ต้องไม่ปล่อยในน้ำเพิ่ม ขณะเดียวกันกฎหมายควบคุมสัตว์ต่างถิ่นต้องให้ชัดเจน ต้องทำร่วมกันระหว่างกรมประมงกับกรมอุทยาน” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

            ขณะเดียวกันยังมีมุมมองจากนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องปลาซัคเกอร์ในอีกด้านหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ 

            ดร.อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง มองว่า ปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่อาศัยในลุ่มน้ำอะเมซอน มีกว่า 7,000 ชนิด บางชนิดที่สวยงามอย่าง อาทิ สายพันธุ์ม้าลายมีราคาตัวละหลักหมื่นบาท และนำเข้าในประเทศไทยกว่า 30 ปีแล้ว ในรูปแบบของปลาสวยงาม แต่ด้วยนิสัยชอบดูดกินตะไคร่น้ำตามขอบตู้ปลา คนไทยจึงเลี้ยงเพื่อทำความสะอาดตู้ปลาไปด้วย

            ส่วนที่ว่าอาจทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นเอเลี่ยน เป็นเรื่องเก่าที่พูดมาราวปี 2552 ส่วนตัวมองว่าเป็นการคาดคะเนมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน ว่าเป็นสัตว์ที่ทำลายระบบสิ่งแวดล้อม แต่จากการที่ได้สัมผัสกับชาวประมงได้รับการยืนยันว่า ที่จะไปทำลายไข่สัตว์น้ำชนิดอื่นจะเป็นปลาแขยงมากกว่า 

            "หากจะคิดว่าอันตราย ส่วนตัวคิดว่าปลาชะโดน่ากลัวกว่า เพราะล่าเหยื่อกินสัตว์ที่ตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร ปลาซัคเกอร์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดหรอก ปัจจุบันเกษตรกรเพาะเลี้ยงเป็นล่ำเป็นสันโดยเฉพาะในคลองน้องพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สร้างรายได้มหาศาล หากพบว่าปลาซัคเกอร์อยู่ที่แหล่งน้ำใด เกษตรกรกลุ่มนี้ยินดีที่จะไปจับขึ้นมา เพื่อเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ หากเป็นปลาตัวใหญ่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้มีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนกับชนิดอื่น ภาพรวมถือว่า ดีมากกว่าร้าย เป็นปลาที่มีปากอยู่ด้านล่างจะดูดกินอาหารจำพวกปฏิกูล ของเน่าเสียมากกว่าจะทำลายสัตว์ชนิดอื่น” ดร.อมรรัตน์ กล่าว

            ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สวยงามและพรรณไม้น้ำ กรมประมง แสดงความคิดเห็นอีกว่า สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันปลาซัคเกอร์ที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อยมาก เพราะประเทศไทยมีน้ำเสีย และที่สำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องแล้ง ทำให้น้ำในลำคลองแห้ง ปลาตายหมด ขณะที่อีกส่วนหนึ่งแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย จับมารับประทานด้วย ดังนั้นมองว่า ถ้าจะให้ชัดเจนในเรื่องเอเลี่ยน หรือเป็นสัตว์อันตรายต้องมีงานวิจัยออกมายืนยันก่อนไม่ใช่คาดคะเนกันเอง และสร้างเรื่องจนน่ากลัว

            

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ