คอลัมนิสต์

ภูไทกะป๋อง วาริชภูมิ และสมรภูมิสุดท้าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภูไทกะป๋อง วาริชภูมิ และสมรภูมิสุดท้าย : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

            ยุคสมัยสงครามประชาชน จังหวัดสกลนคร แทบทุกอำเภอ ถูกจัดให้เป็นเขตสีแดง หรือเขตที่มีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยกเว้นอำเภอวาริชภูมิ

            หลังจาก “ชายแปลกหน้า” ถูกยิงเสียชีวิตที่ชายป่าบ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เมื่อเย็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 ก็แทบจะไม่มีข่าวว่า “สหาย” เข้ามาจัดตั้งชาวบ้านให้เป็นแนวร่วมในอำเภออีกเลย

            ล่วงผ่านมาถึงปี 2524 พลพรรคสหายจากเขตงานดงสวน (อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี) จึงเดินข้ามภู ข้ามทุ่ง ข้ามเขตจังหวัด ระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร มาโจมตีที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิ

            เหตุที่ต้องดำเนินกลยุทธ์อย่างนี้ เพราะไม่มี “แนวร่วม” ในพื้นที่ และเป็นการรบครั้งสุดท้ายของสหายอีสานเหนือ เขตงานดงสวนหรือเขตงาน 555 ก่อนที่พวกเขาจะวางปืนออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

            “วาริชภูมิ” ถูกรายล้อมด้วย “อำเภอสีแดง” อย่างสว่างแดนดิน, ส่องดาว, พังโคน จ.สกลนคร และ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ขณะเดียวกัน ชาววาริชภูมิก็เป็นสมาชิก “ไทยอาสาป้องกันชาติ” (ทสปช.) ที่เข้มแข็งที่สุด

            เมื่อพลิกประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ วาริชภูมิ เป็นแผ่นดินของ “ชาวภูไทกะป๋อง”

            เมืองวาริชภูมิ ตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2420 โดยชาวภูไทที่อพยพมาจากเมืองกะป๋อง แขวงคำม่วน (สปป.ลาว ในปัจจุบัน) มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปลาเป้า

            ต่อมา ได้ยกเป็นเมืองวาริชภูมิ ตั้งท้าวพระยาสุวรรณเป็นพระสุรินทรบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองคนแรก ซึ่งชาวภูไทในวาริชภูมิ มีอยู่ 4 ตำบลคือ วาริชภูมิ 1 หมู่บ้าน, คำบ่อ 12 หมู่บ้าน, ปลาโหล 9 หมู่บ้าน และเมืองลาด 7 หมู่บ้าน รวม 42 หมู่บ้าน

            จากการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ พบว่า “ชาวภูไทกะป๋อง” ที่วาริชภูมิ ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่นิยมแต่งงานกันภายในกลุ่ม ความกตัญญู ความเคารพในผู้อาวุโส และตอกย้ำด้วยความเชื่อในผีบรรพบุรุษ

            สำนึกของความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ก่อให้เกิดระบบและโครงสร้างของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็ง อันเป็นเหตุให้ยังคงรักษาอัตลักษณ์ของคนภูไทกะป๋องวาริชภูมิได้เป็นอย่างดี

            น่าเสียดายที่ “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้มีความรู้เรื่องชาติพันธุ์ และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ความเป็นมาของคำสยามไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” อันเป็นผลงานวิชาการที่ยิ่งใหญ่แห่งทศวรรษ ไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวภูไทกะป๋อง

            ในสถานการณ์สงครามปฏิวัติ ที่เพิ่งเริ่มต้นได้เพียงปีเศษ “จิตร ภูมิศักดิ์” ในฐานะนักปฏิวัติผู้เร่าร้อน ได้ลงไปให้การศึกษาแก่ชาวบ้านแถว ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร แต่มิทันที่จะได้บ่มเพาะ “แกนนำ” ในหมู่บ้านย่านนั้น ก็ถูกล้อมยิงเสียชีวิตที่ชายป่าบ้านหนองกุง

            ในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการจากไปของ จิตร ภูมิศักดิ์ ระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคมนี้ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ จัดกิจกรรม “ตามรอย: จิตร ภูมิศักดิ์ จากบ้านหนองกุง สกลนคร สยามประเทศไทย สู่อังกอร์-นครวัด-นครธม ยโศธรปุระ กัมพุชเทศ”

            โดยวิทยากรประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, สมฤทธิ์ ลือชัย และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ และวิทยากรรับเชิญ เครก เจ. เรย์โนลด์ส สนใจร่วมเดินทาง ติดต่อคุณกิตสุนี โทร 0-2424-5768, 0-2433-8713, 09-8257-6867 e-mail: [email protected]

            อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เคยกล่าวไว้ว่า “เราพยายามทำให้ผีของจิตรอยู่กับชาวบ้านให้ได้ เมื่อก่อนชาวบ้านหนองกุงหรือชาวสกลนครไม่รู้จัก จิตรเป็นผีไม่มีหัวนอนปลายเท้า แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เราจัดกิจกรรมให้ทุนเด็ก พามาเที่ยวกรุงเทพฯ นี่คือสิ่งที่เราต้องการทำที่บ้านหนองกุง เพื่อให้จิตรสามารถอยู่กับชาวบ้านได้ ซึ่งปัจจุบันจิตรเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้านหนองกุง และ จ.สกลนครแล้ว”

            หากผู้ใดสนใจเรื่องราวของผู้ชายคนนี้ เชิญไปพบกันที่อนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง เมืองวาริชภูมิ แผ่นดินภูไทกะป๋อง




 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ