คอลัมนิสต์

ระบอบเปรมาธิปไตย 2559

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระดานความคิด : ระบอบเปรมาธิปไตย 2559 : โดย...บางนา บางปะกง

 
                      สังคมไทยกำลังวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอข้อสุดท้าย “ข้อที่ 16” ซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือสืบทอดอำนาจระยะสั้น ก่อน คสช.ลงหลังเสือ
 
                      เมื่อ ครม.ขอให้ กรธ.พิจารณาขยายช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง หรือขยายบทเฉพาะการที่ให้คงอำนาจพิเศษเพื่อเหตุผลความมั่นคง ให้ยาวครอบคลุมไปจนหลังการเลือกตั้งและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยอ้างถึงความขัดแย้งที่อาจก่อวิกฤติที่รุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมา รูปธรรมคือ หากผลการเลือกตั้งทั่วไปปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคแนวร่วมชนะ และได้จัดตั้งรัฐบาล ความขัดแย้งครั้งใหม่จะบังเกิดขึ้นทันที
 
                      ครม.ประยุทธ์จึงสรุปว่า “เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและความเป็นความตายของประเทศ” ด้วยเหตุนี้ ครม.จึงเสนอให้บัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นช่วงสองเวลา
 
                      ช่วงเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพ
 
                      พูดตรงๆ คสช.ยังจำเป็นต้องอยู่ เพื่อควบคุมสถานการณ์หลังเลือกตั้ง
 
                      คสช.หวังที่จะให้อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนรัฐธรรมนูญแบบวัฒนธรรมไทย หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ อันหมายถึง ระบบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่อยู่ที่ “นักการเมือง” และ “ข้าราชการ”
 
                      เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ข้าราชการถูกลดบทบาททางการเมืองลง และนักการเมืองมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้กำลังแย่งชิงอำนาจรัฐเกิดขึ้น
 
                      ในที่สุดความขัดแย้งทางการเมืองพัฒนาสู่ขั้นการรอมชอมระหว่างพลังอำนาจทั้งสองจึงกลายเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”
 
                      แนวคิดประชาธิปไตยครึ่งใบ สะท้อนผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521
 
                      การบริหารประเทศภายใต้ระบอบดังกล่าวเห็นได้ชัดที่สุดในยุคสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2521 มีผลบังคับใช้
 
                      เนื่องจาก พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีที่ยาวนานถึง 8 ปี สื่อบางสำนักจึงเรียกการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นว่า “ระบอบเปรมาธิปไตย”
 
                      “พล.อ.เปรม” ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานระหว่างข้าราชการกับนักการเมือง โดยมีการดึงนักธุรกิจเข้ามาแชร์อำนาจในรูปของ "คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน” (กรอ.)
 
                      รัฐบาลประยุทธ์ได้ต่อยอด กรอ.ให้เป็น “ประชารัฐ” ในวันนี้
 
                      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คิดไม่ต่างจาก พล.อ.เปรม ที่ได้วางน้ำหนักการตัดสินใจทางการเมืองบนระบบราชการเดิมค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดความไม่พอใจของนักการเมืองอยู่บ่อยครั้ง
 
                      สมัยระบอบเปรมาธิปไตย มีการสร้างฐานอำนาจในระบบราชการโดยเฉพาะทหาร ก็ก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก นายทหารชั้นผู้ใหญ่พยายามสร้างกลุ่มอุปถัมภ์เพื่อเป็นฐานอำนาจ
 
                      การเลือกตั้งทั่วไปในสมัยรัฐบาลเปรม ผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดกุมเสียงข้างมากแบบพรรคเดียว จึงเป็น “รัฐบาลผสมหลายพรรค” ที่มีนายกรัฐมนตรี มาจากปีกข้าราชการ
 
                      การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ถือว่าเป็นห้วงเวลาที่การเมืองมีดุลยภาพ
 
                      คสช.ก็ปรารถนาที่จะให้ผลการเลือกตั้งทั่วไปออกมาในรูปที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมาก ดังที่เคยเกิดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
 
                      การเมืองมีดุลยภาพก็คือ นายกรัฐมนตรีคนนอก, รัฐบาลผสม และทหารยังเป็นอำนาจพิเศษ นี่แหละคือสิ่งที่ คสช.วาดหวังไว้
 
 
 
 
------------------------
 
(กระดานความคิด : ระบอบเปรมาธิปไตย 2559 : โดย...บางนา บางปะกง)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ