คอลัมนิสต์

จาก4จีถึงการเปิดเสรี'ดิวตี้ฟรี'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จาก4จีถึงการเปิดเสรี'ดิวตี้ฟรี' : กระดานความคิด โดยน้ำเชี่ยว บูรพา

            น่าจะถือเป็นมหกรรมคืนความสุขแก่คนในชาติที่ทุกฝ่ายเพรียกหาอย่างแท้จริง กับตลาดมือถือ 4จี ในบ้านเราเวลานี้ ที่กำลัังระอุแดด แต่ละค่ายต่างงัดกลยุทธ์ลดแลกแจกแถมขึ้นมาห้ำหั่นเพื่อช่วงชิงลูกค้ากันสนั่นเมือง หลังจากรัฐบาลและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

            ไม่เพียงจะสามารถดึงเม็ดเงินเข้ารัฐทะลักไปกว่า 2.3 แสนล้านบาท ผลพวงจากการแจกใบอนุญาต หรือ “ไลเซนส์” 4จี ดังกล่าว ยังทำให้ประชาชนผู้ใช้มือถือแทบจะสำลักกับบรรดาโปรโมชั่นที่แต่ละค่ายงัดขึ้นมาห้ำหั่นกันละลานตาจริงๆ

            เห็นผลพวงของมือถือ 4จี ยามนี้ ที่ทำเอาเศรษฐกิจประเทศไทยกระเพื่อมแล้ว ก็ทำให้อดนึกไปถึงสัมปทานร้านปลอดภาษี “ดิวตี้ฟรี” ทั้งในสนามบิน และนอกสนามบิน ที่รัฐบาลและบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งผูกขาดกิจการอยู่เจ้าเดียวในเวลานี้จริงๆ

            แม้จะมีการยืนยันว่า ได้สัมปทานมาอย่างถูกต้องชอบธรรม ประมูลแข่งกับเจ้าใหญ่ๆ ในเมืองไทยมาแล้วทั้งนั้น แถมได้จ่ายค่าสัมปทาน ภาษีนำเข้าและภาษีเงินได้อะไรต่อมิอะไรให้รัฐกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท มีส่วนในการนำเงินตราเข้าประเทศกว่า 3 แสนล้าน แต่ก็มีคนสงสัยว่า จริงแล้วที่ได้ประมูลแข่งขันจนได้มานั้น เฉพาะที่สนามบินดอนเมือง ที่ประมูลไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก่อนที่ดอนเมืองจะกลับมาเปิดใช้ได้อีก ส่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับอีก 3 สนามบิน ที่ ทอท.ดูแลอยู่นั้น มีคนถามว่า มีการประมูลกันตั้งแต่เมื่อไหร่

            โดยเฉพาะ “ร้านปลอดภาษีในเมือง” ที่มีทั้งกรุงเทพฯ และชลบุรี นั้น มีการประมูลกันจริงหรือไม่ ถ้ามี เปิดประมูลเมื่อไหร่?

            เรื่องนี้ ในสมัย พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เคยตั้งคณะทำงานเข้าตรวจสอบสัญญาร้านปลอดภาษีเหล่านี้มาแล้ว ได้รับการยืนยันว่า รายได้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีนอกสนามบินเหล่านี้ ไม่สามารถจะนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ ทอท.ได้ เพราะการจัดตั้งร้านปลอดอากรในเมืองดังกล่าว ไม่ได้อยู่ใต้สัมปทานของ ทอท.

            มันหมายความว่าอย่างไรรู้ไหมท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ !

            มันแปลว่า การจัดตั้งและขายสินค้าปลอดอากร “นอกสนามบิน” เหล่านี้ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานใดๆ ให้แก่รัฐ หรือ ทอท. แม้สตางค์แดงเดียว นอกจากจ่ายค่าเช่าพื้นที่อันที่ที่ตั้ง “จุดส่งมอบสินค้า” หรือ พิคอัพ เซ็นเตอร์ ที่ผู้ประกอบการร้านปลอดอากรรายอื่นๆ กำลังร้องโวยวายอยู่นี้เท่านั้น!

            แล้วก็ทำให้เข้าใจได้ว่า ยิ่งจำหน่ายสินค้าปลอดอากรนอกสนามบินได้มากเท่าไหร่ ทอท.และประเทศชาติก็ยิ่งได้ค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินน้อยลงไปเท่านั้น เผลอๆ รายรับที่บอกว่าสูงถึงปีละ 6.5 หมื่นล้าน และปี 2559 นี้จะทะลักไปถึง 8.5-9 หมื่นล้านบาททนั้น แต่ ทอท.อาจได้ค่าสัมปทานแค่ “การันตีขั้นต่ำ” ตามสัญญาเท่านั้น!

            เท็จจริงอย่างไรท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ และท่านรองนายกฯ สมคิด ก็ลองเรียกเอกสารจากท่านประธาน ประสงค์ พูนธเนศ และ “ดร.อ๊อป” นิตินัย ศิริสมรรถการ มาดูได้

            ดูแล้วอาจจะเงิบเหมือนกับคนอื่นที่ได้เห็นเอกสารนี้ิก็เป็นได้

            เรื่องของสัมปทาน “ดิวตี้ ฟรี” ทั้งภายในและนอกสนามบินนั้น ยังมีปมที่น่าสนใจ น่าติดตามกันอีกเยอะ !
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ