คอลัมนิสต์

สลักชื่อ'ครูพงษ์ศักดิ์'ไว้บนแผ่นดินลูกทุ่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สลักชื่อ'ครูพงษ์ศักดิ์'ไว้บนแผ่นดินลูกทุ่ง : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

              สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนถึงครูไพบูลย์ บุตรขัน คีตกวีแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา พอถึงค่ำวันศุกร์ ผมก็ทราบข่าวเศร้า...ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา คีตกวีแห่งลุ่มน้ำโขง สิ้นลมอย่างสงบที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี

              สิบกว่าปีก่อน ผมรู้จักกับครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ผ่านทางครูสุรินทร์ ภาคศิริ ซึ่งทั้งคู่เป็นนักแต่งเพลงรุ่นราวคราวเดียว

              ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสขับรถไปส่งครูพงษ์ศักดิ์ที่บ้านย่านฝั่งธนฯ เลยถือโอกาสพูดคุยกันสองต่อสอง จากการพูดคุยที่ยาวนาน ทำให้ผมรู้จักทางชีวิตครูมากขึ้น และครูไม่เคยหลุดปาก “ให้ร้ายคนอื่น” แม้แต่คำเดียว บั้นปลายชีวิตครูพงษ์ศักดิ์กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี โดยยึดแนวทาง “สงบเย็น” อยู่กับโครงการลานบ้านลานธรรม

              ปฐมบทของครูพงษ์ศักดิ์ไม่ได้เริ่มจากการเป็นนักแต่งเพลงเสียทีเดียว หากแต่เป็นนักพากย์หนังในนาม “เทพสงคราม” , นักเขียนบทละครวิทยุ และมีความใกล้ชิดกับกลุ่มนักสร้างหนัง โดยไม่มีวี่แววว่าจะเลี้ยวมาสู่วงการลูกทุ่ง

              อยู่มาวันหนึ่ง ครูพงษ์ศักดิ์ เจอกับ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องดาวรุ่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว พอรู้ว่าเขาเป็นคนเชื้อสายลาว บ้านวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี จึงแต่งเพลง “สาวคนโก้” ด้วยท่วงทำนองลำผสมเพลง ไวพจน์ชอบมาก ตอนอัดแผ่นเสียงจึงใช้บริการลาวเพชรบุรี สมัย อ่อนวงศ์ มาเป่าแคน ตอนนั้นครูพงษ์ศักดิ์ยังไม่ได้ยึดอาชีพนักแต่งเพลง แม้เพลง “สาวคนโก้” ดัง ก็ยังเดินสายพากย์หนังอยู่แถวอีสานห่างหายไปพักใหญ่ครูพงษ์ศักดิ์ เจอกับไวพจน์อีกที ตอนยกวงไปแสดงที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ไวพจน์ บอกครูให้แต่งเพลงลาวๆ แบบสาวคนโก้อีก ครูจึงนำเอาทำนอง “ลำสาละวัน” มาประยุกต์กับลายลำเลาะตูบของชาวภูไทกลายเป็นเพลง “สาละวันรำวง” ที่ดังสะท้านแผ่นดิน ต่อด้วยเพลง “สาวชุมแพ” ก็ดังระเบิด

              นับจากวันนั้น ครูพงษ์ศักดิ์ ตัดสินใจเลิกชีวิตนักพากย์อย่างเด็ดขาด มุ่งหน้าสู่ชีวิตนักแต่งเพลงเต็มตัว

              เมื่อก้าวเดินไปบนถนนสายลูกทุ่ง ครูพงษ์ศักดิ์จึงได้รับใช้ ครูไพบูลย์ บุตรขัน อยู่ช่วงหนึ่ง ได้ซึมซับขนบการเขียนเพลง และได้รับอิทธิพลการใช้ภาษาแบบครูไพบูลย์ ผมเคยถามเรื่องเพลง “ทุ่งรัก” ครูตอบว่า อยากแต่งเพลงในแนวครูไพบูลย์ และอ่านนิยายของ ไม้ เมืองเดิม มาเยอะ เลยเขียนเพลงทุ่งรักให้ ศรคีรี ศรีประจวบ ร้อง

              วันหนึ่ง ครูพงษ์ศักดิ์โทรศัพท์มาหาผม ปรึกษาหารือเรื่อง วานิช จรุงกิจอนันต์ เขียนในมติชนสุดสัปดาห์ว่า เพลงทุ่งรัก เป็นผลงานของครูไพบูลย์ซึ่งครูกังวลว่าคนรุ่นหลังจะเข้าใจผิด ผมเลยแนะนำให้ครูเขียนจดหมายไปชี้แจง

              ต่อมาวานิชก็นำจดหมายครูมาลง แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง จริงๆ แล้ว ไม่ใช่วานิชคนเดียวที่เข้าใจผิด คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นผลงานครูไพบูลย์

              ครูจากไปแล้ว ทิ้งมรดกเพลงไว้มากมาย และสลา คุณวุฒิ ศิษย์รักคนหนึ่ง ได้เขียนเพลงชื่อ “แด่..พ่อครูพงษ์ศักดิ์” บรรยายภาพความเป็น “คีตกวีลูกทุ่งอีสาน” ไว้ชัดเจน

              “ด่วน บขส.กับหัวใจรอจากสาวอุบล คอยฮักใต้กกกะโดน หนองหานรอนๆ เมื่อตอนแลงๆ ดอกอ้อริมโขง ค่ำลงหอมผักกะแงง พ่อครูร้อยคำปั้นแต่ง เติมฮักเติมแฮง ให้คนบ้านเฮา"

              “แผ่นดินแล้งเหงา ยังหลอมความเศร้า เติมแฮงยิ้มหวาน เพลงโขง ชี มูลผูกพัน บ่าวสาวอีสาน สอบผ่านความเหงา ทุกฮอยปากกา ใช้หมึกน้ำตาขัดเกลา มนต์เพลงอีสานบ้านเฮา หม่วนซื่นปลุกเร้า หมู่เฮาบ่คลาย"

              “โอ่..โอ้ละหนอ เสียดายสวรรค์บ่รอ บ่ยอมให้พ่อสร้างงานต่อไปเขียนชื่อพ่อครูพงษ์ศักดิ์ สลักแผ่นดินอีสานอาลัย หอเกียรติยศหัวใจ สิจดชื่อไว้มิให้เสื่อมสูญ"

              “มนต์ฮักแม่มูน มาถึงวันคูนดอกสุดท้าย ดั่งเหมือนมีดคว้านโหนกใจ กุดจี่ร้องไห้ ใส่แมงจินูน ขอโทษพ่อเด้อ..หากเผลอหลั่งน้ำตาส่งบุญ พ่อเหนื่อยแล้ว หลับลืมเรื่องวุ่น ฝากคำค้ำคูน ส่งทางพ่อเด้อ”
 
              ผมชอบท่อนที่สลาเขียนว่า “เขียนชื่อพ่อครูพงษ์ศักดิ์ สลักแผ่นดินอีสานอาลัย หอเกียรติยศหัวใจ สิจดชื่อไว้มิให้เสื่อมสูญ” ซึ่งแฟนเพลงทั้งแผ่นดินได้ประจักษ์ในความเป็น “ศิลปินของมหาชน” แล้วเช่นกัน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ