คอลัมนิสต์

ตระกูล'เรืองสุวรรณ'และสมรภูมิขอนแก่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตระกูล'เรืองสุวรรณ'และสมรภูมิขอนแก่น : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

              สุดสัปดาห์ที่แล้ว จักรภพ เพ็ญแข ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอบีซี เรื่องการจัดตั้งองค์กรต่อต้านรัฐประหารในต่างแดน โดยระบุตัวแกนนำองค์กรดังกล่าวคือ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นบุคคลที่ถูก คสช.เรียกให้มารายงานตัวเป็นรอบที่สองแล้ว

              กล่าวสำหรับตระกูล "เรืองสุวรรณ" เป็นตระกูลการเมือง ที่คนขอนแก่นรู้จักดี และให้ความเคารพนับถือ จารุบุตร เรืองสุวรรณ บิดาของจารุพงศ์

              ตระกูลเรืองสุวรรณ มีบรรพบุรุษเป็นเจ้าผู้ครองนครหลวงพระบางและเจ้านางแห่งนครเชียงใหม่ สืบเชื้อสายเป็นเจ้าเมืองสำคัญในหัวเมืองอีสานหลายหัวเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

              จารุวัชร เรืองสุวรรณ ลูกพี่ลูกน้องของจารุพงศ์ ได้เล่าเรื่องตระกูลเรืองสุวรรณผ่าน นสพ.โพสต์ทูเดย์ ว่า "มาจนถึงรุ่นปู่เจริญและย่าเอี่ยม เรืองสุวรรณ ซึ่งได้ให้กำเนิดทายาทที่ถือว่าเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในสังคมไทย จำนวน 6 คน ประกอบด้วย จารุบุตร เรืองสุวรรณ อดีตประธานรัฐสภา (บิดาของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ) จารุมุกด์ (บิดาของจารุวัชร เรืองสุวรรณ) จารุพิฑูรย์ จารุอุดม อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพินิจ จารุสมบัติ) จารุอรรถ และพล.อ.ดร.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง"

              "โดยคำนำหน้าว่า 'จารุ' มีที่มาจากการที่สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้เจอกับจารุบุตร เรืองสุวรรณ แล้วเห็นว่าเด็กคนนี้หน้าตาน่ารัก อ้วนท้วนสมบูรณ์ เลยให้ชื่อ 'จารุ' แล้วกำชับฝากฝังไว้ว่า หากมีลูกหลานเป็นชายก็ให้จารุนำหน้า เป็นธรรมเนียมที่ชาวตระกูลเรืองสุวรรณยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาจวบจนปัจจุบัน"

              เฉพาะ จารุบุตร เรืองสุวรรณ เกิดที่บ้านเมืองเก่า อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น จบปริญญาตรีทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบได้เนติบัณฑิตไทยในปี 2485 และจบปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต

              สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จารุบุตร ผ่านโรงเรียนนายทหารอังกฤษ เป็นหน่วยคอมมานโด ร่วมในขบวนการเสรีไทยสังกัดหน่วย 136 กองทัพที่ 14 กองทัพบกอังกฤษ ในปี 2488

              หลังสงครามโลก ร.ท.จารุบุตร เรืองสุวรรณ ได้ก้าวเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น มาแล้ว 5 สมัย คือ การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2489, 2492, 2495, 2500 และครั้งสุดท้ายปี 2519 เป็น ส.ส.ขอนแก่น สังกัดพรรคธรรมสังคม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของทวิช กลิ่นประทุม (บิดาของสรอรรถ กลิ่นประทุม)

              เมื่อเข้าสู่ช่วงปรองดองของประเทศไทย หลังการรัฐประหาร 2520 และการเลือกตั้งทั่วไปปี 2522 โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ "จารุบุตร" ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2524 เป็นประธานวุฒิสภา และเป็นประธานรัฐสภาในปี 2526-2527

              สมรภูมิการเมืองขอนแก่น หลังจาก จารุบุตร เรืองสุวรรณ วางมือทางการเมือง ก็เข้าสู่ยุคของ "มหาเศรษฐี" หิ้วกระเป๋าจากกรุงเทพฯ ไปสมัคร ส.ส.

              เริ่มจาก ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เจ้าของโอสถสภาเต๊กเฮงหยู เป็นหัวหน้าทีมพรรคกิจสังคมในขอนแก่น ซึ่งคนอีสานรู้จักสินค้าของ "โอสถสภา" เป็นอย่างดี โดยเฉพาะยาทัมใจ ที่เป็นผู้สนับสนุนสมาคมหมอลำ และบ้านพักหมอลำทัมใจ

              ปี 2526 เจ้าของยาทัมใจได้เป็น ส.ส.ขอนแก่น เขต 2 บ้านไผ่ เมืองพล ชนบท แวงน้อย

              ที่ครึกโครมมากกว่านั้น ปี 2529 "เจ้าสัวโค้ก" พงส์ สารสิน มาลงสมัคร ส.ส.ขอนแก่น เขต 3 เขาสวนกวาง ภูเวียง น้ำพอง

              โดยตอนหาเสียง "เจ้าสัวโค้ก" ได้นำโค้กวันเวย์มาขาย 3 ขวด 10 บาท ซึ่งราคาปกติ ขวดละ 9 บาท จนร่ำลือกันว่า ชาวบ้านกินโค้กแทนน้ำ

              เจ้าสัวพงส์ มีโรงเหล้าตระกูลหงส์ และโรงงานโค้กอยู่ที่ขอนแก่น บวกการตลาด จึงชนะได้เป็น ส.ส.สมใจ

              ปี 2531 เป็นสมัยสุดท้ายของ "ส.ส.เจ้าสัว" ทั้งพงส์ และสุรัตน์ ต่างอำลาสมรภูมิขอนแก่น คงเหลือไว้แค่ "ตำนานมหาเศรษฐีหาเสียง" ให้เล่าขานกัน

              จากตำนานคนการเมืองระดับปูชนียบุคคลของแก่นอย่าง จารุบุตร เรืองสุวรรณ มาถึงเรื่องเล่า "มหาเศรษฐี" ลุยเลือกตั้ง ล้วนเป็นสีสันของประชาธิปไตยต่างยุคต่างสมัย

              ส่วนเรื่องราวของจารุพงศ์ใน พ.ศ.นี้ ก็เป็นวิถีที่ตัวเขาเลือกเอง และเชื่อว่าคนขอนแก่นก็ทราบดีว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร?

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ