คอลัมนิสต์

ทุกข์ของชาวนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทุกข์ของชาวนา : กระดานความคิด โดยน้ำเชี่ยว บูรพา

              ทุกข์ระทมของชาวนาที่กำลังเดินมาถึงทางตัน เพราะนำข้าวไปจำนำไว้กับรัฐตั้งแต่ 3-4 เดือนก่อน จนป่านนี้ยังไม่ได้รับเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพราะรัฐถังแตกเจียดเม็ดเงินไปให้ ธ.ก.ส.ไม่ได้ จะหวังพึ่งเงินฝากของ ธ.ก.ส.เอง ก็ไม่ยอมนำเงินฝากที่มีไปใช้หนี้ให้

              จะขอให้ชาวนานำเอาใบประทวนสินค้า สลักหลังไปขอกู้โรงสี ผู้ส่งออกหรือแม้แต่ ธ.ก.ส.เองก็ไม่รู้มีอดีตรัฐมนตรีคลัง พ.ศ.ไหนกระโดดออกมาขวาง อ้างอาจเข้าข่ายผิด รัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) เป็นการก่อหนี้ใหม่ผูกพันรัฐบาลใหม่

              ที่จริงเรื่องของใบประทวนที่ชาวนาถืออยู่ แต่ไม่สามารถจะขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 777 วรรคหนึ่งนั้น “อัน ประทวนสินค้านั้น ย่อมให้สิทธิแก่ผู้ฝากที่จะสลักหลังจำนำสินค้า ซึ่งจดแจ้งไว้ในประทวนได้โดยไม่ต้องส่งมอบสินค้านั้น แก่ผู้รับสลักหลัง...”

              แปลให้ง่าย ใบประทวนสินค้าที่ชาวนาถืออยู่นี้สามารถใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ได้ โดยกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ฝากสินค้าในคลังสินค้าที่ว่านี้สลักหลังใบประทวนเพื่อทำสัญญาจำนำได้โดยไม่ต้องส่งมอบสินค้าให้อยู่ในความครอบครองของผู้รับจำนำ หรืออีกนัยการสลักหลังใบประทวนสินค้าจะทำให้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นได้

              ก็แบบเดียวกับที่องค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นำหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกสั่งปิดกิจการไปขายและโอนสิทธิในหนี้ของสถาบันการเงินนั้นให้แก่ผู้ประมูล อันเป็นการโอนหนี้ในลักษณะเดียวกับการสลักหลังตราสารหนี้ประเภทตั๋วเงิน

              ดังนั้น การที่ชาวนานำใบประทวนสินค้ามาสลักหลังเพื่อจำนำให้แก่รัฐผ่าน ธ.ก.ส. จึงหาเป็นการก่อหนี้ใหม่ไม่ แต่เป็นการที่รัฐได้เข้าผูกพันด้วยการจำนำใบประทวนสินค้า ซึ่งเกิดเป็นนิติสัมพันธ์อยู่แล้ว ระหว่างชาวนาซึ่งเป็นผู้สลักหลังใบประทวนกับรัฐซึ่งเป็นผู้รับสลักหลังใบประทวน

              ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไปอย่างไร หนี้ที่รัฐต้องชำระเงินตามการสลักหลังใบประทวนสินค้านั้นก็จะผูกพันรัฐ เพราะในขณะที่รัฐบาลออกนโยบายจำนำข้าว รัฐบาลเป็นองค์รัฐาธิปัตย์ จึงมีผลผูกพันรัฐและรัฐบาลชุดต่อๆ มา และหาได้ผูกพันเพียงแค่รัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น

              ยกตัวอย่าง การที่ นาย ก. สั่งจ่ายเช็คในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท A เพื่อชำระหนี้ที่มีต่อบริษัท B แล้วต่อมาภายหลังนาย ก. ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัท A เช็คที่ นาย ก. ได้เคยลงนามสั่งจ่ายให้แก่บริษัท B นั้นก็ยังผูกพันบริษัท A ให้ต้องชำระหนี้แก่บริษัท A อยู่ เพราะฉะนั้น การกู้เงินเพื่อชำระเงินจำนำข้าวของเกษตรกรในครั้งนี้ หาได้เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 81 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) ซึ่งห้ามเฉพาะกรณีโครงการใหม่ เพราะโครงการรับจำนำข้าวได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

              เอาให้ชัด กรณีหนี้ของ ปรส.ซึ่งขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่เปรียบได้กับการขายข้าวสารในปัจจุบัน ทำให้ขาดทุนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน หนี้ของ ปรส.ได้กลายเป็นหนี้ผูกพันรัฐโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังรับชำระหนี้ทั้งหมด แต่ ธปท.ก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้หมด ต้องออกพันธบัตรรัฐบาลในลักษณะ Roll Over ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมวลมหาประชาชนก็ทราบดีว่า เป็นการอุ้มคนรวย

              ดังนั้น หากยังมีขบวนการไม่ให้รัฐกู้เงิน หรือออกพันธบัตรเพื่อชำระหนี้ให้แก่ชาวนาแล้ว ก็น่าจะเลิกซื้อพันธบัตรที่รัฐบาลและธปท. Roll Over ในทุกกรณีด้วยเช่นกัน

              เพราะพวกเรากำลังย่ำแย่ ยังไงเสียหนี้ตามใบประทวนก้อนนี้ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาก็ต้องมีพันธะชำระคืนอยู่ดี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ