คอลัมนิสต์

รำลึก'ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รำลึก'ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริก

              หลายคนคงลืมไปแล้วสำหรับเหตุการณ์นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุดไฟเผาตัวเองประท้วงรัฐบาลชาติชาย เมื่อ 14 ตุลาคม 2533 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ลาออก

              วาทกรรม "สภาประชาชน" ที่ดังกระหึ่มถนนราชดำเนิน พ.ศ.นี้ ทำให้ผมต้องไปค้นข้อมูลเก่า กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 10 คน ในนามศูนย์เฉพาะกิจนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ประกาศเป้าหมายการต่อสู้ชัดเจน

              "ขับไล่รัฐบาลพ่อค้า โค่นล้มเผด็จการรัฐสภา สถาปนารัฐสภาของปวงชน" โดยมีรูปธรรมให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

              "หากเราขับไล่เขาไม่ได้ก็ถึงเวลาที่เราจะสละชีวิตของเราเพื่อประชาชนมีความสุขสบาย ผมยอมสละแล้ว"

              ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ นักศึกษารามคำแหง วัย 20 ปี ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตเขาตามยุทธวิธี "อหิงสา" 4 ขั้นคือ โกนหัว, อดข้าว, กรีดเลือด และเผาตัวเอง อันเป็นยุทธวิธีขั้นสูงสุด

              ฉากสุดท้ายของ "ธนาวุฒิ" จบลงด้วยความโศกเศร้าของผู้คนทั้งแผ่นดิน และผ่านมาถึงวันนี้ 23 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เด็กหนุ่มเมืองนครศรีธรรมราช คิดและฝันจะมีคนกลุ่มหนึ่งนำมาเสนอเป็นคำขวัญในการต่อสู้บนท้องถนน

              การต่อสู้ที่รามคำแหง พ.ศ.โน้น แยกไม่ออกจากการเคลื่อนไหวของ "สภาประชาธิปไตยแห่งชาติ" ที่ชูธงปฏิวัติสันติ ที่ท้องสนามหลวงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2533 ก่อนจะถูกตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่และจับกุมแกนนำในข้อหากบฏ

              จริงๆ แล้ว สภาประชาธิปไตยแห่งชาตินั้น กำเนิดมาจาก "สภาปฏิวัติแห่งชาติ" ของ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เพราะกลุ่มแกนนำล้วนเป็นสานุศิษย์ของ "อาจารย์เสริฐ"

              ย้อนไปเมื่อ 28-29 เมษายน 2530 มีการประชุมผู้แทนประชาชนทั่วประเทศที่โรงแรมเอเชีย และโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตั้งสภาปฏิวัติแห่งชาติขึ้นเป็นการสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตยของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร

              31 พฤษภาคม 2532 "ประเสริฐ" อ่านคำสั่งสภาปฏิวัติแห่งชาติที่ 1/2532 เรื่องการโอนอำนาจจากรัฐสภามาสู่สภาปฏิวัติแห่งชาติและแถลงการณ์สภาปฏิวัติแห่งชาติ

              ฉะนั้นการต่อสู้ของเด็กหนุ่มรามคำแหง 10 คน จึงเป็นเรื่องของความฝันอันสูงสุด ว่าด้วย "ประชาธิปไตยของปวงชน" พวกเขาจึงลุกขึ้นมา "ขับไล่รัฐบาลพ่อค้า โค่นล้มเผด็จการรัฐสภา สถาปนารัฐสภาของปวงชน"

              ที่น่าสนใจ 1 ใน 10 เด็กหนุ่มรามคำแหงที่ก่อการในปีนั้นคือ ไชยยงค์ รัตนวัน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคความหวังใหม่ และเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานกฎหมายประสิทธิภาพประเทืองธรรม

              "ไชยยงค์" เคยตกเป็นข่าวเมื่อครั้งที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ออกมาพูดถึงขบวนการล้มปืน-ทุน-เจ้า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 พร้อมกันนั้น "บิ๊กจิ๋ว" ยังได้แนะนำหนังสือ "แนวทางประเทศไทย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการต่อสู้เอาชนะภัยความมั่นคงของชาติ" เขียนและเรียบเรียงโดยไชยยงค์ รัตนวัน

              เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็มีปรัชญา ความคิด ความเชื่อเรื่องลัทธิประชาธิปไตย เหมือนที่นักวิชาการหลายคนไปพูดบนเวทีราชดำเนิน และสนับสนุนแนวคิดประชาภิวัฒน์ของกำนันสุเทพ

              บังเอิญว่าผู้ที่พูดเรื่องดังกล่าวเป็นนักวิชาการ ที่มีต้นทุนทางสังคม จึงมีคนรับฟังมากกว่าถ้อยวลีที่มาจากสานุศิษย์ "อาจารย์เสริฐ"

              การต่อสู้ที่มาก่อนกาลของ "ธนาวุฒิ" กับพวก คงไม่มีใครรำลึกนึกถึงมากนัก เพราะเมื่อ 23 ปีที่แล้ว คนชั้นกลางต่างชื่นชมนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลชาติชาย

              หากย้อนเวลากลับไป สิ่งที่คนชั้นกลางออกมาเรียกร้องเวลานี้ก็เป็นข้อเรียกร้องเดียวกันกับกลุ่มธนาวุฒิ เพียงแต่เปลี่ยนจาก "ระบอบชาติชาย" เป็น "ระบอบทักษิณ" เท่านั้นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ