คอลัมนิสต์

'อีโอดี'ปรับกลยุทธ์ฝึกหนัก-ทีมเวิร์กช่วยชีวิตได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'อีโอดี'ปรับกลยุทธ์สู้ระเบิด ฝึกหนัก-ทีมเวิร์กช่วยชีวิตได้ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

               การเสียชีวิตของ ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ รองสารวัตรชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด นปพ.จ.นราธิวาส พร้อมลูกน้องอีก 2 นาย คือ ร.ต.ต.จรูญ เมฆเรือง และ ส.ต.อ.นิมิตร ดีวงศ์ ที่ถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) เป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ ของกลุ่มก่อความไม่สงบ

               พ.อ.ทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ อดีตผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ฉก.อโณทัย จ.ปัตตานี ที่เคยทำงานเก็บกู้ และทำลายวัตถุระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มานานถึง 9 ปี (2547-2556) ชี้ถึงอันตรายของภารกิจเก็บกู้วัตถุระเบิดของชุดอีโอดีในปัจจุบันว่า รูปแบบในการประกอบระเบิดของคนร้ายยังไม่พัฒนาไปมากนัก เพราะยังใช้ระเบิดแสวงเครื่องเป็นหลักอยู่เช่นเดิม

               อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พัฒนาไปจากเดิม คือ รูปแบบการวางระเบิดของคนร้ายที่นอกจากจะมีระเบิดลูกที่ 2-3-4 เพิ่มเติมเข้ามาแล้ว คนร้ายยังพัฒนารูปแบบของการวางระเบิดเพื่อหลีกเลี่ยง "เครื่องตัดสัญญาณ" ด้วย

               "เขารู้ว่า เจ้าหน้าที่มีเครื่องตัดสัญญาณทำให้จุดระเบิดยากขึ้น เขาจึงเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยใช้วงจรระเบิดหลายรูปแบบ เช่น แบบเหยียบ ซึ่งเหมือนการวางกับระเบิด, ใช้การลากสายแล้วกดระเบิด, ใช้การตั้งเวลา หรือใช้ระบบกันเขยื้อน (Overloop-หัวล้านชนกัน) ซึ่งพอจับระเบิดให้ขยับเขยื้อนปั๊บ วงจรระเบิดก็จะทำงานทันที"

               เขาย้ำว่า ชุดอีโอดีตกเป็นเป้าหมายมานานแล้ว และแม้จะระวังตัวอย่างสูงสุดก็อาจจะพลาดกันได้ ซึ่งวิธีการที่จะสร้างความปลอดภัยได้มากที่สุด คือ การฝึกอย่างต่อเนื่อง ฝึกให้หนักกว่าเดิม และควรมุ่งไปที่การ "ทำลาย" มากกว่าการ "เก็บกู้"

               ทั้งนี้ ในการเก็บกู้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของระเบิดที่มีลักษณะแปลกใหม่จากเดิม ซึ่งต้องทำลายวงจรบางส่วน เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์แก้ไข เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของชุดอีโอดี แต่ถ้าเป็นลักษณะของระเบิดแบบเดิมๆ มักจะใช้วิธีการทำลายทิ้งมากกว่า

               ด้าน ร.ท.สรศักดิ์ รักทรง นายทหารนิรภัยถอดทำลายอมภัณฑ์ หรือหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) ของหน่วยนาวิกโยธินกองทัพเรือ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.นราธิวาส กล่าวตรงกันว่า วงจรระเบิดที่คนร้ายนำมาปฏิบัติการไม่ได้นอกเหนือไปจากสิ่งที่เคยเรียนรู้มา

               "เมื่อเรามีอุปกรณ์ตัดสัญญาณ เขาก็เปลี่ยนแนวทางในการปฏิบัติ ดังนั้น เราต้องหาทางป้องกันตัวเองทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ และจะต้องไม่ประมาท โดยต้องทำตามขั้นตอนทุกอย่างเพื่อความปลอดภัย แต่ต้องยอมรับว่า เขารู้การเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ตลอด แต่เราไม่ค่อยรู้ความเคลื่อนไหวของเขาเท่าไหร่"

               เขาเปรียบเปรยว่า คนร้ายจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เจ้าหน้าที่ "ตายใจ" พยายามหลอกล่อให้เราไปตกหลุมพรางของเขา แต่ถ้าเราทำตามขั้นตอน ใจเย็น ไม่สร้างแรงกดดัน ภารกิจทุกอย่างก็จะประสบผลสำเร็จ

               ร.ท.สรศักดิ์ ย้ำว่า ภารกิจนี้ "การทำงานเป็นทีม" สำคัญที่สุด โดยในการปฏิบัติภารกิจแต่ละครั้งเราจะมาระดมความรู้ และมาหาข้อสรุปจนได้แผนที่ตกลงร่วมกัน หากใครมีข้อโต้แย้งก็จะต้องนำมาคิดให้มากๆ เพราะเราพลาดไม่ได้ ดังนั้น ทีมเวิร์กจึงสำคัญที่สุด โดยเอาปัญหาที่เจอมาคุยวางแผนว่าจะทำอะไร แผน 1-2-3 ซึ่งต้องมีถึง 3 แผนเป็นอย่างน้อย

               "การเก็บกู้จะต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องมีความละเอียดในการเข้าหา เพราะมันคือความเป็นความตาย จะประมาทไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว จากนั้นก็ต้องอ่านวงจรให้ออก และวิเคราะห์ให้ได้ ถ้าอ่านวงจรไม่ออก วิเคราะห์ไม่ได้มันก็จะทำให้เราเสี่ยง ห้าสิบห้าสิบเลย และต้องมีความมั่นใจเต็ม 100 ถ้ากล้าๆ กลัวๆ จะทำให้พลาดได้"

               อย่างไรก็ตาม ร.ท.สรศักดิ์ ยอมรับว่า ในการทำงานเราจะ "ตามหลัง" เขาอยู่ตลอด อย่างมากก็แค่เสมอ ไม่มีทางล้ำหน้าไปได้ เพราะเขาเป็นคนวาง เราเป็นคนกู้ ถ้าตามเขาไม่ทันนั่นก็คือ "ความสูญเสีย" ของเราเอง แต่ถึงแม้จะเสี่ยงมากแค่ไหน แต่นายทหารอีโอดีในวัย 48 ปี ซึ่งกู้ระเบิดในภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2547 ก็ตั้งปณิธานว่า จะทำงานเพื่อชาติต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ


..................................

(หมายเหตุ : 'อีโอดี'ปรับกลยุทธ์สู้ระเบิด ฝึกหนัก-ทีมเวิร์กช่วยชีวิตได้ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ