คอลัมนิสต์

สัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นทำให้อาเซียนแตก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นทำให้อาเซียนแตก : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร

             จีนและญี่ปุ่นเคยมีมิตรภาพและสัมพันธ์ที่ดีและเอื้ออาทรต่อกันในช่วง 20 กว่าปีที่จีนพยายามก่อร่างสร้างตัวกับการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจ จีนได้ญี่ปุ่นเป็นตัวขับเคลื่อนทางด้านเงินทองและเทคโนโลยี แต่มาในช่วงสามปีหลัง เหตุการณ์ที่ดีๆ ระหว่างสองประเทศได้จางหายไป สืบเนื่องจากข้อพิพาทเกาะแก่งเล็กในทะเลญี่ปุ่น (ในเกาะเตี้ยวยี่หรือเซ็นกะกุ) ทำให้ทั้งสองประเทศต้องประจันหน้ากัน อย่างเอาเป็นเอาตาย บางครั้งใจหายใจคว่ำ เพราะนึกว่าทั้งสองประเทศพร้อมที่จะรบกัน ทำให้เสถียรภาพในภูมิภาคหายไปในพริบตาเดียว

             สถานการณ์แบบนี้มีผลเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาเซียน โดยเฉพาะในบริบทการรวมตัวเพื่อจะนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนาเศษฐกิจอาเซียนที่จะครอบคลุมถึงเอเชียตะวันออก สิ่งเหล่านี้จะรุดหน้าไปได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสองยักษ์ใหญ่เอเชีย ใครๆ ก็รู้ ตลาดจีนยังเป็นอันดับหนึ่งที่รองรับสินค้าของอาเซียนเกือบทุกประเทศทำให้จีนมีอำนาจต่อรองมาก

             ส่วนญี่ปุ่นยังเป็นแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีที่อาเซียนยังต้องการ ในอดีตไม่เป็นปัญหา อาเซียนรู้ดีว่าเวลาญี่ปุ่นกับจีนทะเลาะกัน ไม่นานก็จะเลิกราไปเอง เนื่องจากทั้งสองประเทศต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ต้องการกระทบกระเทือนผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจ แต่มาปัจจุบันรูปการณ์นี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว จีนได้กลายเป็นมหาอำนาจอันดับสองของโลกเมื่อสองปีก่อน และภายในห้าปีอาจจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป

             ทำให้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าว มีผลทำให้โครงการร่วมมือต่างๆ ที่กำลังอยู่ในกรอบอาเซียนทั้งหลายกำลังมีปัญหา ทำให้อาเซียนพลอยปวดหัวไปด้วย ยิ่งในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชินโซ อาเบได้เดินทางเยือนกัมพูชาและลาวเป็นทางการเพื่อปรับสัมพันธ์กับสองประเทศที่มีความใกล้ชิดกับจีน นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทูตญี่ปุ่นที่มีผู้นำเยือนอาเซียนเกือบทุกประเทศภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังเป็นนายกรัฐมนตรี

             ขณะนี้เจ้าหน้าที่อาวุโสจากอาเซียนและญี่ปุ่นกำลังร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดที่กรุงโตเกียวเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 40 ปีระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม ต้องยอมรับว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ทั้งนี้เป็นเพราะว่าความตึงเครียดจีน-ญี่ปุ่นั่นเอง

             สาระของแถลงการณ์ร่วม ต้องไม่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนโดยเฉพาะทางด้านความมั่นคง ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านความมั่นคงมากๆ ในตอนนี้ เพื่อเอามาเป็นการต่อรองกับจีน โดยเฉพาะทางด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์และเวียดนามให้การสนับสนุนการทูตญี่ปุ่นอย่างมาก ทั้งสองประเทศมีสายสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นกับจีนเนื่องจากข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

             ถ้าแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไป จะส่งผลร้ายต่อความสามัคคีภายในอาเซียน ซึ่งทุกวันถูกท้าทายแทบทุกวี่ทุกวัน สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศได้พัฒนามิตรภาพกับมหาอำนาจรวมมทั้งจีนกับญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆ จนมีความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนถูกสั่นคลอนไป ตัวอย่างที่เห็นจากกัมพูชาในปีที่แล้วเป็นบทเรียนที่ดีคือเวลาสมาชิกอาเซียนเข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ทำให้อาเซียนต้องเสียภาพลักษณ์และจุดยืนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

             ส่วนไทยจะประสบปัญหานโยบายการทูตมากที่สุด เนื่องจากเรามีสัมพันธ์ดีต่อจีนและญี่ปุ่นมาตั้งนาน ไม่เคยมีความจำเป็นต้องเลือกข้างเลยเหมือนกับบางประเทศในอาเซียน แต่มาในขณะนี้ ทั้งสองประเทศนี้ต้องการเห็นไทยสนับสนุนนนโยบายต่างๆ ที่เป็นของจีนหรือญี่ปุ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น ไทยต้องระวังไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง

             น่าเสียดาย ตอนนี้รัฐบาลไทยมีนโยบายและท่าทีเข้าหาจีนมากไปนิดหนึ่ง เนื่องจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและแผนการพัฒนาโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูงในอนาคต อย่าลืมว่า ญี่ปุ่นมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม ไทยเรายังต้องการเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น

             อาเซียนเจอศึกหนักแน่ สัมพันธ์จีนกับญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มที่ดีภายในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากการเมืองภายในของทั้งสองประเทศไม่เอื้ออำนวยให้การมีเจรจากันหรือยอมอ่อนข้อให้แก่กันในขณะนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ