คอลัมนิสต์

'40 ปี 14 ตุลา'กับทุนจีนภูธร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'40 ปี 14 ตุลา'กับทุนจีนภูธร : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

                 ดั่งที่ทราบกัน ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชนชั้นนำทางอำนาจทั้งหมดเป็นขุนนางข้าราชการ แต่หลังจากวันมหาวิปโยค สังคมการเมืองไทยมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จึงเปิดช่องให้มีการไต่เต้าสู่ชนชั้นนำทางอำนาจตามกระบวนการเลือกตั้ง

                 รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยสรุปไว้ว่า "นับตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนชั้นนำทางอำนาจ ได้มีส่วนลิดรอนผลประโยชน์ของกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยเป็นอันมาก"

                 มีตัวอย่างของกลุ่มทุนจีนภูธร ที่ได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นั่นคือตระกูล "ภัทรประสิทธิ์" ซึ่งขยับตัวจากธุรกิจค้าสุราภาคเหนือ เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อีกมากมายในปัจจุบัน

                 ลูกหลานมังกรในดินแดนสยามจำนวนไม่น้อย ที่ทำธุรกิจการค้าสุราและสร้างมั่นคงมั่งคั่งด้วยการเอา "ขวดเหล้าผูกไว้กับกระบอกปืน"

                 "หย่งคุน แซ่ตั้ง" หรือ วิศาล ภัทรประสิทธิ์ เป็นชาวจีนที่ ต.หัวดง อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร จากพ่อค้าขายปลีกเล็กๆ ในอำเภอ วิศาลได้ขยับเป็นพ่อค้าขายส่งจนกระทั่งลงทุนขอตั้งโรงกลั่นเหล้าเอง จึงมีความผูกพันกับกลุ่มอำนาจทหารและการเมืองสมัยนั้น

                 เมื่อฟ้าเปิดมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และเปิดโอกาสให้ "บุตรคนต่างด้าว" ลงสมัคร ส.ส. ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

                 "หยุ่งคุน" กำนันตำบลหัวดง จึงจดทะเบียนจัดตั้ง "พรรคพัฒนาจังหวัด" เมื่อววันที่ 25 พฤศจิกายน 2517 โดยตัวกำนันหย่งคุน เป็นหัวหน้าพรรค และน้องชาย วิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค

                 อย่างที่รู้กันว่าหลัง 14 ตุลา กระแสสังคมนิยมมาแรง จึงทำให้พรรคการเมืองสมัยโน้นเขียนอุดมการณ์ เขียนนโยบายของพรรคโดยมีกลิ่นอายสังคมนิยม ดังเช่นอุดมการณ์ของพรรคพัฒนาจังหวัด ที่ระบุว่า "จะมุ่งยกระดับชนชั้นกรรมาชีพให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยยึดถือเกษตรกรเป็นหลักใหญ่"

                 ผลการเลือกตั้ง 26 มกราคม 2518 กำนันหย่งคุน หรือวิศาล ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พิจิตร สมัยแรกสมความมุ่งมาดปรารถนา และในการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 วิศาลได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พิจิตรอีกสมัย โดยมี ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ ได้เป็น ส.ส.สมัยแรกในนามพรรคพัฒนาจังหวัดด้วย

                 การเข้าสู่การเมืองในช่วงปี 2518-2519 ทำให้ "วิศาล" ขยายอาณาจักรโรงเหล้าไปที่พะเยา เชียงราย พิจิตร ลำปาง ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ และน่าน

                 นอกจากนั้น "วิศาล" ยังมีบทบาทร่วมกับตระกูลเตชะไพบูลย์ ในฐานะเอเย่นต์ใหญ่แม่โขงประจำภาคเหนือ และขยับเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทสุรามหาราษฎร์ เพื่องานประมูลสัมปทานสิทธิ์เช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ผลิตแม่โขง กวางทอง ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

                 แม้ในยุคหลัง "วิศาล" จะไม่ได้เล่นการเมือง และปิดตำนาน "พรรคพัฒนาจังหวัด" แต่ตระกูลภัทรประสิทธิ์ ก็มีลูกชายหย่งคุน คือ "ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์" สืบทอดมรดกการเมืองจนเป็น ส.ส.พิจิตรมาหลายสมัย และได้เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์สมัยหนึ่ง

                 เฉพาะในพื้นที่ ต.หัวดง ยังเป็นฐานที่มั่นการเมืองของตระกูลภัทรประสิทธิ์ โดยรุ่นที่ 2 อย่าง วิรัตน์ ภัทรประสิทธิ์ น้องชายของวิศาล ได้เป็นกำนันตำบลหัวดง มายาวนาน กระทั่งหัวดงยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลตำบลในวันนี้ ก็ยังอยู่ในมือของตระกูลภัทรประสิทธิ์ รุ่นที่ 3 แบบไร้คู่แข่ง

                 จริงๆ แล้วยังมี "มังกรบ้านนอก" อีกหลายตระกูล ที่ก้าวสู่ถนนสายเลือกตั้งในปี 2518 อาทิตระกูล "เรืองกาญจนเศรษฐ์" ผู้ค้าเหล้า-ค้าน้ำแข็งรายใหญ่แห่งอีสานใต้ ได้จัดตั้งพรรคประชาธรรม และประสบความสำเร็จ มี ส.ส.ถึง 6 คน

                 หรือ "เสี่ยกิมก่าย" ธเนศ เอียสกุล เจ้าของอาณาจักรธุรกิจพืชผลการเกษตรรายใหญ่แห่งหนองคาย ก็เข้าร่วมพรรคสังคมชาตินิยม ของ "โควตงหมง" ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

                 ด้วยการเติบใหญ่ของกลุ่มทุนจีนภูธรในเวทีรัฐสภา จึงทำให้รัฐธรรมนูญปี 2522 ของกลุ่มอำมาตยาธิปไตย ได้ "ห้ามบุตรคนต่างด้าว" ลงสมัคร ส.ส.

                 มาถึง พ.ศ.ปัจจุบัน พลังอำมาตยาธิปไตย ถูกลดทอนอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจลงไปมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความพยายามฝืนกระแสโลก ด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับย้อนยุค

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ