คอลัมนิสต์

การประกัน'คุณภาพ'การศึกษา?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การประกัน'คุณภาพ'การศึกษา? : กระดานความคิด โดยบุณยสฤษฎ์ อเนกสุข มหาวิทยาลัยนเรศวร [email protected]

              ตามที่สื่อออนไลน์เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ลงข่าวเกี่ยวกับที่ประชุม World Economic Forum (WEF)-The Global Cometitiveness Report 2012-2013 ได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในกลุ่มอาเซียน อยู่ในกลุ่มสุดท้ายอันดับที่ 8 เป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำที่สุด โดยอันดับ ที่ 1 -3 ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไนตามลำดับ

              เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากการจัดลำดับดังกล่าว?

              สำหรับสิ่งที่ผู้เขียนซึ่งอยู่ในแวดวงการศึกษาพบก็คือ การจัดลำดับคุณภาพการศึกษาสะท้อนแง่มุมนิสัยการศึกษาของสังคมไทยอย่างชัดเจนที่สุด ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศสิงคโปร์จะถูกจัดลำดับให้มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดในอาเซียน เพราะว่าสังคมสิงคโปร์มีนิสัยการศึกษาที่แตกต่างจากสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจากคนรู้จักของผู้เขียนซึ่งเติบโตมาในสังคมสิงคโปร์ตั้งแต่เด็กประถมพบว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับ “วิธีการและกระบวนการทางความคิด” มากกว่าการได้คำสอบสำเร็จรูป ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือในวิชาคณิตศาสตร์นั้น ขณะที่ประเทศไทยมุ่งสอนการได้คำตอบที่ถูกต้องที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไร (ด้วยเหตุนี้เราจึงมีวิธีการคิดมากมายทั้งในและนอกชั้นเรียน เช่น คณิตคิดเลขเร็ว จินตคณิต คณิตคิดในใจ ฯลฯ) แต่ประเทศสิงคโปร์กลับสอนวิธีการคิดหรือกระบวนการกว่าจะได้คำตอบที่น่าจะถูกที่สุดจะต้องเริ่มต้นและลงท้ายอย่างไร ซึ่งแปลว่าแม้คำตอบจะถูกต้องแต่เมื่อวิธีการหรือกระบวนการคิดผิด ก็จะถือว่าคณิตศาสตร์ข้อนั้นผิดทันที

              การสอนของประเทศสิงคโปร์กำลังจะบอกอะไรกับนิสัยการศึกษาเรา?

              ประการแรก การให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากที่สุด เพราะสะท้อนความเป็นจริงว่าในสังคมไทยคนที่เรียนเก่งมักคือคนที่มีคำตอบถูก (ซึ่งอาจเป็นการตอบถูกใจผู้สอนก็ได้) มากกว่าเป็นคนที่มีวิธีคิดถูกหรือกระบวนการคิดที่ดี ขณะที่การตอบถูกก็อาจจะมีวิธีการได้มาซึ่งคำตอบที่แตกต่างกัน เช่น การคิดเอง (ซึ่งก็ดีไป) การเดา (ในกรณีปรนัย) หรือเลวร้ายที่สุดแต่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือการลอก ดังนั้นเมื่อมีการชื่นชมคนคิดคำตอบได้ถูกมากกว่าการชื่นชมคนคิดวิธีการที่ถูก จึงไม่อาจยืนยันได้ว่านักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ เก่งจริงเสมอไปหรือไม่ รวมถึงเท่ากับไปลดทอนกระบวนการคิดอันเป็นรากฐานสำคัญทางการศึกษาที่ควรจะเกิดขึ้นแก่นักเรียนไปโดยปริยาย

              ประการที่สอง เหตุเพราะว่าระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันกลับคิดตรงกันข้ามว่าผลลัพธ์ที่ดีเป็นเครื่องชี้วัด (หรือประกัน) ได้ว่านักเรียนหรือสถาบันการศึกษานั้นๆ จะมีคุณภาพนี้เอง ดังนั้นโครงสร้างการศึกษาทั้งในระดับประถม มัธยม หรือแม้แต่จนถึงมหาวิทยาลัยการที่นักศึกษาสอบผ่าน เช่น ได้เกรด 3.00 ขึ้นไป ได้เกียรตินิยม และโดยเฉพาะ “ไม่มีการตกออกหรือตกออกน้อยที่สุด” กลายเป็นตัวบ่งชี้ว่าสถาบันการศึกษาเหล่านี้มีคุณภาพ ดังนั้นสถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อยจึงพยายามช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้สอบผ่าน เช่น ถ้านักเรียนสอบตกมากๆ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจให้มากขึ้นเพื่อให้สอบผ่าน กลับกลายเป็นการเรียกเด็กมาใช้งานอย่างอื่น เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน หรือหลับตาเสียหนึ่งข้างเพื่อให้เด็กสอบผ่านจะได้ไม่เป็นภาระของโรงเรียนในการประกันคุณภาพการศึกษา

              ข้อมูลที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีจากประสบการณ์ของผู้เขียนก็คือ นักเรียนชั้น ม.6 ในอำเภอรอบนอกมักจะได้เกรดเฉลี่ยเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระดับ 3.50 ขึ้นไปเป็นจำนวนมาก หลายครั้งมากกว่าโรงเรียนประจำจังหวัดด้วยซ้ำ ซึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่น่ายินดีหากโรงเรียนรอบนอกเหล่านั้นมีคุณภาพตามมาตรฐานการประเมิน แต่พบว่าเมื่อลองถามคำถามรอบตัว อาทิ ประเทศเขมรกับกัมพูชาคือประเทศเดียวกันหรือคนละประเทศ เด็กซึ่งได้เกรดเฉลี่ยน 3.50 กลับตอบว่าคนละประเทศแม้แต่คำถามง่ายๆ ทางภูมิศาสตร์ที่ว่าประเทศพม่าอยู่ติดกับจังหวัดอะไรบ้าง คำตอบที่ได้รับจากนักเรียนจำนวนไม่น้อยก็คือติดกับจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ!

              ประการที่สามการมุ่งเน้นเฉพาะผลลัพธ์นี้เอง ทำให้กลายเป็นการปลูกฝังค่านิยม “เอาง่ายเข้าว่า” ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่ในระดับการศึกษา การเอาง่ายเข้าว่าจะทำให้เด็กพยายามทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องมากที่สุด ขณะที่เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยเราก็พบว่าโครงการจ่ายครบจบแน่ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกเพียงเพื่อตอบสนอง “อะไรก็ได้ที่ง่ายๆ แล้วได้ปริญญา” จึงได้ระบาดไปทั่วประเทศ ดังนั้นเมื่อการปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้เกิดขึ้น จึงกลายเป็นต้นทางของการทุจริตในด้านอื่นๆ เช่น จะทำอย่างไรให้โครงการสร้างถนน ขุดท่อ สร้างตึก ฯลฯ ได้รับการอนุมัติง่ายๆ จะใชัวิธีการง่ายๆ แบบไหนบ้างที่จะผ่านการสอบคัดเลือก หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อยในสังคมเช่นจะทำอย่างไรให้รอดพ้นจากการตรวจใบขับขี่หรือหมวกกันน็อกของตำรวจจราจรได้ง่ายๆ เป็นต้น โดยไม่สนใจว่าวิธีการได้มาจะเป็นอย่างไร

              คำถามต่อมาก็คือ ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของเราสรุปแล้วช่วยประกัน “คุณภาพการศึกษา” ได้จริงหรือ?

              เช่นเดียวกับนิสัยการศึกษาของสังคมไทยที่เน้นผลลัพธ์และการเอาง่ายเข้าว่า การประกันคุณภาพการศึกษาจึงมัวสนใจแต่การตรวจอะไรก็ตามที่ดูจะเป็นผลลัพธ์จนมีคำพูดติดปากกันว่า “การตรวจกระดาษ” เช่น ได้ตั้งคณะกรรมการโครงการหรือยัง มีปรากฏในรายงานการประชุมหรือไม่ นักเรียนนักศึกษาประเมินผลรายวิชาได้คะแนนเท่าไหร่ มีเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์หรือไม่ มีการตกออกของนักเรียนนักศึกษาในแต่ละปีจำนวนเท่าใด หรือแม้แต่มีการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualifications Framework for Higher Education) หรือมคอ. หรือยังถ้ามีสถาบันสอบผ่าน ถ้าไม่มีก็สอบตก เป็นต้น

             ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อการประกันคุณภาพมุ่งแต่ความอยากรู้ผลลัพธ์ด้วยการตรวจเพียงแผ่นกระดาษ ดังนั้นกระบวนการเอาง่ายเข้าว่าของการได้แผ่นกระดาษที่ดูว่าเสมือนมีคุณภาพที่ดีที่สุดจึงอาจจะไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นของวิธีการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษานั้นๆ ขณะเดียวกันผลจากการประกันคุณภาพการศึกษาทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งนับตั้งแต่ชั้นปฐมวัยใช้วิธีคิดทางการตลาด (Marketing) เช่น การติดไวนิลประชาสัมพันธ์ผลงานของสถาบัน (เพราะในคู่มือประกันคุณภาพบอกว่าต้องมีการป่าวประกาศ) การติดธงชาติอาเซียนตรงกำแพงและป้ายชื่อโรงเรียนเพื่อให้ดูว่าเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมสู่ “อาเซียน” หรือการจ้างชาวต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษเพียงเพื่อให้ดูว่ามีฝรั่งมาสอนภาษาต่างประเทศแล้ว ทั้งๆ ที่ฝรั่งซึ่งไปลงทุนจ้างมาอาจไม่เคยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการเลยก็ได้

              เหล่านี้สะท้อนปัญหาการเน้นผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ เพื่อตอบโจทย์ที่ต้องการประกัน “คุณภาพ” การศึกษาหรือไม่?

              มิพักที่จะกล่าวถึงความวุ่นวายของผู้สอนซึ่งแทนที่จะเอาเวลาไปเตรียมเนื้อหาที่มีคุณภาพ เตรียมกระบวนการสอนที่มีคุณภาพ หรือเตรียมตรวจงานนักเรียนนักศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพกลับต้องมาวุ่นวายกับการสร้างกระดาษที่มีคุณภาพให้คณะกรรมการตรวจประเมินได้อ่านอันเป็นปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจาก “ภาระงานสอนปกติ” นับทวีคูณ เช่นนี้แล้วเราจะคาดหวังอะไรการประกันคุณภาพการศึกษา

              คำถามสุดท้ายก็คือ “เราจะแก้ไขปัญหาด้านการประกันคุณภาพนี้ได้อย่างไร?”

              ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ได้นำเสนอไปไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีการพูดถึงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ขณะเดียวกันเราก็มักจะตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อผลการจัดอันดับการศึกษาตกต่ำลงทุกๆ ปี แต่แล้วก็เลือนหายไป ดังนั้นหากคำถามที่เกิดขึ้นว่าการประกันคุณภาพจำเป็นหรือไม่ คำตอบที่อาจจะได้รับก็คือยังอาจจะจำเป็นบ้างในแง่ของความพยายามกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน แต่มิได้หมายความถึงการเข้าไปทำตัวเสมือนคุณพ่อรู้ดีที่จะสามารถเข้าไปจัดการในทุกๆ เรื่องได้ โดยนัยนี้ปัญหาคุณภาพทางการศึกษาจึงไม่ใช่แค่การมองว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีคุณภาพหรือไม่ แล้วมุ่งไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น จัดกระทรวง ทบวง กรม สำนักงานใหม่ การสร้างโอกาสในการเลื่อนระดับของครู (อันนำไปสู่ธุรกิจรับทำผลงานทางวิชาการตามมา) การสร้างผลตอบแทนความก้าวหน้าของผู้สอนใหม่ หรือเรื่องปลีกย่อยเช่นทรงผมแบบไหนจึงเหมาะกับนักเรียน ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นเปลือกทางการศึกษามากกว่าแก่นที่หมายถึงกระบวนการเรียนรู้และวิธีคิดของผู้เรียนซึ่งควรจะถูกตั้งคำถามมากกว่า จึงไม่แปลกเมื่อมีนักเรียนเพียงไม่กี่คน (อันที่จริงนักเรียนแบบนี้ก็มีจำนวนจำกัดมากในประเทศไทยอยู่แล้ว) ออกมาตั้งคำถามต่อกระบวนการศึกษาแล้วถูกสังคมรุมประนามเสมือนหนึ่งผู้แปลกปลอมเพียงเพราะสงสัยเรื่องเครื่องแบบนักเรียนและทรงผมเท่านั้นทั้งที่ในความเป็นจริงการคิดต่างของนักเรียนมันสะท้อนคุณภาพของกระบวนการเรียนด้วยซ้ำ

              ตัวอย่างข้อสงสัยของการประกันคุณภาพการศึกษาอีกประการหนึ่งก็คือ ความสนใจเรื่องคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ซึ่งหากพิจารณาเพียงแค่ว่ามีหรือไม่มีตามความคาดหวังผลลัพธ์อย่างเดียวอาจดูไม่เป็นประเด็น ทั้งๆ ที่หากพิจารณารายบุคคลพบว่าหลายโรงเรียนนับตั้งแต่ระดับปฐมวัยนิยมตั้งนักการเมืองท้องถิ่นและ/หรือนักธุรกิจท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยเข้าเป็นกรรมการสถานศึกษา ไม่น่าแปลกใจหากสถาบันการศึกษาเหล่านั้นอยู่ในระดับอาชีวศึกษาขึ้นไปเพราะการเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจเสมือนหนึ่งการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ แต่การที่โรงเรียนระดับปฐมวัยไม่น้อยนำนักการเมืองท้องถิ่นและนักธุรกิจมาดูแลเอาใจใส่เรื่องการศึกษาก็สมควรถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน

             หรือแม้แต่การวิจัยทางการศึกษาเองก็ตาม การมุ่งให้ความสำคัญกับผลลัพธ์เชิงสถิติอาจจะเป็นผลดีต่อการวัดการศึกษาที่มีความขัดเจน ได้ผลลัพธ์รวดเร็ว และสามารรถวางนโยบายการศึกษาในภาพรวมได้ เช่น จะทำอย่างไรให้โรงเรียนประถมต้องสอนสอนด้วยภาษาอังกฤษครบ 100% หรือทำอย่างไรให้ครูจบปริญญาโท 99.99%ในขณะเดียวกันข้อมูลเชิงสถิติกลับไม่สามารถตอบประเด็นคุณภาพทางการศึกษาในลักษณะที่จำเพาะเจาะจงลงและต้องใช้วิธีการศึกษาเนิ่นนานบางครั้งนับชั่วอายุคนได้ เช่น ทำอย่างไรให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้แก่เด็กชั้นมัธยมศึกษาในต่างจังหวัด หรือจะส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชายขอบได้อย่างไรบ้าง โดยนัยนี้กระบวนการวิจัยทางการศึกษาซึ่งนิยมวัดผลลัพธ์จากตัวเลขเชิงสถิติจึงอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนใหม่สู่การวิจัยเชิงคุณภาพทางการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เฉพาะพื้นที่ให้มากขึ้น

              ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การประกันคุณภาพการศึกษาในปัจจุบันจึงยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประกัน “คุณภาพ” การศึกษาที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อเรามุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงโครงสร้างซึ่งเน้นผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ ขณะที่การจัดลำดับการศึกษากลับเน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์เราจึงอยู่ในลำดับท้ายที่สุด

             จนบางครั้งทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อไปว่านโยบาย “อะไรก็ได้ที่ง่ายๆ แล้วได้ผลลัพธ์เร็วๆ” มาจากส่วนไหนในโครงสร้างของประเทศนี้?

..............

(หมายเหตุ : การประกัน'คุณภาพ'การศึกษา? : กระดานความคิด โดยบุณยสฤษฎ์ อเนกสุข มหาวิทยาลัยนเรศวร [email protected])

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ