คอลัมนิสต์

บ้านหนองกุงพ.ศ.2556

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บ้านหนองกุงพ.ศ.2556 : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา


              ปลายเดือนมีนาคม น้องชายผ่านไปทางสกลนคร จึงแวะไปที่บ้านหนองกุง แล้วก็ถ่ายรูปมาฝาก 5-6 ภาพ มันเป็นภาพระหว่างการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน "จิตร ภูมิศักดิ์" ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤษภาคมศกนี้

              ภาพแผ่นป้ายสีเหลือง เขียนตัวหนังสือโตๆ "ถนนอนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์" โดดเด่นอยู่ทางเข้าหมู่บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ถนนสายนี้ ดำเนินการจัดสร้างโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

              นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจารึกประวัติศาสตร์สามัญชนชื่อ "จิตร ภูมิศักดิ์"

              5 พฤษภาคม 2547 ปานชัย บวรรัตนปราณ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ร่วมกับ อบจ.สกลนคร และ อบต.คำบ่อ (ปัจจุบันยกระดับเทศบาลตำบลคำบ่อ) ได้นำงบผู้ว่าฯ ซีอีโอ มาดำเนินการปรับภูมิทัศน์บริเวณที่จิตร ถูกยิงเสียชีวิต ด้วยการสร้างศาลาพักร้อน ห้องน้ำ พร้อมกับสร้างรูปปั้นจิตรแบบครึ่งตัวไว้บริเวณตอไม้แดง (เล่ากันว่าร่างของเขาถูกเผาตรงจุดนี้)

              นับจากวันนั้น "จิตร" ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าของหมู่บ้านหนองกุง และทุกวันที่ 5 พฤษภาคม อบต.คำบ่อและชาวหนองกุง จะร่วมกันจัดงานรำลึกวันจากไปของจิตร ราวกับงานประจำปีของหมู่บ้าน

              เมื่อนึกถึงวันที่ผมเข้าไปที่บ้านหนองกุงครั้งแรกเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ก็รู้สึกดีใจระคนประหลาดใจ เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ใช่ "หมู่บ้านพื้นฐาน" ของเขตการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

              ใครเล่าจะคิดว่าอยู่มาวันหนึ่ง ชาวหนองกุงต้องมาจัดงานรำลึกวันเสียชีวิต "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์" คนหนึ่งที่ถูกล้อมยิงโดยฝีมือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนประจำอำเภอวาริชภูมิ และหัวหน้าชุดปราบปรามครั้งนั้น ก็ได้รับการเชิดชูยกย่องจากรัฐบาลสมัยนั้น

              ปี 2529 ผมต้องการสืบรู้เรื่องราวการเสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ด้วยบ้านหนองกุงเคยเป็นหมู่บ้านต้านคอมมิวนิสต์ ผมจึงปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่นักพัฒนาสังคมมาเก็บข้อมูลเรื่องประชากร เพื่อลดความหวาดระแวงจากชาวหนองกุง ซึ่งโชคดีมีเพื่อนเป็นครูอยู่แถวนั้นช่วยเป็นคนนำทาง จึงทำให้เรื่องเล่า "เขาตายที่ชายป่า" ถูกเรียบเรียงใหม่ในหนังสือชื่อ "วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์"

              ถ้าวันนั้น ผมไม่ปลอมตัวเข้าไปในบ้านหนองกุง ก็คงไม่ได้พูดจากับ "กำนันแหลม" คำพล อำพน อดีตมือปราบคอมมิวนิสต์ยุค 2508-2524 และภาพที่ผมถ่ายกำนันแหลมไว้ในวันนั้น ก็เป็นภาพเดียวจริงๆ เพราะหลังจากวันนั้น กำนันก็ไม่เคยให้ใครพบหน้าอีกเลย

              5 พฤษภาคมปีนี้ มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ โดยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นประธาน จะจัดงานเปิดอนุสรณ์สถาน "จิตร ภูมิศักดิ์" ในโอกาสครบรอบ 47 ปีแห่งการจากไปของจิตร

              ที่สำคัญ จะมีการนำรูปหล่อของจิตร ภูมิศักดิ์ แบบเต็มตัวไปตั้งในบริเวณดอนหัวนาจารย์รวย ทดแทนรูปปั้นเดิม ซึ่งขั้นตอนหล่อ bronze จากต้นแบบหุ่นขี้ผึ้งโดย สันติ พิเชฐชัยกุล ศิลปินนักปั้นระดับโลก ใกล้เสร็จแล้ว

              ผู้ใดสนใจจะไปร่วมกิจกรรมนี้กับอาจารย์ชาญวิทย์ ก็ขอเชิญร่วมเดินทางภาคสนาม "รำลึกอนุสรณ์ จิตร ภูมิศักดิ์ ณ ชายป่า บ้านหนองกุง สกลนคร เส้นทาง ภูเพ็ก-พระธาตุเชิงชุม-พระธาตุนารายณ์เจงเวง" วันเสาร์ 4-จันทร์ 6 พฤษภาคม 2556 (3 วัน 2 คืน) โดยมีวิทยากรร่วมคณะอาทิ สมฤทธิ์ ลือชัย, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และอัครพงษ์ ค่ำคูณ (เดินทางโดยรถโค้ชปรับอากาศ ผู้ใหญ่ท่านละ 6,500 บาท)

              รายได้สมทบทุนกองทุนอนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์ จัดโดยมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โครงการระดมทุนฯ คลิก FB แฟนเพจ "จิตร ภูมิศักดิ์ อนุสรณ์ ณ ชายป่า บ้านหนองกุง"

              ผ่านไปแล้ว 47 ปี เรื่องเล่าของชายแปลกหน้าที่ชายป่า ก็ยังไม่เลือนหายไปจากสังคมไทย และเขากลายเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่นผู้ไทหนองกุงแบบเหลือเชื่อ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ