คอลัมนิสต์

Drone Attack:การโจมตีแบบไม่พลีชีพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Drone Attack: การโจมตีแบบไม่พลีชีพ : วิถีโลกมุสลิม โดยศราวุฒิ อารีย์


               ระยะหลังปฏิบัติการโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “โดรน” (Drone) เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายในโลกมุสลิม สหรัฐเริ่มใช้ดรอนถล่มเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นยุคของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช พอมาถึงสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา โดรนก็ถูกใช้มากขึ้นในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากอัฟกานิสถานแล้ว โดรน ยังถูกใช้ในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิรัก ปากีสถาน เยเมน อียิปต์ บอสเนีย เซอร์เบีย โซมาเลีย ซูดาน ลิเบีย หรือแม้แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์

               ความจริงเรื่องอากาศยานไร้คนขับไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มมีการพัฒนากันเรื่อยมาเพื่อเอามาใช้ในการสอดแนมและสำรวจพื้นที่เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยจุดเด่นที่ทำให้ลดการสูญเสียนักบิน ใช้ระบบที่ไม่ซับซ้อนมากนัก มีขนาดเล็กคล่องตัวสูง และทำการตรวจจับได้ยาก จึงมีการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับที่ทันสมัยขึ้น และใช้ในภารกิจที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การค้นหาเพื่อชี้เป้าโจมตีทางอากาศ การสำรวจพลังงานและทรัพยากร ฯลฯ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นโดรนที่ใช้ในภารกิจจู่โจมทางอากาศด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเพิ่งถูกนำมาใช้จริงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง

               ลักษณะปฏิบัติการและเป้าหมายการโจมตีในช่วงที่ผ่านมามีความน่าสนใจอยู่หลายประการคือ

               1.หากดูจากประเทศที่นำโดรนมาใช้ในการโจมตีนอกเขตแดนประเทศตน จนถึงขณะนี้มีอยู่ 3 ประเทศคือ สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล ซึ่งนอกจากจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสามารถด้านการพัฒนาด้านเทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว ยังเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกันและมีอิทธิพลสูงในเวทีการเมืองโลก

               2.หากดูจากกลุ่มหรือประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มประเทศมุสลิมเกือบทั้งหมด แม้กรณีฟิลิปปินส์จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่เป้าหมายการโจมตีก็เป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิมในพื้นที่ที่มีมุสลิมอยู่หนาแน่น อีกทั้งเหตุของการโจมตีก็มีอยู่ 2 ลักษณะคือ ใช้เพื่อทำสงครามระหว่างประเทศเพื่อโค่นอำนาจรัฐของอีกประเทศหนึ่ง เช่น อัฟกานิสถาน อิรักและล่าสุดคือลิเบีย กับใช้เพื่อโจมตีเป้าหมายกลุ่มขบวนการติดอาวุธมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชีดำให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย

               3.การโจมตีทางอากาศโดยใช้โดรนมีความถี่มากขึ้นและขยายวงออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั้งเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะอัฟกานิสถานประเทศเดียวในปี 2012 สหรัฐใช้โดรนโจมตีมากถึง 333 ครั้ง เฉลี่ย 28 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เมื่อรวมถึงการใช้โดรนของอังกฤษในการโจมตี ทำให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ถูกโดรนโจมตีมากที่สุดในโลก

               4.ในแง่ของผลกระทบจากการถูกโจมตีที่เกิดขึ้น นอกจากสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธที่เสียชีวิตแล้ว ปฏิบัติการส่วนใหญ่ยังทำให้พลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามตายกันไปเป็นจำนวนมาก เหตุผลหนึ่งก็เพราะการโจมตีทางอากาศไม่สามารถแยกแยะระหว่างผู้บริสุทธิ์กับกลุ่มติดอาวุธได้ เราะห์มาน มาลิก (Rahman Malik) รัฐมนตรีมหาดไทยปากีสถานให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่มีการใช้โดรนโจมตีปากีสถานจนถึงเดือนกันยายน 2012 มีคนตายไปแล้วประมาณ 2,500-3,000 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นพลเรือน ในจำนวนนี้ 174 คนเป็นเด็ก มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ทำให้สมาชิกระดับแกนนำของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมเสียชีวิต

               ข้อมูลจาก Brokers Institute เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราส่วนพลเรือนที่ตายจากการโจมตีด้วยโดรนในอัฟกานิสถานมีสูงกว่าสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายมาก โดยตั้งแต่ปี 2005-2010 มีคนตายจากปฏิบัติการแบบนี้สูงถึง 2,043 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือนทั้งเด็กและผู้หญิง ขณะเดียวกัน ศูนย์สิทธิมนุษยชนปาเลสไตน์ก็รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2006-2011 อิสราเอลใช้โดรนถล่มกาซาจนทำให้ชาวปาเลสไตน์ตายไปแล้ว 285 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

               ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ โดรนจึงเป็นวิธีการโจมตีแบบไม่พลีชีพของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อที่จะสร้างนักโจมตีแบบพลีชีพในหมู่คนอีกกลุ่มหนึ่งให้เพิ่มมากขึ้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ