คอลัมนิสต์

ถอนไม่ถูกจังหวะ..จะเข้าทางเขมร!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถอนไม่ถูกจังหวะ..จะเข้าทางเขมร! : ขยายปมร้อน โดยทีมข่าวความมั่นคง

                เสร็จสิ้นไปแล้วพิธีปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จำนวน 2 กองร้อย เพื่อเข้าไปทดแทนกำลังทหารบริเวณพื้นที่พิพาทรอบเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ จำนวน 2 กองร้อย โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นประธาน ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และพล.ท.จีระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพภาคที่ 2
 
                ขณะที่ฝั่งกัมพูชาก็ประกอบพิธีในลักษณะเดียวกัน โดยมี พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยจัดขึ้นที่กองบัญชาการสันติภาพ หรือด้านหลังปราสาทพระวิหาร โดยปรับกำลังทั้งสิ้น 485 นาย และนำกำลังตำรวจ 250 นาย และชุดรักษาความปลอดภัยปราสาทพระวิหารอีก 200 นาย ทดแทนจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 80 นาย
 
                ภาพที่กัมพูชาแอ็กชั่นถอนทหารในวันนี้ ดูจะเหนือฝ่ายไทย เพราะมีภาพรถยีเอ็มซีขนทหารออกจากพื้นที่เป็นขบวนยาว คล้ายจะแสดงให้เห็นว่า กัมพูชามีความตั้งใจที่จะถอนทหารจริงๆ แต่การข่าวฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการขนทหารออกมาพักชั่วคราวเท่านั้น
 
                หน่วยข่าวความมั่นคงของไทยชี้ว่า แม้แต่การปรับกำลังในครั้งนี้กัมพูชาก็ยังคงใช้กำลัง "ทหาร" ตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนสีเสื้อจาก "สีเขียว" มาเป็น "สีขาว" รวมถึงชุดรักษาความปลอดภัยปราสาทพระวิหารก็ยังคงใช้กำลังทหาร เพียงแต่เปลี่ยนมาสวม "ชุดพลเรือน" เท่านั้น
 
                การเดินเกมในครั้งนี้ของกัมพูชาจึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่า หลังจากนี้จะมีการลับ-ลวง-พราง อีกหลายยก แต่ถึงอย่างไรไทยก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) แบบมิอาจหลีกเลี่ยงได้
 
                แต่ก็ต้องยอมรับว่า การถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทถือว่า "เข้าทาง" ฝ่ายกัมพูชา ที่พยายามชี้ให้ศาลโลกเห็นว่า ไทยเป็นฝ่ายรุกรานก่อน และพยายามกดดันทุกทางเพื่อให้ไทยปฏิบัติตามมติของศาลโลกในการถอนทหาร เมื่อมาถึงจุดนี้นับว่า การเดินเกมของกัมพูชาประสบผลสำเร็จไม่น้อย
 
                นอกจากนี้การเยือนกัมพูชาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ก็ถูกจับตามองอย่างมากว่า จะส่งผลกระทบต่อการปักปันเขตแดนในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แค่ไหน
 
                ความหวาดระแวงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะผลประโยชน์ด้าน "พลังงาน" ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ส่งผลให้การปักปันเขตแดนที่เขาพระวิหารกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง
 
                ทั้งนี้ ช่วงเวลาหลังจากนี้จะเป็นการต่อสู้คดีของทั้ง 2 ประเทศในการส่งรายงานชี้แจงรายละเอียดต่อศาลโลก เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 ที่กัมพูชาผู้ร้อง ให้ตีความคำพิพากษาเดิม และได้ส่งรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2555
 
                ส่วนฝ่ายไทยได้ส่งรายงานชี้แจงไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ซึ่งฝ่ายไทยมีการขอให้การไต่สวนแบบ Oral hearing คือ การนั่งฟังการไต่สวน โดยศาลโลกเปิดให้ดำเนินการไต่สวนในช่วงเดือนเมษายน 2556 และคาดว่าจะมีคำตัดสินในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2556
 
                ด้าน รศ.ดร.ปณิธาณ วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการปรับกำลังทหารครั้งนี้ว่า เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงที่เรายอมรับคำสั่งของศาลโลก ที่ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกันตามแนวชายแดน ซึ่งถือเป็นคำสั่งที่ต้องปฏิบัติตาม แต่ในการปฏิบัติตามคำสั่งต้องระมัดระวังอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ
 
                1.การปรับกำลังต้องมีความเท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ 2.ต้องให้ความมั่นใจว่า กำลังที่ปรับเข้าไปแทนเป็น "ตำรวจ" จริงๆ ไม่ใช่เป็นทหารสวมชุดตำรวจ
 
                "หากเป็นทหารสวมชุดตำรวจจะถือว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เพราะทหารมีความคุ้นเคยในพื้นที่มานาน รู้จักภูมิประเทศเป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้มีความได้เปรียบเมื่อเกิดการปะทะ และหากกำลังของเราเป็นตชด. หากอีกฝ่ายนำคนบุกรุกเข้ามาเพิ่มเติม ต้องยอมรับว่าความสามารถในการผลักดันย่อมมีน้อยกว่าทหาร"
 
                รศ.ดร.ปณิธาน เตือนด้วยว่า การปรับกำลังทหารถือเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย เช่น หากถอนในช่วงที่มีการปะทะก็ถือว่ามีความเหมาะสมเพื่อลดข้อขัดแย้ง แต่ถ้าปรับกำลังในช่วงที่ไม่มีการปะทะต้องระมัดระวังว่าอีกฝ่ายจะเอาไปอ้างได้ว่า เรายอมรับในอธิปไตยของเขา จึงมีการถอนกำลังออกจากพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้
 
                ส่วนประเด็นที่ยังมีชาวกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนนั้น เขามองว่า หากเรายึดตามเอ็มโอยูปี 2543 ที่ยืนยันว่า ผู้ที่เข้ามาคือผู้บุกรุก และเข้ามาภายหลังคำตัดสินของศาลโลก และกระทรวงการต่างประเทศทำการประท้วงอย่างสม่ำเสมอก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ปัญหาคือ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการประท้วงบ้างหรือไม่
 
                "ประเด็นที่เขายื่นตีความคือ ให้ศาลตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ซึ่งศาลไม่สามารถพิพากษานอกเหนือจากประเด็นที่ร้องได้ จึงไม่ส่งผลต่อพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าเราไม่ประท้วงที่เขาบุกรุกเข้ามา ต่อไปในอนาคตอาจเป็นช่องทางให้เขาใช้เป็นข้ออ้างปิดปากว่าเรายอมรับอธิปไตยของเขาได้"
 
                นอกจากนี้ยังต้องระวังไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนอย่างเด็ดขาด เพราะจะกลายเป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการต่อสู้คดีได้


.........

(หมายเหตุ : ถอนไม่ถูกจังหวะ..จะเข้าทางเขมร! : ขยายปมร้อน โดยทีมข่าวความมั่นคง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ