คอลัมนิสต์

อวสาน'บ้านใหญ่'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อวสาน'บ้านใหญ่' : มนุษย์สองหน้า โดย แคน สาริกา

              สำหรับคอการเมืองเมืองดอกบัว คงไม่ประหลาดใจในชัยชนะของ ชาญ พวงเพ็ชร์ ที่ยึดเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี สมัยที่ 3 ได้เป็นผลสำเร็จ
 
               เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น "นายกชาญ" ยังเป็น "ส.จ.ชาญ" เข้าๆ ออกๆ "บ้านใหญ่" ในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นเครือข่ายตระกูล "หาญสวัสดิ์"
 
               ปี 2547 ส.จ.ชาญ ร่วมมือกับเพื่อน ส.จ.สายบ้านใหญ่ และ ส.ส.ปทุมธานี พรรคไทยรักไทย ก่อตั้ง "กลุ่มปทุมรักไทย" ลงสนามการเมืองท้องถิ่น ด้วยกระแสประชานิยมไทยรักไทย ทำให้ "ชาญ" ได้เป็นนายก อบจ.สมัยแรก
 
               ปี 2551 การเมืองระดับชาติพลิกผัน "นายกชาญ" หักบ้านใหญ่ ด้วยการจับมือกับเพื่อน ส.จ. กลุ่มปทุมรักไทย และพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามพรรคพลังประชาชน คว่ำ "หลานสาว" ของตระกูลหาญสวัสดิ์ ส่ง "ชาญ" ขึ้นเป็นนายก อบจ.สมัยที่ 2
 
               ตระกูล "หาญสวัสดิ์" ครองพื้นที่การเมืองปทุมธานีมายาวนาน อันไม่ต่างจากตระกูล "ศิลปอาชา" แห่งสุพรรณบุรี หรือ "เทียนทอง" แห่งสระแก้ว 
 
               50 ปีที่แล้ว บุญไทย หาญสวัสดิ์ เริ่มทำกิจการโรงฆ่าสัตว์ และพัฒนามาเป็นบริษัทบางกอกมีทบอล พร้อมทำโรงงานลูกชิ้น และจำหน่ายเนื้อคุณภาพป้อนโรงแรมชั้นหนึ่งจนถึงตลาดล่าง
 
               ชูชีพ หาญสวัสดิ์ ลูกชายของบุญไทย สมัยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ได้สั่งเครื่องจักรทำลูกชิ้นไปเปิดการขายที่แคลิฟอร์เนีย และขยายผลิตอาหารไทยบรรจุกล่องขาย
 
               ครั้นเรียนจบกลับเมืองไทย "ชูชีพ" ลงทุน 50 กว่าล้านขยายกิจการโรงงานผลิตลูกชิ้นใหญ่โตที่สุดในประเทศ จนได้ฉายา "เสี่ยลูกชิ้น" จากสื่อมวลชนการเมืองในช่วงหลัง
 
               นอกจากนี้ ตระกูล "หาญสวัสดิ์" ยังมีธุรกิจเดินรถประจำทาง 20 สาย และอู่ต่อรถ ในชื่อบริษัทกิตติสุนทร เดินรถระหว่างปทุมธานี-นนทบุรี และมีรถร่วม ขสมก. สาย 33 และสาย 90
 
               หลังจากก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ให้มั่นคง ทายาทของบุญไทย หาญสวัสดิ์ ก็ลงหลักปักฐานการเมือง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ
 
               เมื่อหลายสิบปีก่อน อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เขียนบทความเรื่อง "ทุนภูธร ทุนนครบาล กับการเมืองไทย" ซึ่งตอนหนึ่งได้อธิบายเรื่องพัฒนาการของทุนภูธรว่า
 
               "เมื่อโอกาสเอื้ออำนวยภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนตุลาคม 2516 นายทุนภูธรจำนวนมากกระโดดลงสู่สนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิเพียงเพื่อขยายเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับชนชั้นปกครองในกรุงเทพฯ เท่านั้น หากยังมุ่งปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับการอุปถัมภ์มาเป็นผู้อุปถัมภ์อีกด้วย..."
 
               "ชูชีพ" ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกในการเลือกตั้งต้นเดือนมกราคม 2518 โดยสวมเสื้อ "พรรคสันติชน" และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก ก่อนที่จะย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทยในการเลือกตั้งปี 2519
 
               ปี 2531 เป็นปีที่ตระกูล "หาญสวัสดิ์" ประสบความสำเร็จทางการเมืองมากที่สุด ลูกชายคนโตของบุญไทยคือ ไพบูลย์ หาญสวัสดิ์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองปทุมธานี สุนทร หาญสวัสดิ์ ลูกชายคนที่สามเป็นประธานเทศบาลเมืองปทุมธานี
 
               ชูชีพ หาญสวัสดิ์ ลูกชายคนที่สี่ ชูชาติ หาญสวัสดิ์ ลูกชายคนที่ห้า และ วาณี หาญสวัสดิ์ ลูกสาวคนสุดท้อง ได้เป็น ส.ส.ปทุมธานี สังกัดพรรคชาติไทย พร้อมกันนั้น "ชูชีพ" ขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
 
               ส่วน นิตยา หาญสวัสดิ์ สะใภ้ของบุญไทย เป็นประธานสภาจังหวัดปทุมธานี จึงเท่ากับว่าตระกูลหาญสวัสดิ์ ยึดอำนาจการเมืองเบ็ดเสร็จ จึงเป็นที่มาของคำว่า "บ้านใหญ่" ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของเมืองปทุมธานี
 
               "บ้านใหญ่-หาญสวัสดิ์" เสื่อมมนต์ลง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หอบโครงการประชานิยมเข้ามาเป็น "ผู้อุปถัมภ์ใหม่" และคนในตระกูลหาญสวัสดิ์ ที่เหลืออยู่ในแวดวงการเมือง ก็ยังต้องพึ่งพาบารมี "ทักษิณ"
 
               ชัยชนะของ "อดีตเด็กบ้านใหญ่" สมัยที่ 3 ก็ย้ำว่า อวสานบ้านใหญ่เมืองปทุมฯ มาถึงแล้ว !

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ