คอลัมนิสต์

22ธ.ค.วัน'กองเรือทุ่นระเบิด'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

22ธ.ค.วัน'กองเรือทุ่นระเบิด' เปิดวิถีนาวาขวางมรรคาไพรี! : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

                 แม้ว่าการรุกล้ำอธิปไตยและการใช้ทุ่นระเบิดจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนักก็ตาม แต่ "กองเรือทุ่นระเบิด" ยังคงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมกำลังรบให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่หลากหลายทั้งภัยคุกคามรูปแบบเดิม และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การค้ายาเสพติด การกระทำอันเป็นโจรสลัด การก่อการร้าย และภัยธรรมชาติทางทะเล เป็นต้น
   
              น.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม เสนาธิการกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ (เสธ.กทบ.กร.) กล่าวถึงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของกองเรือทุ่นระเบิดว่า เมื่อปี พ.ศ.2446 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมทหารเรือ กำหนดให้มี "กองทุ่นระเบิด" ขึ้น
   
              ต่อมา ปี พ.ศ.2485 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือดำน้ำเข้ามาวางทุ่นระเบิดบริเวณเกาะริ้น เกาะสีชัง และเกาะคราม เป็นเหตุให้เรือซิดนีย์มารู (Sydney Maru) ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในเวลานั้นถูกทุ่นระเบิดได้รับความเสียหายอย่างหนักทำให้เรือสินค้าและเรือประมง ไม่กล้าที่จะออกทะเล
   
              ทัพเรือ (หน่วยสนามของราชนาวีในขณะนั้น) จึงได้ลงคำสั่งยุทธการให้ ร.ล.จวง(ลำเก่า) ร่วมกับเรือประมงจำนวนหนึ่งเป็นหมู่เรือกวาดทุ่นระเบิด ออกปฏิบัติการระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2485-22 มกราคม 2486 นับเป็นการ "ปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดครั้งแรก" ที่มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน
   
              หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าเรือของฝ่ายเราโดนทุ่นระเบิดอีกเลย...เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงภารกิจอันสำคัญในครั้งนั้นจึงได้กำหนดเอาวันที่ 22 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองเรือทุ่นระเบิด
   
              ต่อมาประเทศพันธมิตรได้นำเครื่องบินมาวางทุ่นระเบิดในแม่น้ำเจ้าพระยา ทัพเรือจึงได้ลงคำสั่งจัดตั้งกองกวาดทุ่นระเบิดในแม่น้ำขึ้นเมื่อ 25 มกราคม 2487 และในวันที่ 29 มิถุนายน 2494 ชื่อของ "กองเรือทุ่นระเบิด" ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อมีการย้ายกองเรือจากกรุงเทพฯ ไปรวมอยู่ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในชื่อใหม่ว่า “กองเรือยุทธการ”
   
              ปัจจุบัน พล.ร.ต.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด โดยกองเรือทุ่นระเบิดไม่เคยละเลยที่จะฝึกฝน ตลอดจนเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การจัด "หมู่เรือเฉพาะกิจ" ออกสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางยุทธการด้านสงครามทุ่นระเบิดในพื้นที่ปฏิบัติการตามวงรอบถึง 2 ครั้ง
   
              ครั้งแรก ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางยุทธการในพื้นที่ท่าเรือมาบตาพุด และฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ทัพเรือภาคที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางยุทธการในพื้นที่ท่าเรือประจวบคีรีขันธ์ ท่าเรือขนอม เกาะสมุย เกาะพงัน และฐานทัพเรือสงขลา ทัพเรือภาคที่ 2 อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด
   
              ในปีที่ผ่านมาได้มีการฝึกที่สำคัญ คือ การฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธี กองเรือทุ่นระเบิด, การฝึกกองทัพเรือ 54 การฝึกร่วมกองทัพไทย 54 การฝึกผสม CARAT 2011 การฝึกภาคปฏิบัติในทะเลของหลักสูตรล่าทำลายทุ่นระเบิดสัญญาบัตร และหลักสูตรวางทุ่นระเบิดสัญญาบัตรของ กฝร.
   
              โดยเฉพาะ การฝึกต่อต้านทุ่นระเบิดภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (Western Pacific Mine Countermeasure Exercise : WP MCMEX) ครั้งที่ 4 ซึ่งกองเรือทุ่นระเบิดได้จัดหมู่เรือ ประกอบด้วย ร.ล.ลาดหญ้า และร.ล.บางระจัน โดยมี น.อ.เอกราช พรหมลัมภัก เสธ.กทบ. (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.กทบ.) เป็น ผบ.หมู่เรือ เข้าร่วมฝึก ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
   
              ด้านการช่วยเหลือประชาชน กองเรือทุ่นระเบิดยังส่งกำลังช่วยเหลือ "ผู้ประสบอุทกภัย" โดยได้จัดชุดช่วยเหลือที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย เรือยาง 4 ลำ กำลังพล 13 นาย พร้อมทั้งจัดหมวดเรือช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย เรือ กทต. 6 ลำ เรือยาง 2 ลำ และกำลังพล 47 นาย
   
              กองเรือทุ่นระเบิดยังมีแผนในการเสริมสร้าง และพัฒนาขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ อาทิ โครงการปรับปรุงเรือ ลทฝ. ชุด ร.ล.บางระจัน ที่มีแผนปลดระวางประจำการในปีงบประมาณ 2560-2561, โครงการจัดหายานกวาดทุ่นระเบิดอิทธิพลไร้คนบังคับควบคุมระยะไกล (Remote Unman Mine countermeasure Vehicle : RUMV), โครงการจัดหาทุ่นระเบิดฝึกสำหรับใช้ในการฝึกต่อต้านทุ่นระเบิด, โครงการจัดหาระบบอุปกรณ์ในการรวบรวมข้อมูลทางยุทธการในการสำรวจพื้นท้องทะเลและวัตถุใต้น้ำ รวมทั้งกำลังพิจารณาเสนอโครงการจัดหาเรือวางทุ่นระเบิด ขนาดระวางขับน้ำประมาณ 1,500 ตัน เพื่อรองรับภารกิจในการวางทุ่นระเบิด และทดแทน ร.ล.ถลาง ที่มีแผนปลดระวางประจำการในปีงบประมาณ 2563 เป็นต้น
   
              กองเรือทุ่นระเบิดได้ตระหนักถึงข้อจำกัดทางด้านงบประมาณเป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับทุ่นระเบิดในลักษณะของการ "พึ่งพาตนเอง" โดยได้ดำเนินโครงการวิจัย "ทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน" ที่มีประสิทธิภาพสูงในการปราบเรือดำน้ำในราคาไม่แพง ตรวจจับได้ยาก และเหมาะสมกับสภาพท้องทะเลไทย
   
              เสธ.กทบ.กร.กล่าวทิ้งท้ายว่า กองเรือทุ่นระเบิดจะดำรงความพร้อมในด้านสงครามทุ่นระเบิดและจะไม่หยุดที่จะพัฒนาขีดความสามารถของกำลังทางด้านสงครามทุ่นระเบิดให้พร้อมที่จะเผชิญต่อภัยคุกคามที่หลากหลายรูปแบบ สมดังอมตะคำขวัญของกองเรือทุ่นระเบิดที่ว่า “ทำศึกทุ่นระเบิด เปิดวิถีนาวา ขวางมรรคาไพรี”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ