ข่าว

พระองค์ภาฯ เสด็จเยี่ยมเรือนจำหญิงอินโดฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในฐานะทูตสันถวไมตรี UNODC ทรงร่วมหารือเลขาธิการอาเซียน

พระองค์ภาฯ เสด็จเยี่ยมเรือนจำหญิงอินโดฯ

         พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรีสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วย นายเจเรมี่ ดั๊กลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และคณะผู้บริหารระดับสูงจาก UNODC และประเทศไทยได้เข้าพบนายลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือระหว่าง UNODC และอาเซียน หลังจากการประชุมข้างต้น ได้ทรงเยี่ยมชมเรือนจำหญิงนอกกรุงจาการ์ตา ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มการปฏิรูปเรือนจำ

         การเสด็จเยือนกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซียในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางวาระการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ UNODC ในการช่วยให้ประเทศต่างๆ สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและกลไกในการสร้างความมั่นคงสาธารณะ โดย UNODC และประชาคมอาเซียนอยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาวิธีขับเคลื่อนและส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าวร่วมกันในภูมิภาค

พระองค์ภาฯ เสด็จเยี่ยมเรือนจำหญิงอินโดฯ

          ระหว่างการประชุมร่วมกับ นายลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและส่งเสริมหลักนิติธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ที่อาจตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมต่างๆ รวมทั้งการค้ามนุษย์ พระดำรัสตอนหนึ่งมีใจความว่า “กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพจะช่วยดูแลรักษาผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลและของสังคมในภาพรวม” และได้ประทานพระดำรัสต่อไปว่า “ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้น่าจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และ UNODC สามารถเข้ามาช่วยเหลือผ่านการดำเนินโครงการที่มุ่งส่งเสริมความยุติธรรมและความเท่าเทียม”
          ประชาคมอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศในภูมิภาคได้นำปัญหาซับซ้อนที่มีร่วมกันอย่างยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้ายมาสู่การเจรจา และช่วยให้เกิดกระบวนการต่อรองและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

พระองค์ภาฯ เสด็จเยี่ยมเรือนจำหญิงอินโดฯ

          นายเจเรมี่ ดั๊กลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า “UNODC รู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งในความพยายามของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ที่ร่วมกันประเมินสถานการณ์และนำเสนอปัญหาความท้าทายต่างๆ  ใน “การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ” และ “การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงเรื่องยาเสพติด” โดย UNODC มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลืออาเซียนในการจัดการกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องตระหนักด้วยว่าการจัดการกับปัญหาด้วยวิธีการเดิมอาจไม่ได้ผลเสมอไป และเราจำเป็นจะต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ และในบางครั้งอาจเป็นแนวทางที่ต้องใช้ความพยายามสูงในการแก้ไขปัญหา”
         นอกจากนี้ นายเจเรมี่ ดั๊กลาส ยังเน้นย้ำด้วยว่า อาเซียนควรพิจารณาใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โดยกล่าวว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนช่วยให้เรารู้ว่าจะต้องพุ่งเป้าไปที่ปัญหาใด ทั้งนี้แต่ละประเทศ จำเป็นต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นโดยคำนึงถึงบริบทของตน ส่วนทางUNODC ก็จะทำหน้าที่สนับสนุนการเจรจาในภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

พระองค์ภาฯ เสด็จเยี่ยมเรือนจำหญิงอินโดฯ

          ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางการใช้กลไกการหารือที่มีอยู่แล้ว คือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยเรื่องระบบยุติธรรมทางอาญา และในที่ประชุมหารือครั้งนี้ นายลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน เห็นพ้องที่จะปรับปรุงกลไกระดับอาเซียน เพื่อให้การประชุม ACCPCJ ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากอาเซียนเห็นว่ากลไกดังกล่าวเป็นประโยชน์ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยนำไปสู่การร่วมกันพัฒนาเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติได้ต่อไป

พระองค์ภาฯ เสด็จเยี่ยมเรือนจำหญิงอินโดฯ

         หลังจากนั้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงได้เข้าเยี่ยมชมเรือนจำหญิงตังเกอรัง (Tangerang) ถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้การบริหารจัดการเรือนจำในอินโดนีเซีย และเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ (ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้ต้องขังหญิง) ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศและทั่วภูมิภาค เรือนจำหญิงตังเกอรังตั้งอยู่ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงจาการ์ตา มีความสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 250 คน แต่ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังหญิงถึง 403 คน เกินความจุที่ควรจะเป็นอยู่ 61 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำแห่งนี้กว่า 86% เข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วยคดียาเสพติด ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำเป็นสถานการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเรือนจำที่อินโดนีเซียและในประเทศอื่นๆ ทั่วภูมิภาค โดยมีที่มาจากการกำหนดให้คดียาเสพติดต้องรับโทษสูงสั่งจำคุกเป็นระยะเวลายาวนาน ถึงแม้ว่าเรือนจำหญิงตังเกอรังจะประสบปัญหาข้างต้น แต่อาจกล่าวได้ว่าที่นี่เป็นหนึ่งในเรือนจำของอินโดนีเซียที่มีความมุ่งมั่นบริหารจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

พระองค์ภาฯ เสด็จเยี่ยมเรือนจำหญิงอินโดฯ

          จากการที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงงานร่วมกับ UNODC อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มจัดทำข้อกำหนดกรุงเทพ พระองค์ได้ประทานข้อคิดระหว่างการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรือนจำหญิงตังเกอรังว่า “การบริหารจัดการลักษณะทางกายภาพเรือนจำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องขยายขอบเขตไปถึงการช่วยให้ผู้ต้องขังกลับสู่สังคมด้วย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอาชีพ การสร้างโอกาสในการจ้างงาน และการให้ความช่วยเหลือภายหลังการปล่อยตัว การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติจะช่วยเป็นหลักประกันการรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของผู้ต้องขังหญิง เป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงด้วยความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจระหว่างที่ต้องโทษ ทั้งยังเป็นการสร้างสังคมที่ปลอดภัย ด้วยการเตรียมความพร้อมให้พวกเธอก้าวสู่ชีวิตนอกกำแพงได้อย่างเต็มภาคภูมิ”
          ทั้งนี้ นายเจเรมี่ ดั๊กลาส กล่าวด้วยว่า UNODC พร้อมที่จะส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อีกทั้งสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการปรับปรุงเรือนจำ ผ่านโครงการระดับภูมิภาค และอย่างที่ได้พูดคุยกับเลขาธิการอาเซียน ทาง UNODC พร้อมที่จะมีบทบาทในการช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคอาเซียนในประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับหลักนิติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่มีความซับซ้อนและมีความคาบเกี่ยวกับหลายประเทศ ส่วนการดำเนินงานด้านเรือนจำ UNODC ได้ดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ต้องขัง ตลอดจนการปฏิรูปนโยบายที่จะช่วยลดความกดดันต่อระบบราชทัณฑ์ อาทิ นโยบายเกี่ยวกับการกำหนดโทษคดียาเสพติด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ