ข่าว

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560 แก่บุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560
       เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 31 มกราคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง 
      'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560

          การนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ณ ท้องพระโรงหน้า ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 ซึ่งปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 45 ราย จาก 27 ประเทศ ดังนี้ รางวัลสาขาการแพทย์ ได้แก่ โครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) ซึ่งมี นพ.อีริค ดี. กรีน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจีโนมนุษย์แห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้แทนโครงการฯ ทั้งนี้ โครงการจีโนมมนุษย์เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ มีส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทางความรู้ที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ช่วยให้เข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่างๆ  กลไกการกลายพันธุ์ และกลไกการเกิดโรค มีความสำคัญยิ่งต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการเกิดโรคต่างๆ ทำให้สามารถเปลี่ยนจากการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ปลายเหตุ มาเป็นการวิเคราะห์ต้นเหตุ เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม 

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560

น.พ.จอห์น บี. รอบบินส์ -ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม- พญ.ราเชล ชเนียสัน -ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู. แอนเดอร์สัน จูเนียร์

       และรางวัลสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู. แอนเดอร์สัน จูเนียร์ (Professor Porter W. Anderson Jr.), น.พ.จอห์น บี. รอบบินส์ (Dr. John B. Robbins) และ พญ.ราเชล ชเนียสัน (Dr. Rachel Schneerson) จากสถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา มีผลงานในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก จากชนิดโพลีแซคคาไรด์ มาสู่ชนิดคอนจูเกต ซึ่งเป็นวัคซีนมาตรฐานปัจจุบัน รวมถึงผลงานของ ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำโครงการฮิบ อินนิชิเอทีฟ ซึ่งผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนฮิบสำหรับเด็กทุกคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของเด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
       จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ความว่า การศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น นอกจากจะต้องมีความมุมานะ อุตสาหะ อดทน และตั้งใจจริงแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และการทำงานให้ประสานส่งเสริมกัน ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศด้วย จึงจะสำเร็จเป็นประโยชน์สูงสุด ผลงานของโครงการจีโนมมนุษย์เป็นตัวอย่างอันดีของการศึกษาค้นคว้าร่วมกันในระดับประเทศ จนได้มาซึ่งข้อมูลชีวภาพขนาดใหญ่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ 
      ส่วนผลความร่วมมือและการทำงานให้ประสานส่งเสริมกันในระดับบุคคลของ ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู. แอนเดอร์สัน จูเนียร์ นพ.จอห์น บี. รอบบินส์ พญ.ราเชล ชเนียสัน และศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม ในการพัฒนาวัคซีน และการผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซชนิดบี หรือฮิบ อย่างแพร่หลาย ก็เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของประชากรโลกอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง กับโครงการศึกษาจีโนมมนุษย์ และทุกท่านที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปีนี้ ทั้งเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ผลสำเร็จจากการร่วมมือร่วมงานของท่านจะเป็นแบบฉบับอันงดงาม ให้หน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วโลกได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการร่วมมือร่วมงานกันพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขให้เจริญก้าวหน้า เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560

ดร.อีริค ดี. กรีน

       ด้าน ดร.อีริค ดี. กรีน ตัวแทนนักจิจัยโครงการจีโนมมนุษย์ เผยความรู้สึกว่า ภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานรางวัล ตัวเองได้ร่วมกับโครงการตั้งแต่แรกเริ่มในปีค.ศ.1990 ตอนนั้นมีนักวิจัยหลายประเทศมารวมกัน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าการอ่านดีเอ็นเอจะทำได้แค่ไหน และในที่สุดเมื่อ 15 ปีที่แล้วก็สามารถทำได้สำเร็จกับการอ่านดีเอ็นเอของมนุษยชาติ เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งการนำการอ่านดีเอ็นเอมาใช้รักษาในผู้ป่วยรายแรกมีราคาแพงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในสมัยนี้มีค่าใช้จ่ายเพียง 1,000 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้แพทย์สามารถเจาะเข้าไปในดีเอ็นเอของผู้ป่วยแต่ละราย นำมาซึ่งการรักษาโรคได้ผลดีและละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น
       จากก่อนหน้านี้มีการแพทย์มีการลองผิดลองถูก ผลิตยามารักษาหากไม่ได้ผลก็เปลี่ยนตัวยาไปเรื่อยๆ แต่เมื่อการวิจัยจีโนมมนุษย์ก็ยิ่งสามารถทำให้รักษาได้ถูกจุดยิ่งขึ้น โดยการศึกษานี้นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จากนี้เราสามารถเอาข้อมูลการอ่านดีเอ็นเอนำไปใช้ประโยชน์เจาะโรคร้ายต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ หรือโรคจากพันธุกรรม เอามาหาวิธีการรักษาและยาที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่นักวิจัยจะได้วิจัยต่อไป อีกทั้งสามารถนำไปใช้ในการวิจัยอ่านดีเอ็นเอแบคทีเรีย ไวรัส เพื่อจะนำไปค้นหาวิธีการรักษาโรคติดต่อร้ายแรง
       สำหรับการวิจัยโครงการนี้ เหล่านักวิจัยทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ เมื่อทำสำเร็จก็รีบเผยแพร่ออกไป กระทั่งได้รับรางวัลนี้ก็ภาคภูมิใจที่สิ่งที่ทำได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยม ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยต่อไป

       ขณะที่ ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัล เป็นรางวัลอันทรงเกียรติ มีโอกาสได้อ่านพระราชประวัติและการทรงงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รู้สึกภาคภูมิใจที่พระองค์ท่านได้ทรงงานหลายด้านเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ขอให้ตั้งเป้าหมายให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้ คนรุ่นใหม่ฉลาด สามารถเข้าถึงเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่าคนรุ่นก่อน ขอให้มุ่งมั่น ตั้งเป้าหมาย และไปให้ถึง แม้ว่าผลงานของอาจใกล้บรรลุเป้าหมาย แต่ยังมีมิติในการศึกษาโรคไม่ติดต่ออีกมาก ซึ่งยากกว่าโรคติดต่อ ขอให้ตั้งใจศึกษาค้นคว้าต่อไป
     เวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ แก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560 พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560   กัมปนาท รุดดิษฐ์-พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ -ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย-ศ.พิเศษ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ-ศุภชัย ภู่งาม

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560

ศศิ โสพิณ -ศ.นพ.ปิยะมิตร -รศ.ชนิกา ศรีธรา-รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชฯ

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560

สัมพันธ์ จารุมิลินท -ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล-พ.อ.ผศ.ดร.ดังใจ สุวรรณกิตติ- ม.ล.อนุพร เกษมสันต์

'สมเด็จพระเทพฯ' พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

         สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี ซึ่งตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 74 ราย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ