ข่าว

องมนตรีติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องมนตรีติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร

       เวลา 10.00 น. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “นิทรรศการสืบสาน ต่อยอด พัฒนา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 35 ปี การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง  วิจัย และแสดงตัวอย่างความสำเร็จ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดความมั่นคงต่อตนเอง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ศึกษาฯ ได้ทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า แสวงหาแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริและเป็นต้นแบบของการพัฒนาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีผลสำเร็จที่ได้ศึกษารวม 281 เรื่องและผลสำเร็จได้นำไปต่อยอดโดยจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่โดดเด่น จำนวน 19 หลักสูตร อาทิ การเลี้ยงโคเนื้อ ไก่ดำ สุกรภูพาน การผลิตวุ้นเส้นจากถั่วเขียว การย้อมผ้าคราม ฯลฯ ในแต่ละปีจะมีผู้สนใจเข้าอบรม ปีละกว่า 5,000 คน นอกจากนี้ยังได้ขยายผลการพัฒนาไปสู่เกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและสามารถต่อยอดขยายผลเป็นศูนย์เรียนรู้ในด้านต่างๆ ถึง 32 แห่ง ในเขตพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ และอีก 36 แห่ง ในเขตพื้นที่ 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร เพื่อให้เพื่อนเกษตรกรและผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเกษตรกกรโดยตรง นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาดูงานปีละประมาณ 900,000 คน
       จากนั้น องคมนตรี พร้อมคณะอนุกรรมการ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการภายในบริเวณงาน ซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการหลักการทรงงาน ภาพการเสด็จพระราชดำเนินก่อนและหลังกำเนิดศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นิทรรศการผลสำเร็จด้านต่างๆ พร้อมผลงานที่โดดเด่น อาทิ ผ้าย้อมคราม 3 ดำมหัศจรรย์ การเลี้ยงปลากดเหลือง รวมถึงการต่อยอดขยายผลจากการพัฒนา คือการสร้างรายได้ให้เกษตรจากเห็ด โดยการนำเชื้อเห็ดป่าหยอดลงในกล้าไม้ยางนา ในลักษณะให้พึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงการน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบของการจัดแสดงนิทรรศการ ตามรอยพ่อสู่ความพอเพียง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์และสินค้าการเกษตรจากเกษตรกรที่นำมาจำหน่ายในครั้งนี้อีกด้วย

       จากนั้นองคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโท-ห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ตรวจเยี่ยมโครงการฯ และพบปะเกษตรกรและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯ
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโท–ห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านโพนงาม และหมู่บ้านต่างๆ ตำบลหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และทอดพระเนตร บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโท ในเขตบ้านโพนงาม ตำบลหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และบ้านห้วยยาง ตำบลเหล่าโพนค้อ กิ่งอำเภอ โคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2527 พร้อมกันนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานความว่า  ควรพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโท โดยเร่งด่วน และสร้างอ่างเก็บน้ำที่บริเวณลำห้วยข้างเคียงต่อไปตามความเหมาะสม ตามแผนที่พระราชทานที่แนบ เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของหมู่บ้าน ต่างๆ ทั้งในเขตตำบลหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และในเขต ตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และน้ำเพื่อช่วยเหลือ ราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ดังกล่าว สำหรับอุปโภค-บริโภค ได้ตลอดทั้งปีอีกด้วยสำหรับอ่างเก็บน้ำที่จะก่อสร้าง นั้น ควรพิจารณาสร้างให้มีขนาดใหญ่ตามที่สภาพภูมิประเทศและสภาพส่งน้ำจะอำนวยให้ให้มากที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากต้องการน้ำช่วยเหลือ จากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ประเภทเขื่อนดิน มีขนาดสันเขื่อนกว้าง 6.00 เมตร ยาว 1,115.00 เมตร สูง 18.40 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 9,100,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2529 สามารถส่งน้ำให้ราษฎร ในเขตตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร จำนวน 7 หมู่บ้าน และในเขตตำบลหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม จำนวน 4 หมู่บ้าน  ครอบคลุมพื้นที่ 6,200 ไร่ สนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในฤดูฝน ปี 2559 จำนวน 6,200  ไร่ และสนับสนุนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ปี 2558/2559 รวม 331 ไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 30 ไร่ พืชไร่ 181 ไร่ พืชผัก 116 ไร่ บ่อปลา 4 ไร่ ชาวบ้านมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับรวมตัวจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นในเขตตำบลเหล่าโพนค้อ 7 หมู่บ้าน จำนวน 2 กลุ่ม และในเขตตำบลหนองบ่อ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม 4 หมู่บ้าน จำนวน 1 กลุ่ม รวมพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 6,200 ไร่ มีสมาชิกกลุ่ม ผู้ใช้น้ำรวม 677 คน 
ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโท-ห้วยยางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้พลิกชีวิตของชาวบ้าน ห้วยยางที่เคยแร้นแค้น ไม่มีอาชีพและใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ในการประกอบอาชีพเพาะพันธุ์กล้าไม้ชนิดต่าง ๆ จนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กล้าไม้เป็นที่รู้จักทั่วไป มีรายได้ที่มั่นคง ชุมชนมีความมั่นคงจึงเกิดการรวมกลุ่มเพาะพันธุ์กล้าไม้ขึ้นในปี 2542 และมีความเข้มแข็งเจริญก้าวหน้าต่อเนื่องจนเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 นายหวล ยางธิสาร ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในชุมชนจึงได้จัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะพันธุ์กล้าไม้บ้านห้วยยาง” ขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 127 ราย มีการเพาะพันธุ์กล้าไม้กว่า 62 ชนิด เช่น ผักหวาน ยางนา ติ้ว มะนาว มะกรูด มะขาม ไม้หอม มะละกอ ฯลฯ มีรายได้ในการเพาะชำกล้าไม้เฉลี่ยรายละ 1 ไร่ หรือคิดเป็น 80,000-100,000 ถุง/ไร่/ราย ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 120,000-200,000 บาท/คน/ปี ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับบ้านห้วยยางได้ปีละกว่า 15,000,000-25,000,000 บาทต่อปี
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ