ข่าว

พระองค์เจ้าสิริภาฯ  ทรงบวงสรวงโครงการเขียนภาพฝาผนัง  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

พระองค์เจ้าสิริภาฯ  ทรงบวงสรวงโครงการเขียนภาพฝาผนัง  

          พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จยังวิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงประกอบพิธีบวงสรวงโครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชบรมนาถบพิตร และทรงบรรจุวัตถุมงคลในฐานพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิตณ วิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในการนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, ผู้พิพากษา, หัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่, ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่และคณะดำเนินการฯ เฝ้ารับเสด็จ

พระองค์เจ้าสิริภาฯ  ทรงบวงสรวงโครงการเขียนภาพฝาผนัง  

         เมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริจุฑาภรณ์ เสด็จถึงวิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธวนราชบพิตรและทรงศีล โดยมี เจ้าพนักงานศุภรัตอาราธนาพระปริตรและพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้น เสด็จไปทรงจุดเทียนที่ครอบน้ำพระพุทธมนต์ ทรงประเคนครอบน้ำพระพุทธมนต์แด่ประธานสงฆ์ และทรงประเคนสำรับภัตตาหารถวายพระสงฆ์ จากนั้น อาจารย์ปัญญา วิจิธนสาร ที่ปรึกษาโครงการฝ่ายจิตรกรรม กราบทูลรายงาน แล้วจึงเสด็จไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน จุดธูปที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงจุดธูปหางปักเครื่องสังเวย และโหรหลวงอ่านโครงการประกาศบวงสรวงสังเวย ก่อนจะเสด็จเข้าสู่วิหาร โดยทรงระบายสีลงในผนังวิหารเป็นปฐมฤกษ์ และเสด็จไปยังฐานที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต พระประธานประจำวิหาร ทรงพระสุหร่าย วัตถุมงคล และทรงบรรจุวัตถุมงคลในฐานพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต พระประธานประจำวิหาร ได้แก่พระพิมพ์ทั้งหมด 4 แบบ คือ พระนางพญาพิมพ์ใหญ่, พระนางพญาพิมพ์เล็ก, พระปิดตาโภคทรัพย์ และ พระปางลีลา รวมจำนวนทั้งหมด 84,000 องค์ เพื่อสืบทอดคำสอนของพระพุทธองค์ 84,000 พระธรรมขันธ์เป็นพระพุทธบูชาประดิษฐ์ในฐานพระพุทธรูปพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต และได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกันสมทบทุน บูชาพระพิมพ์บรรจุใต้ฐานพระประธานพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต พระประธานวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์

พระองค์เจ้าสิริภาฯ  ทรงบวงสรวงโครงการเขียนภาพฝาผนัง  

         และเสด็จไปยังหน้าวิหาร ทอดพระเนตรหุ่นจำลองพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต ซึ่งออกแบบโดย รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์  กองสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พุทธศักราช 2555 ซึ่งพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ มีพุทธลักษณะปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (วัชรอาสน์) เกศบัวตูมแรงบันดาลใจได้จากรูปแบบพระเชียงแสน แบบสิงห์หนึ่ง ผสมผสานกับพุทธลักษณะศิลปะสมัยคุปตะของอินเดีย ทวารวดี ศรีวิชัย และศิลปะแบบหริภุญชัย ลำพูน ประทับนั่งบนบัวหงายบัวคว่ำ ปรากฏอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. บนกลีบบัว ในตำแหน่งผ้าทิพย์เปรียบดังบัวกำลังผุด สื่อความหมายถึงการเจริญเติบโต เบิกบาน งู ที่ปรากฏบนฐานมีความหมายเปรียบดังเรื่องราวของมารผจญในพุทธประวัติ   มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง ร่วมเป็นแนวดิ่งเดียวกับองค์ประธาน อักษร พระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และนักษัตรปีเถาะ ซึ่งเป็นปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร โดยแทนความหมายของกาลเวลาและความเชื่อ 

พระองค์เจ้าสิริภาฯ  ทรงบวงสรวงโครงการเขียนภาพฝาผนัง  

         ทั้งนี้ปฏิมากรต้องการออกแบบให้พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต เป็นพระที่บ่งบอกถึงยุคสมัยในการสร้าง จึงมีความแตกต่างจากประเพณีนิยมที่เคยทำมา ส่วนฐานมีความสำคัญยิ่งเพราะในอดีต มิเคยปรากฏการออกแบบในรูปแบบนี้มาก่อน แต่ละส่วนมีความหมายสัมพันธ์กันก่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะองค์ สำหรับพระประธานวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ รายละเอียดเส้นริ้วจีวร สังฆาฏิ พลิ้วไหว สื่อความหมายถึงความเมตตาปราณี นิ่มนวล อิ่มเอิบของพระพุทธองค์ ด้านหลังปรากฏลายพระหัตถ์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นชื่อพระพุทธรูปว่า “พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต” โดยมีความหมายว่า พระพุทธปฏิมาที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงสร้างขึ้น และเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ

พระองค์เจ้าสิริภาฯ  ทรงบวงสรวงโครงการเขียนภาพฝาผนัง  

         สำหรับความเป็นมาของการบูรณะวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ เริ่มจากการร่วมมือร่วมใจบำเพ็ญกุศลวิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาโครงการบูรณะวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ ซึ่งเป็นโครงการแรกและเป็นโครงการหลักในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงเริ่มดำเนินการเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาศิลปะจาก คณะจิตกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยการตั้งพระทัยไว้ว่า ขอนำความรู้ที่ได้ศึกษามาปฏิบัติพระกรณียกิจเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม อันดีงามของชาติให้รุ่งเรืองสืบไป
          การที่พระองค์ทรงเลือกบูรณปฏิสังขรณ์วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ก่อนด้วยพระองค์ทรงเกิดปิติศรัทธาเลื่อมใส ท่านพระครูวรเวทย์วิสิทฐ์ (หลวงปู่ครูบาธมฺมขย ธมฺมขโย) ในวัตรปฏิบัติและทรงพิจารณาเห็นสภาพกำลังทรุดโทรมขาดงบประมาณการดูแลวัดหลังจากที่หลวงปู่ มรณภาพลง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เคยรับสั่งไว้ว่า “เหตุที่เลือกบูรณะวัดนี้เพราะเป็นวัดขนาดเล็กไม่ค่อยมีใครดูแล และกำลังทรุดโทรมมากแล้ว กลับดีเสียอีกที่วัดยังไม่ค่อยมีอะไร จะได้พัฒนาดั่งใจที่คิดไว้” ซึ่ง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้นำความขึ้นกราบทูล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ให้ทรงทราบ โดยตั้งพระทัยถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 
          การบูรณปฏิสังขรณ์ในเบื้องต้น ตั้งพระทัยจะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งช่างพื้นเมืองเขียนค้างไว้ยังไม่เสร็จ เมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงสำรวจจึงพบว่าอาคารของวิหารอยู่ในสภาพทรุดโทรมมากพื้นผนังไม่สามารถพยุงรักษาสภาพจิตรกรรมต่อไป พระองค์จึงมีพระดำริให้บูรณะอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมดก่อนแล้วจึงเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังใหม่ เริ่มจากการใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ส่วนแนวทางการบูรณะอาคารนั้น มีพระประสงค์ให้รักษาวัฒนธรรมเดิมซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทลื้อไว้ การเขียนภาพจิตรกรรม ฝาผนังทรงออกแบบใหม่ทั้งหมดภายในวิหารให้เป็นงานสร้างสรรค์ศิลปะล้านนาไทยแบบร่วมสมัย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และเรื่องอันเนื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรื่อง “พระมหาชนก” มาประดิษฐานเพื่อเผยแพร่คำสอนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องบุคคลเปรียบด้วยน้ำ 7 จำพวก (เป็นเรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยแต่ยังมิได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้) ในบทนี้จึงเป็นบทบันดาลใจให้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ นำมาสร้างสรรค์สืบทอดพระราชปณิธานรัชกาลที่ 9 สืบต่อไป นอกจากนี้เนื้อหาของภาพจิตรกรรมอันเนื่องในพุทธประวัติ ได้แก่ เรื่องอดีตพระพุทธเจ้าไตรภูมิจักรวาลและจักรราศี เป็นต้น
          เรื่องราวของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร แบ่งเป็น 4 ผนัง คือ 1. ผนังด้านหลังพระประธาน เรื่อง อดีตพระพุทธเจ้าและไตรภูมิจักรวาล 2. ผนังด้านข้างซ้ายมือและขวามือ ของพระประธาน เรื่องบุคคลเปรียบด้วยน้ำ 7 จำพวก และ ผนังด้านตรงข้ามพระประธาน เรื่องพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
         สำหรับพุทธศาสนิกชนสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เบอร์โทรศัพท์ 080 – 740 – 4411 และ 081 – 811 – 2221 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ