ข่าว

สมเด็จพระเทพฯ ทรงแนะ"ชาวจุฬาฯ"ต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมเด็จพระเทพฯ ทรงร่วมงาน “จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ” ทรงแนะต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์

 

               26 มี.ค.60 - เมื่อเวลา 19.00.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงาน "จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ" เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้นิสิตเก่าจุฬาฯ มาร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราช ผู้ทรงก่อตั้งและสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมทั้งร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะผู้บริหาร ผู้จัดงาน และนิสิตจุฬาฯ เฝ้ารับเสด็จ

               เมื่อสมเด็จพระราชดำเนินถึงยังบริเวณงาน ณ สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการดำเนินงานกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรบทเพลงพิเศษ "จุฬาฯ 100 ปี"และการนำเสนอสื่อผสมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณชุด "จุฬาฯ 100 ปี : ทศวรรษแห่งความภูมิใจ"

               ประกอบด้วย องก์ 1 สายธารพระมหากรุณา องก์ 2 เกริกเกียรติก้องฟ้าจุฬาฯสมัย องก์ 3 แผ่กิ่งก้านอยู่คู่เมืองไทย และองก์ 4 ดั่งธงชัยเสาหลักของแผ่นดิน ดำเนินการผลิตโดย ดร.อรุโณชา ภาณุพันธุ์ เป็นการนำเสนอเรื่องด้วยภาพ-คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ประกอบบทเพลงประจำมหาวิทยาลัย บรรเลงโดยวงดนตรีจุฬาฯ ควบคุมวงโดย ผศ.ชูวิทย์ ยุระยง ขับร้องโดยศิลปินนักร้องนิสิตเก่าจุฬาฯ และนักร้องประสานเสียงจุฬาฯ พร้อมด้วยชบวนอัญเชิญพระเกี้ยวและเครื่องสักการะ 4 ภาค รวมทั้งลีลาภาษามือโดยเชียร์ลีดเดอร์จุฬาฯ 100 คน ประกอบเพลงในหลวงของแผ่นดิน

                 สมเด็จพระเทพฯ  ทรงแนะ"ชาวจุฬาฯ"ต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์

               จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำจุดเทียนรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระปิยมหาราช สมเด็จพระมหาธีรราช รวมทั้งแสดงความอาลัยและรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทรงร่วมขับร้องเพลง "สรรเสริญพระบารมี" และเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์"

               โอกาสนี้ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาส "จุฬาฯ 100 ปี" ใจความตอนหนึ่งว่า “งานในวันนี้เป็นการอำลาศตวรรษที่แล้วของจุฬาฯ และตอนรับศตวรรษใหม่ของจุฬาฯ และเราก็ได้เห็นได้ทราบได้ศึกษามาว่าในศตวรรษแรกของจุฬานั้น เราได้ทำอะไรมีอะไรกันบ้าง ที่ชวนให้ชื่นชมและที่กำลังใจเดินก้าวต่อไปในศตวรรษต่อมา ทั้งๆ ที่ก็รู้สึกว่าน่าเสียใจที่คงจะไม่ได้เห็นศตวรรษที่ 2 จนจบ แต่ว่าเท่าที่ได้เห็นมาตั้งแต่ร่วมงานตอนเช้าก็มีงานโดยทั่วๆ ไปอย่างที่เคยจัดมา และก็ปีนี้จะได้เห็นว่า มีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเกือบ 40 มหาวิทยาลัยได้มาร่วมงานของเรา และได้ยินจากท่านอธิการบดีว่า ได้มีการปรึกษาหารือว่าในศตวรรษที่ 2 ของจุฬานั้น มหาวิทยาลัยเครือข่ายนี้จะเป็นแบบทำงานอะไรร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชาวไทยและทั้งโลก

สมเด็จพระเทพฯ  ทรงแนะ"ชาวจุฬาฯ"ต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์

               เมื่อตอนรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ก็ได้กลับไปก็อ่านหนังสือที่เขาพูดถึงว่า ในยุคต่อไปนี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทั่วโลกนั้น มหาวิทยาลัยหรือการอุดมศึกษาหรือการศึกษาระดับสูงนั้น จะเป็นเปรียบเสมือนทูตที่เชื่อมบุคคลเข้าด้วยกัน โดยที่จะเป็นผู้นำ แล้วก็จะต้องทำงานเป็นเครือข่ายเพื่อที่จะปรึกษาหารือกันว่า จะทำอะไรให้กันและกัน ผูกมิตรภาพมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

               ก่อนที่จะรับประทานอาหารกลางวันนั้นก็ได้เห็นอุทยาน 100 ปี ซึ่งน่าจะมีต้นไม้ปลูกในอุทยานและจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนจุฬาฯ และบุคคลอื่นในต่อไป ก็อาจจะน่าเสียดายอีกเหมือนกันว่าคงไม่ได้เห็นต้นไม้ที่โตเต็มที่เหมือนอย่างกับในภาพที่เขียนไว้ในสูจิบัตร แต่ก็หวังว่าจะได้เห็นที่โตที่สุดเท่าที่จะเห็นได้

               พอตอนค่ำนี้ก็ได้เห็นในสื่อผสมว่า วิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดีที่จะมองไปในอนาคตในศตวรรษที่2 นั้นจะเป็นอย่างไร การที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศแล้วก็ในโลก สอดคล้องกับที่กล่าวมาเมื่อข้างต้น มาที่นี่ได้เห็นอีกอย่างคือนิสิตเก่าก็ได้จัดกิจกรรมเพื่อที่จะหาทุนทรัพย์มาบำรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อที่จะได้เลี้ยงดูนิสิตรุ่นปัจจุบันและในอนาคตให้สามารถที่จะผลิดอกออกผลได้อย่างงดงาม แล้วก็มีการทั้งเรี่ยไรทั้งดื้อ ๆ แล้วก็มีแบบมีสิ่งของที่ระลึกเพื่อรำลึกถึงงานนี้เอาไว้ตราบชั่วชีวิต

สมเด็จพระเทพฯ  ทรงแนะ"ชาวจุฬาฯ"ต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์
 

               เมื่อก่อนที่จะมีงานนี้ได้ไปงานจุฬาฯ เอ็กซ์โปซึ่งในงานนั้นก็ปรารภกันว่า เรามีนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างมากมายแล้วก็เหมือนกับในวิสัยทัศน์ที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่า ถ้าไม่สามารถที่จะนำนวัตกรรมเหล่านั้นมาแปรให้เป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อบุคคลต่อไปก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ

               พอกลับจากนั้นได้ชักชวนเพื่อนๆ ทั้งที่จุฬาฯและไม่จุฬาฯ ที่เขามีหน่วยงานมีบริษัท ให้เขามาติดต่อทางจุฬาฯ เพื่อที่จะพูดคุยว่าสิ่งใดที่เรามีทำไว้ในมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอาจจะยังไม่สามารถที่ตั้งบริษัทแปรสิ่งเหล่านั้นเป็นโปรดักส์หรือเป็นสิ่งที่อำนวยประโยชน์ต่างๆ ได้ครบถ้วน เพราะสิ่งหนึ่งที่พวกเราที่เป็นศิษย์เก่าจะมารวมกันชักชวนกันที่จะทำในส่วนนี้ก็ตั้งแต่วันนั้นก็ได้ชวนมาหลายรายแล้ว รู้สึกว่ามีผู้สนใจกันเยอะที่จะมาดูว่าอะไรที่จะมาทำประโยชน์หรือว่า จะมีอะไรที่เขาต้องการแล้วนำมาให้มหาวิทยาลัยขบคิดหรือว่ามาช่วยกันคิดแล้วจะได้ทำสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ โดยมหาวิทยาลัยก็เป็นองค์กรเป็นศูนย์รวมของผู้มีความรู้และมีความสามารถในการที่จะคิดออกมามาก มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะสามารถทำงานทั้งหลายได้บรรลุจุดประสงค์ได้ ก็คิดว่าอันนี้ก็เป็นภารกิจของเราในช่วงต่อไป

สมเด็จพระเทพฯ  ทรงแนะ"ชาวจุฬาฯ"ต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์

               ใครคนไหนที่ใจถึงก็อาจจะมาเรียนใหม่ก็คงไม่มีใครว่า มาเรียนวิชาต่าง ๆ เพราะในปัจจุบันนี้วิชาการต่างๆ เมื่อได้กลับมาเรียนก็รู้สึกว่ามีอะไรที่ก้าวหน้าไปกว่าสมัยเราหลายอย่าง ถ้าบางคนคิดว่าจะมาเรียนอีกก็คิดว่ามหาวิทยาลัยก็คงไม่ว่าอะไร มันยังมีอะไรที่สามารถทำให้มหาวิทยาลัยอีกเยอะ

               ได้ทราบว่าวันนี้มีหลายท่านที่มากันเป็นพิเศษในงานมากกว่าที่ผู้จัดงานได้คาดการณ์ไว้ ก็เป็นเรื่องดีที่มีทุกคนมาร่วมกันแล้วก็เดี๋ยวต่อไปมีวิธีอีกหลายอย่างที่จะช่วยกันคิดช่วยกันทำ ที่จะเป็นประโยชน์อีกต่อไป คิดว่าการที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหรือสนองพระคุณก็ทำได้ด้วยเรื่องเหล่านี้ที่เราจะทำให้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

               ก็หวังว่าชาวจุฬาฯ ทุกคนจะมีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็งที่จะอยู่ได้มีความสุขความเจริญต่อไปให้เห็นจุฬาฯ ก้าวหน้านานที่สุดที่ชีวิตคนจะอยู่ได้”

สมเด็จพระเทพฯ  ทรงแนะ"ชาวจุฬาฯ"ต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ