ข่าว

สวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พร้อมถวายพระธรรมเทศนา 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระอุดมสิทธินายก รองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี วัดบางอ้อยช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ถวายพระธรรมเทศนาเรื่อง "ธัมมิกปสาสนกถา"

 

      เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 การพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นวันที่ 26 หลังเสร็จสิ้นพิธีหลวง หรือพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ถวายพระบรมศพ การนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ โดยแบ่งออกเป็น 4 รอบ เวลา 10.00 น., 14.30 น., 17.00 น. และเวลา 19.00 น. รอบละ 11 คณะ คณะละ 50 คน หมุนเวียนจนกว่าจะครบจำนวนเจ้าภาพตามที่แสดงความจำนง

      เวลา 10.00 น. หม่อมหลวงวิฏราธร จิรประวัติ ตัวแทนสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประธานบำเพ็ญกุศลและถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 10 รูป จากวัดจากจ. นนทบุรี ได้แก่ วัดบางอ้อยช้าง วัดโบสถ์ดอนพรหม วัดไผ่เหลือง วัดบางนา วัดโพธิ์เผือก วัดบ่อ วัดตะเคียน และวัดเขียน ที่สวดพระพุทธมนต์ ในการนี้พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ รับถวายภัตตาหารเพล โดยมีศิษย์เก่าสาธิตปทุมวัน รุ่นที่ 20, ศิษย์เก่าสาธิตประสานมิตร รุ่น 31, ศิษย์เก่าโรงเรียนผดุงดรุณี รุ่น 19, ชมรมนักเรียนเก่าปทุมคงคา, กลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชลาดกระบัง รุ่น 1, คณะชาวไทยในนอร์เวย์ 1-2, สมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, คณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำฯ รุ่นที่ 2, โรงเรียนวัดทัพหลวง (หลวงพ่อเกิดอุปถัมภ์), โรงเรียนเทศบาล 3 (ตลาดล่าง) ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระกุศล

       การนี้ พระอุดมสิทธินายก รองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี วัดบางอ้อยช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ถวายพระธรรมเทศนาเรื่อง ธัมมิกปสาสนกถา ความว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโดยมิอาจพรรณนาได้หมดครบถ้วน จึงขอยกมากล่าวโดยสังเขปว่า พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ทรงตั้งโรงเรียนพระดาบส โรงเรียนวังไกลกังวล และอีกมากมาย ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนไทยมีความรู้ความสามารถทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยม มีคุณธรรมสูง และได้มีโอกาสไปศึกษาวิทยาการจนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์พัฒนาบ้านเมือวให้ก้าวหน้า

        ด้านการพระศาสนา พระองค์ ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงได้รัยการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาก่อน ต่อมายังได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง และทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2499 พระองค์จึงได้ทรงแถลงพระราชดำริทีาจะบรรพชาอุปสมบทต่อมหาสมาคม อันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และคณะทูตานุทูต ความตอนหนึ่งว่า “โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสดาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชวัดเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมด้วย” จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงผนวช ณ อุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 22 ต.ค.2499 โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ระหว่างทรงผนวชได้ทรงบำเพ็ญพระราชจริยวัตรดุจพระนวกะทั่วไป ทรงศึกษาพระธรรม และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

          ด้านการปกครอง ทรงปกครองบ้านเมืองสมตามพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจักครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ทรงปกครองโดยทศพิธราชธรรม 10 ประการ อย่างยากที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสมอเหมือนได้ รวมความได้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ ชาวไทย ทรงขจัดปัญหาด้วยการพัฒนาโครงการพระราชดำริ ทรงเตือนสติด้วยการปฏิบัติพระองค์เป็นตัวอย่าง เพื่อประชาชนและประเทศไทยอย่างแท้จริง ทรงเป็นประดุจพระโพธิสัตว์มาจุติเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาราษฎรโดยแท้จริง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ