คอลัมนิสต์

ราชาแห่งราชัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เหนือบัลลังก์ราชัน ใต้ไตรรงค์ธงไทย โลกระบือไกล

กษัตราผู้เปี่ยมน้ำพระทัย ผู้ครองแผ่นดินนี้

พระทรงคอยปัดเป่า ทุกข์และความกังวล หลอมรวมใจปวงชน

ประหนึ่งดังพระนามภูมิพล มหาราชเกริกไกร

โลกต่างชื่นชมพระบารมี ล้ำศักดิ์เลิศศรีไปยังแดนไกล

สูงส่งทัดเทียมเทพไท สดุดีไว้ หนึ่งเดียวนี้

King of Kings, King of Kings

ปกครองไพร่ฟ้า ด้วยความรัก ด้วยธรรมโดยแท้จริง

King of Kings, King of Kings

ราชันผู้ยิ่งใหญ่ ก้องไปทั้งฟ้าดิน

พระทรงครองในทศพิธราชธรรม พระชี้นำให้มีใจรักและสามัคคี

King of Kings.

พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย ทุกข์พระวรกาย เพื่อปวงชนชาวไทย

ได้อยู่บนผืนแผ่นดินร่มเย็น ยั่งยืนสืบไป"

เนื้อเพลง King Of Kings ที่แต่งเนื้อร้องโดย สุรักษ์ สุขเสวี

ราชาแห่งราชัน

เนื้อเพลงคิงออฟคิงส์ บรรยายความยิ่งใหญ่และพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา การทรงงานของพระองค์เพื่อพสกนิกรกว่า 4,000 โครงการในพระราชดำริ ที่กระจายไปทั่วภูมิภาคและทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีช่องทางทำมาหากิน ทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนไว้ให้ปวงชนชาวไทย โดยทรงเข้าไปช่วยเหลือราษฎรทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ พลังงาน ด้านคมนาคม โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม แก้มลิง ที่ทรงคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างแยบผล และแนวพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ปูทางสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ และทำให้เข้าใจพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน

ราชาแห่งราชัน

นอกจากการพัฒนาประเทศตามโครงการพระราชดำริต่างๆ แล้ว ยังได้เห็นถึงความห่วงใยที่พระองค์ท่านทรงมีต่อปัญหาบ้านเมือง ทั้งในเรื่องการคอร์รัปชั่น และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกระบวนการพัฒนาต้องครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต้องพัฒนาคน และต้องอาศัยศรัทธาเป็นสำคัญ การพัฒนาจึงจะประสบความสำเร็จ พระองค์ท่านทรงเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งเล่าถึงการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ความตอนหนึ่งว่า "ทรงนำความรู้และวิชาการต่างๆ มาใช้ร่วมกัน หรือที่สมัยนี้เรียกว่า “บูรณาการ” ไม่ทิ้งแง่ใดแง่หนึ่ง อย่างเช่น เรื่องอย่างนี้ในแนววิศวกรรมศาสตร์ทำได้ แต่อาจจะไม่เหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือ เหมาะสมดีในเชิงเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไม่เหมาะสมกับความสุขหรือความเจริญก้าวหน้าของประชาชน ก็ไม่ได้"

ราชาแห่งราชัน

กษัตริย์นักพัฒนา 

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปพบประชาชนที่ทุกข์ยาก ทรงช่วยได้ก็จะช่วยทันที พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีไว้ก่อน แล้วทรงทำตามทฤษฎี อย่างทฤษฎีใหม่ หรือทฤษฎีอื่นๆ ทรงเห็นอะไรที่กระทบหรือเห็นว่ามีปัญหา ก็ทรงหาทางแก้ไข และเมื่อทำไปมากๆ ก็ออกมาเป็นทฤษฎี  ผู้ทรงงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง ทรงไม่บ่น ทรงงาน 365 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะมีเสียงวิทยุดังมาตลอด และยังมีอุปกรณ์สำหรับติดตามข่าวสารพัดอย่าง ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” คำนี้ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ที่เห็นจากพระราชกรณียกิจที่ทรงตรากตรำเพื่อปวงชนชาวไทยไม่มีวันหยุดหย่อน แม้กระทั่งในช่วงทรงพระประชวร ประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ก็ยังทรงงานเพื่อจะช่วยเหลือพสกนิกรอยู่ตลอดเวลา มีพระราชดำริแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลศิริราชที่หนาแน่นมาก ทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากพระองค์ทรงทำเรื่องการจราจรอย่างต่อเนื่องมาตลอด พระองค์จะทรงมอบหมายให้ตำรวจไปดูตามจุดต่างๆ คำนวณการเลี้ยวของรถ และสำรวจจุดจราจรที่สำคัญๆ เช่น ตามอนุสาวรีย์ สี่แยก หรือวงเวียนต่างๆ ว่าควรจะออกแบบถนนให้มีรูปร่างแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ ตรงไหนควรมีสะพาน หรือควรมีอะไร เพื่อให้การจราจรเคลื่อนตัวได้อย่างลื่นไหล 

ราชาแห่งราชัน

หรือที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ทรงโศกเศร้าโทมนัสอย่างยิ่งใหญ่ในขณะที่พระองค์ทรงสูญเสียสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ในระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงถือแผนที่ประเทศไทยติดพระหัตถ์ไปร่วมในงานพระราชพิธีพระศพ และหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีก็มีรับสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเข้าเฝ้าฯ เพื่อพระราชทานแนวทาง  พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีโดยที่คิดตามปรัชญาและทฤษฎีมาก่อน แล้วหาตัวอย่างเข้าไปปฏิบัติตาม แต่มีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงมีตัวอย่างมากมายจากการเสด็จฯ ไปยังที่ต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริง ทรงพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน"  พร้อมกันนี้ทรงเล็งเห็นว่า น้ำเป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อไปได้ ภาพที่คุ้นตาชาวไทยคือภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปที่ต่างๆ มีแผนที่ที่ทรงต่อเองเพื่อวางแผนสร้างเขื่อน ฝาย ฯลฯ การวางแผนต้องอาศัยข้อมูลหลายอย่าง เช่น ที่ตั้งของโครงการ ความสูงของพื้นที่ ทิศทางน้ำไหล ปริมาณน้ำ ลักษณะทางธรณีวิทยา ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้สามารถบันทึกไว้ในแผนที่ได้ การสำรวจพื้นที่การออกแบบ และก่อสร้าง ต้องใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีหลายอย่าง 

ราชาแห่งราชัน

ในหลวงของทุกภาค

หัวใจของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือการพัฒนาและการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ พระองค์เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยือนราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อสอบถามถึงความต้องการของคนเหล่านั้น ในแต่ละภาคของปรเทศ โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการพระราชดำริต่างๆ ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่พบในท้องถิ่น ปัญหาเหล่านี้รวมถึงภัยแล้งอันสร้างความเสียหายรุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การแพร่กระจายของฝิ่นในภาคเหนือ ดินที่ใช้เพาะปลูกไม่ได้ในเขตบึงของภาคใต้ และการปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตต่ำในที่ราบลุ่มภาคกลาง 

บางครั้งโครงการที่ทรงริเริ่มนั้นก็ตรงไปตรงมา เช่นการสร้างฝาย แต่บางครั้งก็ใหญ่กว่านั้น เช่นการฟื้นฟูคุณภาพดินในที่ที่ถูกทิ้งร้าง แนวพระราชดำริของพระองค์มักสวนกระแสกับโครงการสร้างความทันสมัยขนาดใหญ่ โดยปกติแล้วจะทรงส่งเสริมให้พัฒนามาตรการเฉพาะพื้นที่ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพทางสังคมเศรษฐกิจของประชาชน และมุ่งให้ราษฎรในพื้นที่เหล่านั้นพึ่งพาตนเองได้ พระราชกรณียกิจในการพัฒนาชนบทดังกล่าวซึ่งเป็นการตอบสนองต่อแนวคิด “ธรรมราชา” ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของรัชสมัยของพระองค์ พระราชกรณียกิจเหล่านี้นี่เองที่ีทำให้คนไทยทุกคนคุ้นชินกับพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงมีแผนที่ประเทศไทยติดพระหัตถ์และกล้องถ่ายรูปคล้องอยู่ที่พระศอเสมอมา 

ราชาแห่งราชัน

กษัตริย์ประชาธิปไตย 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เคยมีรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ความตอนหนึ่งว่า “...ทำไมพระเจ้าอยู่หัวต้องเหน็ดเหนื่อยอยู่อย่างนี้ ที่ต้องเหน็ดเหนื่อย ก็เพราะ ประชาชนยังยากจนอยู่ และเมื่อเขายากจน เขาจึงไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ และเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เขาจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้...”  ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผลลัพธ์สุดท้ายที่ทรงอยากเห็นก็คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนและประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ซึ่งการปูพื้นฐานของประชาธิปไตย มิใช่เรื่องของกฎหมาย ระเบียบ กติกาเพียงอย่างเดียว หากพื้นฐานจริงๆ คือต้องพัฒนาประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน และสามารถยืนได้ด้วยตัวเองก่อน จึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ นับเป็นการสร้างรากฐานสำคัญให้เกิดความเข้มแข็งในระบบการเมืองไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในทัศนะของพระองค์ กระบวนการพัฒนาต้องครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต้องพัฒนาคนด้วย และต้องอาศัยศรัทธาเป็นสำคัญ การพัฒนาจึงจะประสบความสำเร็จ

พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน มีรับสั่งว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั่นคือต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนามีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันมีโอกาสเตรียมตัว นอกจากนี้ทรงมุ่งเน้นหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” คือ ก่อนจะทำอะไรต้องมีความเข้าใจเสียก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งนี้ จะต้องทำให้ผู้ที่เราไปทำงานกับเขาหรือทำงานให้เขานั้น “เข้าใจ” เราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดขึ้นตามที่เรามุ่งหวังไว้ เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ต้องเข้าถึง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และเมื่อเข้าถึงแล้วจะต้องทำอย่างไรก็ตามให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย ดังนั้น จะเห็นว่า เป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งไปและกลับ ถ้าสามารถทำสองประการแรกได้สำเร็จ เรื่อง “การพัฒนา” จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

โครงการพระราชดำริ 

ตลอดเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก ทั้งโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับป่า โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ โครงการด้านวิศวกรรม แนวพระราชดำริอื่นๆ ที่มีหน่วยงานราชการพิเศษที่ประสานงานโครงการ คือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนก่อให้เกิด มูลนิธิชัยพัฒนา ก่อตั้งเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้  

มูลนิธิโครงการหลวงก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขาเพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น  โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2504 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อศึกษาทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิลและอื่นๆ อีกมากมาย  โครงการแก้มลิงก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยหลังเกิดอุทกภัยในประเทศไทยพ.ศ.2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป 

โครงการฝนหลวง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512  เพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร  โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน มีฉบับปกติ 37 เล่ม ฉบับเสริมการเรียนรู้ 19 เล่ม เริ่มพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2516 เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุดเน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทย แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชาเนื้อหาของเรื่องต่างๆเรียบเรียงให้เหมาะสมกับเด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลาง และเด็กรุ่นใหญ่ โครงการแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุดแล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาวจนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ จนถึงกังหันชัยพัฒนาสร้างต้นแบบได้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 เป็นกังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ 

โครงการเศรษฐกิจพอเพียง 

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2517 

ด้วยทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ซึ่งหมายถึง แทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือ ทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน เป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ 

จนปัจจุบันแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการปฏิบัติอย่างกว้างขวางมากขึ้นของคนไทยรุ่นใหม่ ไล่เรียงไปจนถึงชาวต่างชาติที่ยกย่องในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมนำไปปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย 

รางวัลสดุดีในพระราชจริยวัตรและนักพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์รางวัลและเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ จากสถาบันในต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศมากมาย ด้วยพระราชจริยวัตรและทรงเป็นนักพัฒนา รวมทั้งจากโครงการพระราชดำริ ซึ่งอาจจะบันทึกไว้ในที่เดียวไม่ครบถ้วน ขอยกตัวอย่างพอสังเขป อาทิ 

ตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์และประกาศนียบัตรของสถาบันการดนตรีและศิลปะ แห่งกรุงเวียนนา ในปี 2507, รางวัลสันติภาพของสมาคมอธิการบดีระหว่างประเทศ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้, เหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณแห่งพระมหากษัตริยาธิราชผู้ทรงพระปรีชาในการนำชนบทให้พัฒนา(เหรียญแรกของโลก) ในปี พ.ศ. 2530, เหรียญจำลองโดโนแวน ขององค์การทหารผ่านศึกโอเอสเอส และมูลนิธิอนุสรณ์วิลเลียม เจ โดโนแวน ในปี พ.ศ.2530, เหรียญทองเฉลิมฉลองการประชุมทางวิชาการร่วมกันระหว่างราชวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ ของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ, เหรียญฟีแล ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส,  เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณขององค์กรโรตารี่สากล รัฐอิลลินอยส์สหรัฐอเมริกา, เหรียญรางวัลอัจฉริยภาพทางการประดิษฐ์ จากองค์กรด้านประดิษฐ์ระดับโลก, เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา, เหรียญรางวัลนาตูราโปรฟูตูลา ของสมาคมนานาชาติด้านนิเวศวิทยาทางเคมี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา, รางวัลรากหญ้าแฝกชุบสำริดของธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา, เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน ขององค์การอนามัยโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส, เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ ของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ เมืองลากูนา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นต้น 

ครองราชย์ยาวนานในราชวงศ์จักรีและยาวนานที่สุดในโลก 

นับจากปีพุทธศักราช 2531 ณ เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์เป็นเวลา 42 ปีเศษ มากกว่าสมเด็จพระอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุด ดังนั้นจึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในราชวงศ์จักรี และยาวนานกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ในประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 700 ปีของไทย 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์ในปีพุทธศักราช 2489 พอถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 ก็ทรงครองราชย์เหนือกว่าเจ้าชายฟรานซ์-โจเซฟที่ 2 แห่งลิกเตนสไตน์ ที่เคยทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก การอยู่ในราชสมบัติยาวนานและทรงเป็นที่รักยิ่งของประชาชนจนมีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ พระประมุขหรือตัวแทนพระประมุขนานาประเทศเสด็จฯ มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง พระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกและตัวแทนพระประมุขที่ฉายร่วมกัน ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ของโลกและเกิดขึ้นในงานเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนี่เอง 

รวมทั้งภาพประชาชนคนไทยกว่าล้านคนที่พร้อมใจกันใส่เสื้อเหลืองไปรอเฝ้ารับเสด็จบริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อร่วมถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสเดียวกันยาวแน่นไปจนถึงบริเวณถนนราชดำเนินไปจนถึงท้องสนามหลวง กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่บอกชาวโลกให้รู้ว่า คนไทยทุกคนจงรักและภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชของพวกเขามากเพียงใด 

จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อแผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทย แนวพระราชดำริด้านการพัฒนาส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น พระอัจฉริยภาพแห่งความเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่เพียงก่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือต่อปวงชนชาวไทย หากแต่พระเกียรติคุณเหล่านี้ได้แผ่ไพศาลไปสู่นานาชาติ  นั่นจึงทำให้ทรงเป็นจอมราชันที่นอกจากคนไทยจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแล้ว นานาชาติก็ยอมรับและยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยความศรัทธาจากใจ  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ