ข่าว

'ในหลวง'เสด็จฯพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ในหลวง'เสด็จฯพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานหรือสถานีรถไฟธนบุรีเดิม

              เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังลานพลับพลาประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับสถาบันสยามินทราธิราช ก่อนเสด็จฯ เข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน (หรือสถานีรถไฟธนบุรีเดิม) เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์   

              ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เชิ้ตแขนสั้นสีเหลืองลายตารางและสนับเพลาสีเทา ทรงมีพระพักตร์ที่แจ่มใส ในขณะที่ประชาชนที่มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญอย่างกึกก้อง

              พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้โครงการ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยใช้พื้นที่อาคารสถานีรถไฟธนบุรี(เดิม) บริเวณปากคลอง บางกอกน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำนวน 33 ไร่  ที่ได้รับมอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

              พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญอันเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของเมือง “บางกอก” ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน และเป็นทางผ่านของบรรดาสำเภาที่เดินทางเข้าไปค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา และทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีการสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการอย่างแข็งแรง

              ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ด้านใต้ของปากคลองบางกอกน้อย ลงไปถึงวัดระฆังโฆษิตาราม เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วังหลัง”  ด้วยเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือกรมพระราชวัง หลัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์

              ที่ดินผืนนี้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ต่างๆ กระทั่งถึง พ.ศ. 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ใช้ที่ดินนี้สร้างเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อย ต้นทางของเส้น ทางรถไฟสายใต้กระทั่งถึงปัจจุบัน

              เมื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มโครงการสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช  เพื่อมุ่งสู่ความเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นเลิศ คณะฯ เห็นความสำคัญของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการศึกษาทางโบราณคดี ตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม พ.ศ. 2551 พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ เช่น ฐานป้อมบางส่วน ซากเรือไม้ และภาชนะดินเผา คณะฯ ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีและมีพระราชวินิจฉัย ให้อนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีเพื่อจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ต่อไป

              พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ประกอบด้วยอาคารอนุรักษ์ 4 หลัง ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟ 1 หลัง อาคารที่ทำการรับส่งสินค้าธนบุรี 1 หลัง และอาคารโกดัง 2 หลัง

              การจัดสรรพื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่จัดนิทรรศการถาวร พื้นที่จัดนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษ คลังพิพิธภัณฑ์ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดการสัญจรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ห้องจัดแสดงอยู่ในพื้นที่ อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 และ 3

              อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 ประกอบด้วยห้องจัดแสดง คือ

              1. ศิริสารประพาส เป็นห้องบรรยายบอกเล่าเรื่องราวโดยรวมของพิพิธภัณฑ์ผ่านวิดีทัศน์ ตกแต่งบรรยากาศเสมือนห้องสมุด เก้าอี้นั่งเป็นเก้าอี้ที่นักศึกษาแพทย์เคยใช้นั่งเรียนในห้องบรรยาย

              2. ศิริราชขัตติยพิมาน เป็นส่วนจัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ และพระดำรัส ในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณต่อโรงพยาบาลศิริราช

              3. สถานพิมุขมงคลเขต ความสำคัญของห้องนี้คือ พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขที่นำเสนอผ่านภาพจิตรกรรมไทยชื่อ “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” เป็นภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณีพร้อมเสียงบรรยายด้วยทำนองเสนาะ และจัดแสดงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “พระศรีเมือง” และวรรณคดีเรื่อง “ไซ่ฮั่น”

              4. ฐานป้อม จากการดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี พบแนวกำแพงก่อด้วยอิฐระหว่างด้านหลังอาคารสถานีรถไฟและอาคารปิยมหาราช การุณย์ สันนิษฐานว่าเป็นฐานป้อมพระราชวังหลัง ระหว่างการขุดค้นได้เก็บโบราณวัตถุรวมทั้งตัวอย่างดินและอิฐ เพื่อนำไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเห็นความสำคัญของฐานป้อม ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีเพียงชิ้นเดียวที่ยืนยันถึงตำแหน่งที่ตั้งของ พระราชวังบวรสถานพิมุข หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราชจึงได้บันทึกการขุดค้นฐานป้อมไว้ตลอดการทำงาน และนำเสนอผ่านวิดีทัศน์ พร้อมทั้งเรื่องราวของเครื่องถ้วยที่ค้นพบจากการสำรวจพื้นที่นี้ นอกจากนี้ทางเดินก่อนเข้าห้องศาสตราวุธยังจัดแสดงภาพพิมพ์แผนที่เมืองธนบุรี และปริมณฑล เขียนโดยชาวพม่าที่เข้ามายังแผ่นดินไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยธนบุรีถึง ต้นรัตนโกสินทร์

              5. โบราณราชศัสตรา จัดแสดงศาสตราวุธที่คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้รับมอบจากราชสกุล “เสนีวงศ์” เป็นราชสกุลสืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข  มีการนำเสนอวิดีทัศน์ขั้นตอนการบูรณะศาสตราวุธและวิดีทัศน์การพระราชสงคราม ของศึกท่าดินแดง พ.ศ. 2329 ซึ่งเป็นสงครามที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลคุมทัพหน้าเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชคุมทัพหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขตามเสด็จ กองทัพหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดงรบกับพม่าอยู่  3 วัน พม่าก็ทิ้งค่ายแตกไป หลังจากนั้นก็ไม่มีสงครามใหญ่กับพม่าอีก

              6. คมนาคมบรรหาร จัดแสดงประวัติสถานีรถไฟธนบุรี ประกอบด้วยห้องฉายภาพยนตร์สี่มิติ ใช้เทคนิคพิเศษเพื่อให้ผู้ชมเสมือนร่วมเดินทางโดยรถไฟย้อนไปสู่การเริ่มต้น เดินทางโดยรถไฟ

              7. ศิริราชบุราณปวัตติ์ จัดแสดงเกี่ยวกับกำเนิดโรงพยาบาล การตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของ ไทย  ทั้งเป็นผู้เจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาด้านการ แพทย์ไทย   การสอนทางปรีคลินิก  ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคบรรยาย แสดงอุปกรณ์การสอนที่ใช้ในยุคก่อน  จำลองห้องผ่าตัดให้ผู้ชมร่วมแสดง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนและผู้เข้าชมสนใจอยากเป็น "หมอ"

              8. สยามรัฐเวชศาสตร์ จัดแสดงให้เห็นถึงความเจ็บป่วยของมนุษย์ ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์  เหตุแห่งโรค  วิธีการเยียวยาความเจ็บป่วย และบทสรุปของการมีสุขภาพดีด้วยแนวคิด “ธรรมานามัย” นำเสนอในรูปแบบด้วยเทคนิคทันสมัยที่ผู้ชมสามารถประยุกต์ใช้ได้ เช่น วิดีทัศน์สาธิตการบริหารกายด้วยวิธีก้าวเต้น-ก้าวตา และท่าฤาษีดัดตน การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสมุนไพร และการพัฒนาจิตให้มีสุขภาพดี สิ่งแสดงในห้องนี้ ส่วนหนึ่งนำมาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทยอวย เกตุสิงห์ เมื่อออกไปนอกอาคารจะสามารถชมสวนสมุนไพรได้อีกด้วย

              อาคารพิพิธภัณฑ์ 3 เป็นส่วนจัดแสดงชื่อ “นิวาสศิรินาเวศ”

              เป็นอาคารโกดังสินค้าริมคลองบางกอกน้อย จัดแสดงบรรยากาศวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อยในอดีต มีชาวบางกอกน้อย ชุมชนใกล้เคียงและข้าราชการมาตั้งถิ่นฐาน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานศิลป์ ภูมิปัญญา และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันแต่ก็ได้หลอมรวมเป็นวิถีชีวิตของชุมชนบางกอกน้อย และจัดแสดงสิ่งแสดงสำคัญที่ขุดค้นพบขณะสำรวจทางโบราณคดี คือ เรือโบราณขนาดใหญ่ ที่พบบริเวณเยื้องอาคารพิพิธภัณฑ์ 4 ปัจจุบันตรงกับบริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำการเก็บกู้ อนุรักษ์ พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก

              เรือโบราณลำนี้ถูกกลบฝังอยู่ใต้รางรถไฟ ลึกลงไปจากผิวหน้าดินปัจจุบันประมาณ  5-7 เมตร มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ลำเรือเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ด้วยตะปู เขี้ยวโลหะ และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยหลากหลายประเภทในชั้นดินภายในลำเรือ ซึ่งได้มาจัดแสดงรอบเรือโบราณด้วย พร้อมกันนี้ยังได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศวิถีชีวิตและทิวทัศน์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย จากภาพวาดที่แขวนอยู่บนผนังโดยรอบอีกด้วย

.................

(หมายเหตุ : เนื้อหาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานนั้นเป็นข้อมูลจากหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเว็บไซต์Trueปลูกปัญญานำมาเผยแพร่อีกทอดหนึ่ง)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ