ข่าว

ศาล MOU อัยการ ช่วยเหลือ ปชช.คดีจัดการมรดก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลยุติธรรมเซ็นMOUอัยการสูงสุดยื่นจัดการมรดกผ่านพนักงานอัยการ สคช.-บังคับคดีจังหวัดโดยไม่จำกัดเขตอำนาจอัยการสูงสุด ครึ่งปี 62 ยื่นขอจัดการมรดกกว่า1.3หมื่นเรื่อง

 


                  10 ก.ย.62 - ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 16.00 น. "นายสราวุธ เบญจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ "นายเข็มชัย ชุติวงศ์" อัยการสูงสุด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในคดีจัดการมรดกระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม กับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยการพัฒนาระบบการพิจารณาคดีแพ่ง ส่วนคดีจัดการมรดก ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนในการยื่นคำร้องจัดตั้งผู้จัดการมรดก ตลอดจนเข้าถึงกระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีมรดก

                นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนมีการสับเปลี่ยนย้ายถิ่นฐานไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความยุ่งยาก รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่ประชาชนในการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต่อศาลที่เจ้าของมรดกมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ ซึ่งเดิมทีการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกสามารถยื่นได้ 3 วิธี คือ 1.ตัวความยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดยตัวความจะต้องเดินทางไปยังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือทรัพย์ที่ตั้ง ทั้งในวันที่ยื่นคำร้องและวันที่นัดไต่สวน 2.ตัวความแต่งตั้งทนายความเป็นผู้ดำเนินการยื่นคำร้อง โดยจะให้ทนายความเป็นผู้ยื่นคำร้องแทน ณ ศาลที่มีเขตอำนาจรับคำร้อง 3.ตัวความให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยตัวความยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจ จากนั้นพนักงานอัยการจะยื่นคำร้องไปยังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ และเมื่อถึงวันนัดไต่สวนตัวความจะต้องเดินทางไปยังศาลที่มีเขตอำนาจรับคำร้องนั้น

 

 

             ซึ่งการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทั้ง 3 วิธี ไม่ว่าตัวความจะยื่นด้วยวิธีใดก็ตาม ในวันนัดไต่สวนตัวความจะต้องเดินทางมายังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย ดังนั้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ "สำนักงานศาลยุติธรรม" และ "สำนักงานอัยการสูงสุด" จึงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือฉบับนี้ขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และทันสมัยมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดีและเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง เพื่อมุ่งสู่การบริการในลักษณะระบบศาลดิจิทัล (D-Court) ในปี พ.ศ.2563 ต่อไป

 

ศาล MOU อัยการ ช่วยเหลือ ปชช.คดีจัดการมรดก

 

            "เราจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นในอนาคต มาอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องและการไต่สวนคำร้องขอจัดการมรดก โดยทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่ต้องเดินทางไปยังภูมิลำเนาเจ้าของมรดกขณะถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ แต่สามารถยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผ่านพนักงานอัยการ ณ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) และบังคับคดีจังหวัด ได้ทุกพื้นที่โดยไม่จำกัดเรื่องเขตอำนาจ และหากมีการร้องขอใช้การไต่สวนผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด ศาลที่เกี่ยวข้องแต่ละพื้นที่จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ตามคำร้องขอ โดยทางตัวความไม่ต้องเดินทางมายังศาล"

 

          ศาล MOU อัยการ ช่วยเหลือ ปชช.คดีจัดการมรดก

 

              ขณะที่ "นายเข็มชัย" อัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีจัดการมรดกมีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2560 มีประชาชนยื่นร้องต่ออัยการขอจัดการมรดกทั่วประเทศ 11,129 เรื่อง ปีงบประมาณ 2561 มี 14,792 เรื่อง และปีงบประมาณ 2562 ถึงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีการดำเนินการแล้ว 13,882 เรื่อง

 

ศาล MOU อัยการ ช่วยเหลือ ปชช.คดีจัดการมรดก

 

             "เราพยายามอำนวยความสะดวกมากที่สุด ในการดำเนินงานส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการในพื้นที่ที่มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการ และการขอไต่สวนคดีมรดกผ่านระบบ Video Conference ทำให้ผู้ร้องไม่ต้องเดินทางมาศาลเสียค่าใช้จ่าย ยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม หวังว่าความร่วมมือจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้นและรวดเร็ว"


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ