ข่าว

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสิทธิที่่หายไป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จี้รมว.ยุติธรรม ยกเลิกพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ครอบคลุมสิทธิ การใช้ชีวิตคู่ รักษาพยาบาล-สวัสดิการ หายไป

 

23 สิงหาคม 2562 จากกรณีที่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ คู่ชีวิต พ.ศ.....ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการทรัพย์สินมรดกและการฟ้องแทนในคดีอาญาได้เท่านั้น  

 

 

ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดของการใช้ชีวิตคู่ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ (กรณีที่อีกฝ่ายมีสิทธิที่ได้รับจากการทำงาน) สิทธิในกรณีคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งตาย สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว  พร้อมทั้งได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้หน่วยงานต้นสังกัดจัดเวทีรับความความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560แล้วนั้น 


มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ  คณะทำงานเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ร่วมกับองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ขอเสนอ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณา ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ...และขอให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครอบครัวมรดกในบรรพ 5 บรรพ 6 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี  

 

ด้วยเหตุที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ปพพ.) มีเงื่อนไขแห่งการสมรส ในมาตรา 1448 ว่า  “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์...”ซึ่งเป็นเงื่อนไขหวงห้ามต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ  เช่น กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนรักสองเพศ  กลุ่มคนข้ามเพศ กลุ่มนอนไบนารีฯลฯ มิให้เข้าถึงสิทธิการสมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีที่เกิดจากการเป็นคู่สมรส ทั้งจาก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอื่น และระเบียบข้อบังคับภาครัฐและภาคเอกชน   ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

 

ขอเสนอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครอบครัวมรดก ขยายสิทธิการสมรส  โดยการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศ  (Gender Neutral) ซึ่งมีถ้อยคำที่กำหนดในกฎหมายครอบครัว มรดก บรรพ 5 และ บรรพ 6  ปพพ.แล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วน คือ เปลี่ยนคำว่า “ชายและหญิง” เป็น “บุคคลสองคน” “สามีภริยา” เป็น “คู่สมรส” “บิดามารดา” เป็น “บุพาการี” ในบทบัญญัติของ ปพพ.บรรพ5และบรรพ 6 ทุกมาตรา   เพื่อให้บุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกรสนิยมทางเพศ  ได้รับสิทธิความเสมอภาค  ความยุติธรรม ในสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรี อันพึงมีพึงได้จากการสมรส  เหมือนคู่สมรสชายหญิงทั่วไป

 

เช่น  สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและภาคเอกชน สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน  สิทธิในการดำเนินการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ อันสืบเนื่องจากการเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย และ สิทธิในการมีศักดิ์ศรีในฐานะ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ปพพ.และตามกฎหมายอื่นๆ ในราชอาณาจักรไทย เป็นต้น   ซึ่งการขยายสิทธิการสมรส  ดังกล่าว ไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ใด  ๆ  ณ ปัจจุบันของ คู่สมรส ชายหญิงทั่วไป  และ สิทธิหน้าที่ของบิดามารดา และ บุตร ในปัจจุบันแต่อย่างใด

 

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสิทธิที่่หายไป

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสิทธิที่่หายไป

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสิทธิที่่หายไป

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสิทธิที่่หายไป

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ