ข่าว

เบรก.. เปิดผับตี4

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

.

 

 

       
          “อนุทิน”เบรกขยายเวลาผับถึงตี 4 ย้ำตี 2 เหมาะสมแล้ว เตรียมเรียก รมว.ท่องเที่ยวถก ต้องไม่แก้ปัญหาท่องเที่ยวด้วยวิธีแบบนี้ ขณะที่เอกชน-เอ็นจีโอ-นักวิชาการ รุมต้าน จ่อยื่นคัดค้าน 22 ส.ค.เผยผลประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจ ศิลปวัฒนธรรม-ธรรมชาติ แนะส่งเสริมให้ถูกทาง
      

          วานนี้(21ส.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยว และ รมว.สาธารณสุข ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมชง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา (สังกัดพรรคภูมิใจไทย) ขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิง ย่านแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ถึง 04.00 น.จากเดิม 02.00 น. โดยเชื่อว่าจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 25% ว่า ยังไม่มีการหารือกับตน เรื่องนี้จะพิจารณาไปในทิศทางใดจะต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกมิติ

 

 

 

 

          “ผมว่าการให้สถานบันเทิงปิดตี 4 จะดึกเกินไป ปัจจุบันที่ปิดตี 2 ก็ดีและพอแล้ว ซึ่งก็จะหารือเรื่องนี้ร่วมกับ รมว.การท่องเที่ยวฯว่า ต้องไม่ใช้การแก้ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวด้วยวิธีแบบนี้” นายอนุทิน ระบุ


          อดีตปธ.สทท.เรียกร้องทบทวน
          นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว (Ittirit Kinglake) เสนอว่า รมว.การท่องเที่ยวฯ ควรศึกษาให้รอบด้านหวั่นผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา และที่สำคัญไม่อยากให้การท่องเที่ยวต้องตกเป็นจำเลยที่ถูกตราหน้าว่า การเติบโตทางการท่องเที่ยวทำลาย วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม


          “การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ แต่ก็ไม่ได้เป็นยาวิเศษที่จะทำทุกอย่างได้ เพื่อหวังเพียงรายได้เพียงอย่างเดียว การท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบ แนวนโยบายต่างๆ ที่ออกมาจึงจำเป็นต้องมองรอบด้านในหลายๆ มิติอย่างรอบคอบ ถึงผลกระทบด้านต่างๆที่ตามมา” 
 

          เช่น นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นมีกี่เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลงานวิจัยของการทรวงฯทำครอบคลุมทุกพื้นที่หรือไม่ นักท่องเที่ยวในบางพื้นที่ 70% เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นครอบครัว และต้องการเวลาพักผ่อนในเวลาค่ำคืนอย่างแท้จริง ผับ บาร์ ส่วนใหญ่ในแหล่งท่องเที่ยวเป็นบาร์เปิด ไม่สามารถควบคุมเรื่องเสียง ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด โสเภณีที่จะสร้างผลกระทบต่อสังคม เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากผู้ถือกฎหมายบางคน บางกลุ่ม ในการเรียกรับผลประโยชน์ นี่เป็นแค่ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น 


      
          เครือข่ายเหล้าชี้ได้ไม่คุ้มเสียหาย
          ขณะที่ นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีความพยายามที่จะเสนอ การขยายเวลาสถานบันเทิงจะก่อปัญหาสังคมมากกว่า และเป็นทิศทางการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวที่ไม่ถูกต้อง จากที่ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย มีความสนใจ 2 เรื่องหลัก คือ ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติ ดังนั้นควรไปส่งเสริมด้านนี้มากกว่า


          ส่วนปัญหาที่จะเกิดขึ้น คืออาชญากรรม การทะเลาะวิวาท จะเพิ่มขึ้น การสร้างความรำคาญให้ชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่มากขึ้น และอุบัติเหตุใหญ่ๆ หลังผับปิดส่วนใหญ่เกิดจากการเมาแล้วขับ หลังกลับจากสถานบันเทิงทั้งสิ้น
         

          “เรื่องนี้อยู่ที่ว่ารัฐบาลหมายมุ่งต้องการนักท่องเที่ยวแบบใด ถ้าต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพก็ควรส่งเสริมเรื่องศิลปวัฒนธรรม รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพก็มีการใช้จ่ายสูง ถ้าหวังจะได้เงินจากการเที่ยวผับคงไม่มาก เราไม่จำเป็นต้องดูแค่ตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่ควรดูว่านักท่องเที่ยวมีคุณภาพหรือไม่ เพราะบางพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ก็เห็นว่ามีปัญหามาก แม้แต่บางโซนนิ่งที่พยายามทำก็ไม่เข้ากับบริบทหลายพื้นที่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องท้วงติงต่อรัฐบาล


          ยื่นหนังสือคัดค้าน รมต.22 ส.ค.
       "ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุราเตรียมไปยื่นหนังสือถึงรมว.การท่องเที่ยวฯ เพื่อคัดค้านการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงเป็นตี 4 เวลาที่อนุญาตปัจจุบันคือตี 2 เหมาะสมแล้ว ความจริงรัฐบาลชุดที่แล้วที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกันนั้น ได้ทำเรื่องดีๆไว้หลายเรื่อง เช่น การจัดโซนนิ่งในพื้นที่รอบสถานศึกษา ทำให้สถานบันเทิงลดลง เป็นจุดเด่นเรื่องการคุมสถานบันเทิง จึงอยากให้ทำสิ่งที่ดีต่อไป 


          “อยากท้วงติง ททท.ด้วยว่า ที่ผ่านมา มีการตรวจพบว่า ททท.สนับสนุนกิจกรรมลานเบียร์ของกลุ่มธุรกิจ มีการขึ้นโลโก้ของ ททท.เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ซึ่งพบว่ามีคนเจ็บ คนตายจากงานเหล่านั้นด้วย ส่วนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านแม่ทัพนั้น การปราบสถานบันเทิง หรือธุรกิจน้ำเมาต้องได้แม่ทัพที่เข้มแข็ง หาก สธ.ที่เป็นผู้ถือกฎหมายไม่เข้มแข็งอาจมีปัญหา ระดับปฏิบัติการก็ไม่เข้มแข็ง และเครือข่ายก็รอจังหวะขอเข้าพบเพื่อหารือและขอทราบทิศทางการดูแลเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน” 


          “วิชาการ”ยก3ปัญหาค้านแนวคิด                  
          ด้านนพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ฝ่ายวิชาการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากหากพิจารณาปัญหาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 3 ปัญหาคือ การเข้าถึง เรื่องราคา และเรื่องการตลาด ซึ่งกรณีเวลาการขายจะอยู่ในปัญหาของการเข้าถึง ทำให้คนเข้าถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น จะสวนทางกับการแก้ไขปัญหามาตลอด 


          ตั้งแต่มีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีมาตรการทางกฎหมายในเรื่องการควบคุมเวลาการจำหน่ายให้ถึงตี 2 ก็ไม่เห็นคัดค้าน จนกระทั่งมาตอนนี้ ก็แปลกใจเช่นกันว่า เพราะอะไรจะมาขยายเวลา
          

          ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อเสนอว่า หากขยายเวลาปิดเป็นตี 4 แต่ใช้วิธีจัดโซนนิ่งบางพื้นที่ นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า เกิดผลกระทบอยู่ดี ทั้งผลกระทบในบริเวณโซนนิ่ง เพราะจะเป็นแหล่งรวมผู้คนจำนวนมากที่มาเที่ยวมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสี่ยงเกิดการทะเลาะวิวาท ขณะที่บุคคลจากพื้นที่อื่นๆ ก็จะมาที่จัดโซนนิ่งนี้ อย่าลืมว่า เมื่อมาจากพื้นที่อื่น มีการขับรถ ก็เสี่ยงเมาแล้วขับ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแล้วไม่ขับ 


          ดังนั้น ประเด็นข้อเสนอดังกล่าวต้องคิดดีๆ เพราะจะเกิดผลกระทบมาก เนื่องจากทุกวันนี้ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ขาดรายได้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่ภาครัฐต้องจ่ายไปก็เทียบเท่ากับประมาณร้อยละ 1 ของจีดีพี(GDP) แล้ว แทนที่จะเอาส่วนนี้ไปพัฒนาส่วนอื่นๆ และหากขยายเวลาอีก ก็ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายรัฐแน่นอน หากจะคิดว่าการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ก็ต้องเปรียบเทียบกับมิติอื่นๆด้วย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ