
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างโลกอาชีวะสู่เกษตรกรไทย
สคช.ผนึก 4 องค์กร สร้างโลกอาชีวะสู่เกษตรกรไทยมืออาชีพ ตามสภาพเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
17 ส.ค.62-"สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(สคช.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา , สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ เตรียมขับเคลื่อนขยายผลระบบคุณวุฒิวิชาชีพสู่การพัฒนากำลังคนในด้านโคนม และการเกษตรสู่การเป็น Smart Farmer โดยพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น อ้างอิงตามมาตรฐานอาชีพที่ สคช. พัฒนาขึ้น ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีตัวแทนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจากทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุมกว่า 50 คน
น.ส.วรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ระบุระหว่างการเสวนาในหัวข้อ "การพัฒนาสมรรถนะ และมาตรฐานอาชีพ สู่ความเป็นมืออาชีพ" เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำสมรรถนะ มาตรฐานอาชีพ และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นในกลุ่มอาชีพข้าว และโคนม ว่าการพัฒนาหลักสูตรทั้งด้านเกษตรกรรม และการแปรรูปนม นับเป็นหลักสูตรสำคัญที่ต้องพัฒนา เนื่องจากเป็นอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน ที่ สคช. ได้กำหนดมาตรฐานอาชีพทั้งด้านเกษตรกรรม และการแปรรูปนม อยู่แล้ว แต่หากหากหลักสูตรถูกพัฒนาขึ้น ก็จะช่วยเสริมความเป็นมืออาชีพรองรับการก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 ได้มากยิ่งขึ้น
ด้าน น.ส.สมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา มองว่ากรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นแกนกลางที่จะเชื่อมโยงภาคการศึกษาและโลกอาชีพ ให้การผลิตกำลังคนตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะทักษะความสามารถด้านการเกษตร และการแปรรูปนม ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะความสามารถให้ได้มาตรฐานอาชีพตามสภาพเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปด้วย
ขณะที่ ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (สอศ.) เห็นควรว่าการพัฒนาหลักสูตรที่เกิดขึ้นต้องมีการพัฒนาทั้งหลักสูตรของ ปวช. ปวส. รวมทั้งหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น โดยยึดจากมาตรฐานอาชีพที่ สคช. กำหนด และมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบุคคลได้จำนวนมากขึ้น
สำหรับแนวโน้ม การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นภายปีนี้ จะเป็นการพัฒนาหลักสูตรในอาชีพด้านการจัดการฟาร์มข้าว, การจัดการอุตสาหกรรมแปรรูปข้าว, การจัดการฟาร์มโคนม, รวมทั้งการจัดการศูนย์รับน้ำนมดิบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562 ก่อนจะนำไปใช้เพิ่มทักษะในการเรียนการสอน เพื่อผลิตมืออาชีพออกสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีมาตรฐานต่อไป