ข่าว

ฝนหลวงตกวงกว้างทั่วประเทศส่งผลดีบรรเทาภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

11 หน่วยฝนหลวงทำฝนตกวงกว้างทั่วประเทศ เริ่มส่งผลดีบรรเทาภัยแล้ง ช่วยพื้นที่เกษตร เตินน้ำเขื่อน ยังระดมทำฝนทุกพื้นที่ ร้องขอฝนหลวงได้ทุกภูมิภาคตลอดเวลา

 

27 กรกฎาคม 2562 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในหลายภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้พื้นที่การเกษตรประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย  

 

 

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ได้พยายามปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ทางรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในเรื่อง ภัยแล้ง

 

จึงได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้โดยด่วน ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงคลี่คลายสถานการณ์ให้รวดเร็ว โดยในขณะนี้มีหลายพื้นที่มีฝนตกลงไปเป็นวงกว้าง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งได้ดีขึ้น สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่ยังคงประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ ทางกรมฝนหลวงฯ จะเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั่วถึงต่อไป

 

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (26 ก.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อ การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ กำแพงเพชร ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี สระแก้ว พัทลุง เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าบริเวณป่าพรุควนเคร็ง

 

ฝนหลวงตกวงกว้างทั่วประเทศส่งผลดีบรรเทาภัยแล้ง


ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 1 จังหวัด (1 อำเภอ 1 ตำบล 10 หมู่บ้าน) ได้แก่ จ.มหาสารคาม ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 20 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 157 แห่ง การคาดการณ์พื้นที่ประกาศเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากจากกรมอุตุนิยมวิทยาวันนี้ ไม่มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมาก

 

ด้านแผนที่ปริมาณความชื้น ในดินของกรมทรัพยากรน้ำและแผนที่ปริมาณฝนตกสะสมในช่วง 7 วัน พบว่า มีพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร อยู่ที่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางบางส่วน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยยังคงมี ความต้องการน้ำเพิ่มเติมอีก ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าวทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม

 

สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์อมก๋อย และสถานีเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จ.เชียงใหม่ มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 100 (อมก๋อย) 93% (เชียงใหม่) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 86% (อมก๋อย) 95% (เชียงใหม่) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.3 (อมก๋อย) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 47 กม./ชม. (อมก๋อย) 28 กม./ชม.(เชียงใหม่) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ตาก

 

ฝนหลวงตกวงกว้างทั่วประเทศส่งผลดีบรรเทาภัยแล้ง

 

จึงตัดสินใจวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.อมก๋อย ดอยเต่า ฮอด จ.เชียงใหม่ อ.เมืองตาก สามเงา บ้านตาก จ.ตาก อ.แม่พริก เถิน จ.ลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่น้ำใช้การต่ำกว่า 30% ส่วนหน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน เนื่องจากมีเมฆชั้นกลางชั้นสูงปกคลุมจำนวนมาก และความเร็วลมค่อนข้างแรง ซึ่งหากมีสภาพอากาศเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที

 

พื้นที่ภาคกลาง จากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 77% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 91% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 1.5 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 35 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี และลพบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน เนื่องจากมีเมฆชั้นกลางชั้นสูงปกคลุมจำนวนมาก และความเร็วลมค่อนข้างแรง ซึ่งหากมีสภาพอากาศเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบริเวณ จ.ลพบุรี นครสวรรค์ สระบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

 

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา และสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 77% (พิมาย) 93% (บ้านผือ) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 99% (พิมาย) 89% (บ้านผือ) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.4 (พิมาย) -0.6 (บ้านผือ) และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 27 กม./ชม.(พิมาย) 29 กม./ชม. (บ้านผือ) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา

 

ฝนหลวงตกวงกว้างทั่วประเทศส่งผลดีบรรเทาภัยแล้ง

 

จึงวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุรินทร์ ขึ้นบินปฏิบัติการบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.บุรีรัมย์(ตอนบน) สุรินทร์(ตอนบน) มหาสารคาม(ตอนล่าง) ร้อยเอ็ด(ตอนล่าง) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุบลราชธานี ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร และ จ.อำนาจเจริญ และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น ตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น และ จ.ชัยภูมิ


พื้นที่ภาคตะวันออก จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 81% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 77% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.9 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 27 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สระแก้ว จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน เนื่องจากมีเมฆชั้นกลางชั้นสูงปกคลุมอยู่ หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งพื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยทันที


พื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า มีความชื้น ที่ระดับการเกิดเมฆ 41% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 58% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.8 และความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 27 กม./ชม. หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน เนื่องจากยังมีความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างน้อย หากในช่วงบ่ายมีสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง จะเร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบต่อไป

 

ฝนหลวงตกวงกว้างทั่วประเทศส่งผลดีบรรเทาภัยแล้ง


กรมฝนหลวงฯจะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ