ข่าว

ลุ้นฝนเข้าเติมน้ำเขื่อนกู้ภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กรมชลฯ"ลุ้นฝนช่วงเดือนส.ค.ต้นก.ย. หวังเติมน้ำ 35 เขื่อนใหญ่ 4-5 หมื่นล้านลบ.ม. หากมาปลายเดือนก.ย.ไม่ได้น้ำเข้าเขื่อน

 

26 กรกฎาคม 2562 นายทวีศักดิ์ ธนะเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังประชุมมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตกรกรประสบภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วง ว่ากระทรวงเกษตรฯได้หารือมาตรการเยียวยาเกษตรกรระยะสั้น ช่วยเรื่องอาชีพเสริมแทนการทำนา 

 

พร้อมทั้งสหกรณ์ขอวงเงินสนับสนุนสมาชิกสหกรณ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำและจัดหาแหล่งน้ำ ในส่วนช่วยเหลือเกษตรกร นาข้าวเสียหายสิ้นเชิง จะแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้า ทั้งนี้กรมชลฯจัดช่วยเหลือเรื่องน้ำให้กับประชาชนและเกษตรกรทั่วประเทศ รถสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เปิดทางส่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำแผนใช้น้ำเขื่อน ส่งหมุนเวียนสลับคลองให้กับพื้นที่เกษตร เพื่อประหยัดน้ำในเขื่อนไว้ให้กับทุกกิจกรรมถึงฤดูแล้งหน้าด้วย ซึ่งเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเสนอครม.เพื่อทราบวันอังคารหน้า(30ก.ค.)

 

ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีภาวะฝนทิ้งช่วงในเขตชลประทานเกษตรกร รอน้ำ โดยใช้วิธีหมุนเวียน้ำใช้เป็นคลอง  และปล่อยน้ำ4เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักฯ) เข้าลุ่มเจ้าพระยา 40ล้านลบ.ม.ต่อวัน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน เมื่อมีฝนตกจะลดเหลือ18ล้านลบ.ม.ต่อวัน

 

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อน ได้มีการวางแผนการจัดการน้ำตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งแผนน้ำฤดูแล้งช่วงวันที่ 1 พ.ค. 2561 ถึง 30 เม.ย. 2562 โดยวางแผนส่งน้ำให้พืชฤดูแล้ง 2.3 หมื่นล้านลบ.ม.พร้อมกับวางแผนสำรองน้ำในเขื่อน เพื่อเตรียมแปลงเกษตรตกกล้า 6.3 พันล้านลบ.ม. น้ำ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ 6 พันล้านลบ.ม. และยังให้ความสำคัญในการสำรองน้ำไว้เผื่อฝนทิ้งช่วงอีก 3.9-4 พันล้านลบ.ม. สำรองไว้ใช้ช่วงเดือนพ.ค-ก.ค.

 

ถ้าเราไม่สำรองน้ำไว้สองก้อน สถานการณ์แล้งจะหนักมากกว่านี้ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดไว้ว่าปีนี้มีฝนน้อยกว่าปกติ 10 % แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (1ม.ค.-14ก.ค.)มีฝนต่ำกว่า10% เช่น ภาคเหนือ ฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ 26% ภาคอีสาน26% ภาคกลาง27% ภาคตะวันออก17% ภาคใต้ทั้งสองฝั่ง 7% ตรงนี้เป็นผลให้น้ำที่สำรองไว้ หมดไปเพราะเราใช้ไปทำการเกษตร 11 ล้านไร่ในเขตชลประทานทั่วประเทศ และไม่มีน้ำฝนมาเติมเขื่อน ทำให้น้ำลดลงไปมาก

 

โดยล่าสุดกรมอุตุฯคาดว่าปลายเดือนก.ค.นี้เริ่มมีฝนมาตกเพิ่ม และเดือน ส.ค -ก.ย. ฝนจะตกเพิ่มขึ้น คาดว่าเดือน ส.ค.ฝนตกกระจายตัวลงตกในทุ่งนา มีน้ำเหนือเขื่อน ระยะเวลาหน้าฝนเหลืออีก2เดือนครึ่ง จะติดตามปริมาณน้ำทุกวันอย่างใกล้ชิด 

 

รองอธิบดีกรมชลฯกล่าวว่า ได้ทำแบบจำลองน้ำ 6 สถานการณ์  เหลือ 4 สถานการณ์ที่ใกล้เคียง โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนเท่ากับปี 2550 ฝนตกค่าเฉลี่ยต่ำกว่า10% มีพายุเข้า และปริมาณฝนปี 2558-2559 ซึ่งจะได้น้ำน้อยจากสถิติค่ากลาง มาประเมินปริมาณน้ำเข้าเขื่อนได้4สถานการณ์ ในช่วงวันที่ 1 พ.ย.เขื่อนใหญ่35 แห่งทั่วประเทศ กรณีน้ำน้อย จะมีน้ำ 4.3 หมื่นล้านลบ.ม.หรือ 41% ของความจุทั้งหมด สามารถใช้การได้ 1.9 หมื่นล้านลบ.ม. 42% 
กรณีเทียบปี 50 มีพายุเข้า1-2ลูก ตามคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) ได้น้ำ 5.8 หมื่นล้านลบ.ม. หรือ 83% มีน้ำใช้การ3.5หมื่นล้านลบ.ม.หรือ 64% กรณี ค่าเฉลี่ยฝนลดกว่า10% จะมีน้ำ5.3หมื่นล้านลบ.ม.หรือ 76% น้ำใช้การได้3.0หมื่นล้านลบ.ม.หรือ 64% กรณีน้ำไหลเข้าเขื่อนฝนปี58 น้ำทั้งหมดได้5.7หมื่นล้านลบ.ม. หรือ80% น้ำใช้การได้3.3หมื่นล้านลบ.ม. หรือ65% 


“ช่วงฝนมีเวลาอีก 2 เดือนกว่า จะติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามกรณีที่กรมอุตุฯคาดว่ามีพายุเข้า 1-2 ลูก หากเข้าช่วงเดือนส.ค ต้นเดือน ก.ย จะได้น้ำเข้าเขื่อน แต่ถ้ามาปลายเดือนก.ย.น้ำมาภาคกลาง ภาคอีสานล่าง เพราะมีอากาศหนาวมากดอิทธิพลพายุหมุนลงล่างไม่ส่งผลดีต่อเขื่อน อากาศหนาว กดลงมา เตรียมแผนบริหารน้ำหลากด้วยฝนตกช่วงกลางประเทศ “นายทวีศักดิ์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับมาตรการฉุกเฉินโดยกระทรวงเกษตรฯ เตรียมช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงทั่วประเทศ โดยให้กรมฝนหลวงและการเกษตร ทำงานร่วมกับกองทัพภาคทุกภาค จัดหาเพิ่มเครื่องบิน จัดหากำลังพล สำรวจค่าใช้จ่าย ที่จะขอจากงบกลางจากนายกรัฐมนตรี  รวมทั้งกรมชลประทาน ระดมรถน้ำรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ ไปช่วยประชาชนและเกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจพื้นที่ไหน ขาดแคลน น้ำกินใช้ น้ำการเกษตร 

 

เสนอของบกลาง ส่งสำนักงบประมาณพิจารณาสัปดาห์หน้า ซึ่งในเรื่องฉุกเฉิน งบประมาณไม่เกินพันล้านบาทอยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้น กรมชลประทาน ของบ90 ล้านบาท  สำหรับกองทัพภาค กำลังทำงบประมาณเข้ามา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในส่วนกองทัพอากาศได้สนับสนุนเครื่องบิน 5ลำ กองทัพบก 1ลำ พร้อมกับสนับสนุนกำลังพล ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)สนับสนุนเครื่องบิน1ลำ แต่ต้องดำเนินการดัดแปลงสภาพเจาะท้องเครื่องบิน เพื่อปล่อยสารฝนหลวง อาจไม่ทันในการปฏิบัติการทำฝนหลวง วันที่1ส.ค.นี้


กรณีมาตรการเร่งด่วนเยียวยาเกษตรกร และเป็นพื้นที่ยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติ แต่พื้นที่เพาะปลูกเกิดความเสียหาย กำลังพิจารณาจะดำเนินการช่วยเหลือให้พืชปลูกใช้น้ำน้อย ช่วยปัจจัยการผลิตไร่ละ2พันบาท เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง จ่ายเงินชดเชยไร่ละ1,113บาท ไม่ได้ อาจจะแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวในปีหน้า เพราะขณะนี้กรมการข้าว เมล็ดพันธุ์ไม่มี เนื่องจากพ้นฤดูเพราะปลูกนาปีไปแล้ว 

 

ทั้งนี้จากการประเมินพื้นที่นาข้าวคาดว่าจะเสียหาย 10 ล้านไร่ 20 จังหวัด หากถึงสิ้นเดือนนี้ฝนไม่มาตกทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตามขณะนี้พอมีฝนเริ่มตกหลายจังหวัด กระทรวงเกษตรฯจึงเร่งสำรวจพื้นที่ว่าฝนรอบนี้ช่วยนาข้าวได้เท่าไหร่ พร้อมกับจะมีมาตรการให้ปลูกพืชอื่นไปช่วยเสริมทดแทนการทำนา เพื่อเสนอของบจากครม.ช่วงต้นเดือนส.ค.อีกครั้ง
 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ