ข่าว

สทนช.เสนอบิ๊กตู่3แผนรับมือแล้ง 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2562




          สทนช. ชงนายกฯ มาตรการรับมือภัยแล้ง คาด 20 จังหวัดเหนือ-อีสานเสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ่อทบทวนระบายน้ำเขื่อน 3 เขื่อนหลัก  “พิจิตร” แม่น้ำยมแห้งเดินข้ามได้ ผบ.ทบ.ประสานหน่วยงานรัฐ ส่งรถน้ำช่วยประสบภัย 

 

          ความคืบหน้าสถานการณ์ภัยแล้งในหลายภูมิภาคของประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 8/2562 ว่าที่ประชุมได้พิจารณามาตรการรับมือภัยแล้งในช่วงฤดูฝนเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 3 มาตรการ คือมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว


          สำหรับมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1.ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวส่วนกลางในภาวะวิกฤติ โดยสทนช.จะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และตั้งศูนย์ของจังหวัดเพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี 2.ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือและท้ายอ่างเก็บน้ำ 3.สนับสนุนน้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำใกล้เคียงในพื้นที่เสี่ยง และ 4.เร่งขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง-แล้งซ้ำซาก 144 โครงการ วงเงิน 1,226 ล้านบาท 5.ปรับแผนขุดเจาะซ่อมแซมบ่อบาดาล 6.การชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และ 7.ประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่อง 


          มาตรการระยะสั้น 1.เร่งรัดการก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่ 67 จังหวัด 30,000 แห่ง งบประมาณ 3,000 ล้านบาท 2.ทบทวนปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2562 เพื่อวางแผนการใช้น้ำฤดูแล้งปี 2563 และ 3.สำรวจความต้องการใช้น้ำแต่ละพื้นที่ 4.บริหารจัดการน้ำฝนในแหล่งกักเก็บให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 5.ให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 


          ส่วนมาตรการระยะยาว 1.เร่งรัดโครงการแหล่งน้ำตามแผนแม่บท 20 ปี 2.เชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่แล้งซ้ำซาก เพื่อให้เกิดภาวะสมดุลด้านน้ำ 3.กำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับแหล่งน้ำและปริมาณน้ำต้นทุน


          สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณน้ำรวม 38,665 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 47% ของความจุอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 2558 จำนวน 2,293 ล้านลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 11,904 ล้านลบ.ม. โดยครึ่งหลังของฤดูฝนตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมนี้จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติใกล้เคียงกับปี 2550 และคาดว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม 


          นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มี 83 อำเภอใน 20 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภาวะเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ รวมทั้งจะทบทวนการระบายน้ำใน 3 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนกรณีเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ล่าสุดทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่าวันที่ 19-21 กรกฎาคมที่ผ่านมา เขื่อนไซยะบุรีได้ปรับลดการระบายน้ำตามปกติแล้วเพื่อรอให้น้ำจากเขื่อนจิ่งหง ของจีนไหลลงมาถึงก่อน คาดว่าระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงยากแต่พยายามจะทำให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด


          ด้านนายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ว่าขณะนี้อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ 23% คิดเป็น 566 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระบายน้ำวันละ 5 แสนลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปา และรักษาระบบนิเวศในลำน้ำพองแต่ไม่สามารถใช้เพื่อการเกษตร แม้ในช่วงต้นฤดูฝนจะมีฝนตกค่อนข้างมาก แต่ถึงปัจจุบันพบว่ามีปัญหาฝนทิ้งช่วง ประกอบกับมีน้ำต้นทุนจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างน้อย ทำให้เขื่อนไม่สามารถจ่ายน้ำได้มากเท่าที่ควร ปัจจุบันต้องใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 15 ล้านลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำก้อนนี้จะใช้เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ฝนแล้ง ไม่มีน้ำมาเติมในอ่าง แต่หากใช้ไปจนหมดในปีหน้าหากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงขึ้นมาจะขาดปริมาณน้ำสำรองที่จะใช้ได้

 


          ทั้งนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ถือว่าต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เขื่อนอุบลรัตน์เคยพบสถานการณ์น้ำน้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมาอายุ 53 ปี ในปี 2536 ในปีนั้นมีน้ำในอ่างเพียง 13% ถือว่าน้อยที่สุด รองลงไปคือปี 2537 มีน้ำเพียง 14% มีน้ำในเขื่อนประมาณ 300 กว่าล้านลบ.ม. ในปี 2536 เราต้องใช้น้ำก้นอ่างไปถึง 166 ล้านลบ.ม. แต่ปัจจุบันใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 15 ล้านลบ.ม. สถานการณ์วันนี้ใกล้เคียงกับปี 2559 ซึ่งปีนั้นใช้น้ำก้นอ่างไปทั้งหมด 88 ล้านลบ.ม. ขณะนี้ต้องติดตามสถานการณ์ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกมากขึ้น ซึ่งโดยปกติในภาคอีสานจะมีฝนตกชุกในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมก็คาดว่าจะมีฝนตกและมีน้ำมาเติมในเขื่อนมากขึ้น


          "ส่วนสถานการณ์ของเขื่อนต่างๆ ในความรับผิดชอบของกฟผ.ในภาคอีสาน พบว่าทุกเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แต่ที่น้อยที่สุดคือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้ติดลบ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ยังมีน้ำเพียงพอสามารถระบายได้วันละ 2 ล้านลบ.ม.เพื่อช่วยพื้นที่การเกษตร ส่วนเขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร แม้จะมีปริมาณน้ำน้อยแต่ไม่ต้องจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร หรือเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับเขื่อนอุบลรัตน์แต่ความต้องการน้ำเพื่อใช้สำหรับพื้นที่เกษตรมีไม่มาก” นายพิพัทต์กล่าว

 

          สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันนี้ (22 ก.ค.) เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณ 566.54 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 23.30% ของความจุอ่าง เขื่อนน้ำพุง ปริมาณน้ำ 31.60 ล้านลบ.ม. หรือ 19.10% น้ำใช้งานได้ 22.92 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริธร มีปริมาณ 875.52 ล้านลบ.ม. หรือ 44.52% ปริมาณน้ำใช้งานได้ 44.14 ล้านลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ ปริมาณน้ำ 43.16 ล้านลบ.ม. หรือ 26.36% น้ำใช้งานได้ 5.95 ล้านลบ.ม. ห้วยกุ่ม มีปริมาณ 6.60 ล้านลบ.ม. หรือ 32.60% น้ำใช้งานได้ 5.08 ล้านลบ.ม. อ่างบนลำตะคอง ปริมาณ 9.39 ล้านลบ.ม. หรือ 94.83% น้ำใช้งานได้ 9.09 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างล่างลำตะคอง มีปริมาณ 144.81 ล้านลบ.ม. หรือ 46.04% น้ำใช้งานได้ 112.15 ล้านลบ.ม.


          ด้านนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า เริ่มขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และน้ำสำหรับการทำการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่นอกเขตชลประทาน พบว่านาข้าวของเกษตรกรเริ่มยืนต้นตาย จากการสำรวจพบว่าใน 26 อำเภอของ จ.ขอนแก่น มีพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงตามเกณฑ์จำนวน 12 อำเภอ โดย อ.หนองนาคำ เป็นอำเภอที่ฝนทิ้งช่วงยาวนานเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนซึ่งมากที่สุดในขณะนี้ โดยจังหวัดได้ให้แต่ละอำเภอสำรวจและรายงานให้จังหวัดได้รับทราบเพื่อหาทางช่วยเหลือ


          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พิจิตร ว่าแม่น้ำยมบริเวณหน้าวัดรังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นแม่น้ำยมตอนบนของจังหวัดที่ไหลผ่านหมู่บ้านเหลือน้ำเพียงเล็กน้อยหลังจากฝนหยุดตกทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้ปริมาณระดับน้ำแม่น้ำยมซึ่งไหลผ่านหมู่บ้านและตำบลในพื้นที่ดังกล่าวระดับน้ำได้ลดลงต่อเนื่อง มองเห็นท้องแม่น้ำเป็นผืนทรายทอดยาวตลอดทั้งลำน้ำเหลือน้ำเพียงลำธารขนาดเล็กบริเวณกลางแม่น้ำจนประชาชนสัญจรเดินข้ามแม่น้ำที่แห้งขอดได้ทั้งที่บริเวณดังกล่าวมีน้ำจำนวนมากโดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก

 

          สำหรับ อ.สามง่าม เป็นอำเภอตอนบนของ จ.พิจิตร ที่แม่น้ำยมไหลผ่าน ก่อนไหลเข้าสู่พื้นที่ตอนใต้ ได้แก่ อ.โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอ.โพทะเล และไหลเข้าสู่พื้นที่ จ.นครสวรรค์ จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนับว่าทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยกว่าทุกปีส่อเค้าสถานการณ์ภัยแล้งจะวิกฤติหนักในปีนี้


          เช่นเดียวกับ จ.อุตรดิตถ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับอ่างเก็บน้ำเขื่อนดินช่องเขาขาด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนลูกที่อยู่ในเขื่อนสิริกิติ์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ทำหน้าที่เก็บกักน้ำรองรับน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ โดยระบายเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนในพื้นที่ อ.ท่าปลา ที่อพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำแห้งขอดจนมองเห็นเนินดินสุดลูกหูลูกตา ชาวบ้านนำโค-กระบือลงไปเลี้ยง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ระดับน้ำลดต่ำจนน่าวิตกกังวลด้วยภาวะฝนทิ้งช่วง และปัญหาภัยแล้งที่ขยายวงกว้างส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์เพียงวันละ 3 ล้านลบ.ม. ขณะที่มีการระบายน้ำวันละ 20 ล้านลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ลดต่ำ ล่าสุดมีปริมาณน้ำใช้งาน 473 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 7 ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมาของช่วงเวลาเดียวกันและต่ำกว่าช่วงวิกฤติแล้งรุนแรงปี 2558 ส่งผลต่อระดับน้ำเขื่อนดินช่องเขาขาดน้ำแห้งขอดจากปกติมีปริมาณน้ำมาก



          นอกจากนี้ส่งกระทบให้ชาว อ.ท่าปลา ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างหนักเนื่องจากระดับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ที่ต่ำกว่า 135 เมตร.รทก.จะไม่สามารถระบายน้ำผ่านช่องทางปกติไปยังท้ายเขื่อนได้ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งนำรถแบ็กโฮขุดร่องน้ำที่ยังพอหลงเหลือที่เป็นเพียงแอ่งน้ำให้เชื่อมต่อกันโดยขุดร่องน้ำยาวกว่า 1 กิโลเมตร เชื่อมมายังสันเขื่อนพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อส่งน้ำมายังประตูระบายใต้สันเขื่อนดินซึ่งเป็นช่องทางพิเศษลงสู่ท้ายเขื่อนดินให้พอมีน้ำใช้วันต่อวันแต่หากไม่มีฝนตกเหนือเขื่อนสิริกิติ์ น้ำเขื่อนดินที่ปัจจุบันวิกฤติไม่มีเหลือ ชาว อ.ท่าปลา จะได้รับผลกระทบวงกว้างและเป็นวิกฤติภัยแล้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.บึงกาฬ ถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงบริเวณหน้าสำนักงานด่านศุลกากร อ.เมืองบึงกาฬ เช้าวันนี้พบว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากวานนี้ (21 ก.ค.) ประมาณ 20 ซม. แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งราว 11 เมตร ระดับน้ำที่ยังต่ำทำให้เกิดสันดอนทรายกลางแม่น้ำโขงยาวกว่า 3 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือรับส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว เรือโดยสารต้องวิ่งอ้อมสันดอนทรายทำให้การเดินเรือไกลขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่าตัว


          ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการคลี่คลายสถานการณ์ภาวะฝนทิ้งช่วงที่กำลังส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ล่าสุดได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก กองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนและสนับสนุนทุกภาคส่วนในการแก้ไขวิกฤติฝนทิ้งช่วงอย่างเต็มที่และเร่งด่วน เน้นการช่วยเหลือในลักษณะแบบรวมการในพื้นที่วิกฤติ ด้วยการระดมศักยภาพของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครื่องมือและข้อมูลเพื่อเร่งจัดหาแหล่งน้ำและส่งน้ำจากแหล่งน้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่เดือดร้อนทั้งด้านอุปโภคบริโภคและพื้นที่ทางการเกษตร


          นอกจากนี้ ผบ.ทบ.ยังสั่งการให้มณฑลทหารบกเป็นหน่วยหลักในการบูรณาการเครื่องมือและแผนการปฏิบัติของหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือแบบรวมการตามลำดับความเร่งด่วนอย่างเต็มความสามารถ เช่น การระดมรถบรรทุกน้ำของหน่วยพร้อมกำลังพลและเครื่องมือเข้าไปแจกจ่ายน้ำในพื้นที่วิกฤติ พื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ที่ส่วนราชการอื่นเข้าให้การช่วยเหลือได้ยาก ซึ่งขณะนี้มณฑลทหารบกมีการสำรวจพื้นที่วิกฤติและจัดลำดับความเร่งด่วนของพื้นที่เพื่อเข้าช่วยเหลือไว้แล้ว โดยในภาคเหนือ ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร พะเยา สุโขทัย ลำปาง ส่วนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาสารคาม เลย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น


          รวมทั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกยังได้จัดตั้ง “ศูนย์ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” เป็นการเฉพาะ ตั้งแต่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและเป็นส่วนประสานการปฏิบัติกับทุกส่วนราชการในการนำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงหลาโหมมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลโดยทันทีและตรงความเดือดร้อนของประชาชน สำหรับการประสานงานในระดับพื้นที่นั้น กองทัพบกได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 279 คัน ที่ประจำอยู่ในหน่วยทหารของกองทัพบกทั่วประเทศ พร้อมเข้าให้การสนับสนุนในการออกแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง


          วันเดียวกัน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ฝนทิ้งช่วง อาจขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ควรระวัง 6 โรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ซึ่งสภาพอากาศเช่นนี้อาจทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งข้อมูลจากกองกระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีรายงานผู้ป่วย 6 โรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคอุจจาระร่วง 575,112 ราย 2.โรคอาหารเป็นพิษ 59,360 ราย 3.โรคบิด 432 ราย 4.อหิวาตกโรค 9 ราย 5.ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 560 ราย 6.ไวรัสตับอักเสบเอ 224 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วง 5 ราย โรคอหิวาตกโรค 1 ราย


          ดังนั้นกรมควบคุมโรคได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ระดับกรม เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งตลอดจนผลกระทบต่อสุขภาพอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสั่งการไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบ หากพบกลุ่มก้อนการระบาดของโรคติดต่อที่สัมพันธ์กับภัยแล้งให้ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคทันที ตลอดจนเร่งการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สามารถป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยได้


          อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สงขลา ว่าวันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 15.30 น. ได้เกิดเหตุฝนตกหนักและลมพัดแรงรวมทั้งเกิดลูกเห็บตกขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะฝั่งหาดใหญ่ใน ย่านเขต 8 ถนนราษฎร์อุทิศ ซึ่งหลายคนเพิ่งเคยเห็นลูกเห็บตกเป็นครั้งแรกในชีวิตและต่างตื่นเต้นถ่ายคลิปเอาไว้พร้อมแชร์ต่อกันในโซเชียลมีทั้งภาพลูกเห็บตกบนถนน บนหลังคา จนเสียงดังสนั่น ลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดเล็กประมาณเท่านิ้วก้อย โดยฝนที่ตกหนักเกิดขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ