ข่าว

อีสานแล้งลามไม่หยุดชัยภูมิวิกฤติรอบ30ปี 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562


 

          แล้วลาม ชัยภูมิวิกฤติสุดรอบ 30 ปี ลำน้ำชีแห้งขอด ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ ไร่นาหลายหมื่นไร่ยืนต้นตาย ศรีสะเกษอ่วม 22 อำเภอ -หนองคายน้ำโขงยังต่ำไม่หยุด ขอนแก่นเร่งรับมือหลังฝนทิ้งช่วง 12 อำเภอส่อวิกฤติ


          เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในทั่วประเทศนั้น ที่ชัยภูมิ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าฯ ชัยภูมิ นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งออกสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนักสุดในปีนี้แล้วเกือบครึ่งจังหวัดใน 7 อำเภอ จากทั้งหมด 16 อำเภอ ต้องประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงนาข้าวขาดน้ำยืนต้นตายขยายวงกว้างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากแล้วหลายหมื่นไร่ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงโค กระบือ ขาดน้ำอุปโภคบริโภคอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะลำน้ำชีซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงคนในจังหวัดและชาวอีสานในหลายจังหวัดมีความยาวกว่า 700 กิโลเมตรซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มวิกฤติแห้งขอดหนักกว่าทุกปีในรอบกว่า 30 ปี ส่งผลกระทบให้ประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแห่งนี้ที่นำน้ำดิบมาใช้ผลิตน้ำประปาแจกจ่ายประชาชนเพื่ออุปโภค และเกษตรกรชาวไร่ชาวนาต้องใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวปลูกพืช ปลูกผักต้องมองดูพืชพันธุ์ของตนเองกำลังยืนต้นตายอย่างหมดหวัง เพราะขาดแคลนน้ำอย่างหนัก

 

          ชัยภูมิวิกฤติแล้งท่สุดในรอบ 30 ปี
          ด้านนายณรงค์ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ออกสำรวจและร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วนและให้มีแนวทางที่แก้ไขปัญหาอย่างถาวรให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาชาวบ้านทะเลาะแย่งน้ำกันซึ่งในหลายพื้นที่เกิดขึ้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ต้องผ่าวิกฤติภัยแล้งปีนี้ร่วมกันไปให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องน้ำประปา น้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลนไว้ก่อนเป็นหลัก ในส่วนนาข้าวที่ขาดน้ำใกล้ยืนต้นตายในขณะนี้จำนวนมาก ก็ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจว่าน้ำที่ยังเหลือแห้งขอดในลำชีขณะนี้ยังพอมีจุดไหนเหลือบ้าง และพอที่จะสูบขึ้นมาช่วยต้นข้าวได้บางส่วนได้ต้องรีบทำ แต่หากเห็นแล้วว่าสูบขึ้นมาไม่เพียงพอในจุดนั้นๆ ก็ควรจะช่วยกันเก็บกักไว้ในด้านการอุปโภคไว้ก่อนเป็นหลัก

 

 

          อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจังหวัดมีการวางแผนประชุมหารือเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีที่ลดน้อยลงจนเริ่มวิกฤติและประสบปัญหาในการเกษตรในการอุปโภคบริโภคขณะนี้มีไม่พอเพียงพอ สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกอยู่ใกล้ลำน้ำชีซึ่งเกษตรกรเหล่านี้จะทำนาได้เพียงแค่ครั้งเดียวต่อปีในช่วงหน้าฝน ปีนี้สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงถือว่าหนักมาก จังหวัดจึงต้องลงพื้นที่มาทำความเข้าใจและหารือเพื่อช่วยแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนให้เกษตรกรและผู้ที่ใช้น้ำประปารวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลนน้ำจนอาจทำให้ชาวบ้านทะเลาะแย่งชิงน้ำกันซึ่งจังหวัดเองก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

 

 

          “ล่าสุดมีมติจังหวัดให้มีการปล่อยน้ำจากบึงละหานมาจำนวนรวม 700,000 ลบ.ม. ที่ยังมีน้ำสำรองเหลืออยู่ในปีนี้เพียง 16 ล้านลบ.ม. เพื่อนำมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเป็นน้ำดิบเพื่อผลิตประปาใช้ในแต่ละชุมชนที่อยู่โซนนี้จาก อ.จัตุรัส อ.เมืองชัยภูมิ และในเขตตำบลบ้านค่าย อ.มืองชัยภูมิ เชื่อมต่อ อ.เนินสง่า โดยได้ประสานขอความร่วมมือจากเกษตรกรและสถานีสูบน้ำไฟฟ้าที่บ้านโนนจาน บ้านกันกง บ้านลี่ บ้านโคกแพงพวย บ้านเสี้ยวน้อยรวม 5 แห่ง ที่อยู่ต้นน้ำชี ช่วยหยุดสูบน้ำก่อนเพื่อจะนำน้ำดิบไปผลิตประปาแจกจ่ายให้ประชาชนในเขตอำเภอเมืองเมืองและอำเภอเนินสง่าเป็นการชั่วคราว” ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าว


          ศรีสะเกษ 22 อำเภออ่วมหนัก
          ที่ จ.ศรีษะเกษ ชาวบ้านยาง ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย ร่วมลงขันซื้อน้ำมัน ยืมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ของกรมโยธาธิการและผังเมืองจาก อบต.โคกจาน มาสูบน้ำจากลำห้วยสำราญเข้าสู่แปลงนาที่กำลังแล้งอย่างหนัก เชื่อว่าจะสามารถช่วยได้อย่างน้อยกว่า 500 ไร่ ทั้งนี้จังหวัดศรีสะเกษ สภาพความแห้งแล้งยังแผ่กระจายหนักออกไปยัง 22 อำเภอ เกษตรกรที่ทำนาข้าวที่ต้องอาศัยน้ำฝนระทมหนักเพิ่มขึ้นเพราะฝนเกิดทิ้งช่วงไปมากกว่า 2 เดือนแล้ว ต้นข้าวในแปลงนาที่เกษตรกรปักดำกำลังขึ้นสูงมาราว 10 เซนติเมตร รอน้ำฝนที่จะเติมลงมาเพิ่มให้ต้นข้าวเจริญเติบโต แต่ต้องมาชะงัก แห้งกรอบ เหลืองยืนต้นตาย


          ขณะเดียวกันในหลายพื้นที่ของจังหวัดทั้ง 22 อำเภอ กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เช่นเดียวกับที่บ้านยาง ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย นายเหล็ง บุตรดาวงค์ ผู้ใหญ่บ้านยาง หมู่ 7 ตำบลโคกจาน หลังจากที่ได้รับรายงานจากลูกบ้าน ได้นำคณะกรรมการหมู่บ้านออกสำรวจความเสียหายจากภัยแล้ง ต้นข้าวที่ยืนต้นตาย และได้ประชุมหารือกับลูกบ้านพร้อมการนำเสนอแนวทางแก้ไข ซึ่งเดิมแปลงนาของชาวบ้านมีคลองโครงการอีสานเขียวเก่าไว้นานหลายปี ไม่มีการใช้งานเลย เพราะสภาพความแห้งแล้งไม่หนักเช่นปีนี้


          หนองคายน้ำโขงยังต่ำไม่หยุด
          ส่วนที่ จ.หนองคาย น้ำโขงที่ยังคงมีระดับต่ำแม้วันนี้จะมีระดับเพิ่มขึ้นแต่ในภาพรวมระดับน้ำยังคงถือว่าอยู่ระดับต่ำ แม้ว่าระดับจะเพิ่มขึ้นเกิน 1 เมตรแล้วหลังจากที่มีระดับต่ำกว่า 1 เมตรติดต่อกันมาหลายวัน ล่าสุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำมีระดับอยู่ที่ 1.30 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งถึง 10.90 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ 35 ซม. อย่างไรก็ตามจากการที่ระดับน้ำโขงยังมีระดับต่ำ ทำให้มีแก่งหิน สันดอนทรายและหาดทรายเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างหลายจุดทั้ง 6 อำเภอที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมือง อำเภอโพนพิสัย และอำเภอรัตนวาปี และพบว่าบางจุดสามารถเดินจากฝั่งไทยข้ามไปยังดอนที่อยู่ในแม่น้ำโขงของสปป.ลาวได้ โดยเฉพาะที่บริเวณบ้านหม้อ ตำบลบ้านหม้อ ชาวบ้านสามารถเดินทางฝั่งไทยไปยังดอนชิงชู้ที่เป็นดอนขนาดใหญ่ของสปป.ลาวได้ น้ำโขงจะไหลอ้อมดอนชิงชู้ด้านที่ติดฝั่งสปป.ลาว ซึ่งบนดอนแห่งนี้จะมีชาวลาวเข้ามาทำการเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวลาวลงมาที่หาดทรายแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นหลายจุดเพื่อคลายร้อนกันเป็นจำนวนมาก


          ส่วนสถานการณ์น้ำประปาในตัวเมืองหนองคาย ขณะนี้เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว หลังจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาหนองคาย ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและต่อท่อหัวดูดน้ำเรียบร้อยแล้วและเร่งสูบน้ำดิบส่งให้โรงกรองในตัวเมืองหนองคายและโรงกรองที่บ้านหนองบัว ตำบลปะโค ตลอด 24 ชั่วโมง


          ขอนแก่นอำเภอส่อวิกฤติ
          ขณะเดียวกันที่จังหวัดขอนแก่น เร่งสูบน้ำจากบึงหนองโคตรให้ไหลลงสู่คลองล่องเมืองเพื่อช่วยเหลือระบบนิเวศในภาวะฝนทิ้งช่วงและเป็นการเตรียมพร้อมรับมือพายุฝนในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่ภาพรวมทั้งจังหวัดขณะนี้มี 12 อำเภอส่อเค้าวิกฤติหนักสุดที่อำเภอหนองนาคำ ทำให้ผู้ว่าฯ สั่งทุกหน่วยระดมช่วยเหลือเต็มที่


          วันดียวกันที่สถานีสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าบึงหนองโคตร เทศบาลตำบลบ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามปริมาณน้ำภายในบึงหนองโคตร หลังจากที่เทศบาลตำบลบ้านเป็ดได้สูบน้ำให้ไหลลงสู่คลองล่องเมืองมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศ และเตรียมการรับมือและป้องกันน้ำท่วมจากพายุฝนที่คาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่พื้นหลายพื้นที่ของภาคอีสานในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้จังหวัดขอนแก่นได้รับผลกระทบจากพายุฝนนี้ด้วย


          ขณะเดียวกันศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้คาดการณ์ว่าประมาณเดือนสิงหาคมนี้จะมีพายุฝนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน รวมทั้งจังหวัดขอนแก่น ทางจังหวัดจึงเตรียมรับมือในการป้องกันน้ำท่วมเมืองควบคู่ไปด้วย โดยการตั้งเป้าสูบน้ำออกจากหนองโคตรให้ระดับน้ำห่างจากริมตลิ่ง 3 เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำที่สูบออกจำนวน 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำที่สูบออกจากจะลงสู่ลำคลองผ่านประตูระบายน้ำที่อยู่ในเขตเมืองไหลลงสู่บึงทุ่งสร้าง เขตเทศบาลนครขอนแก่น ก่อนจะไหลลงสู่ลำห้วยพระคือ และลงสู่แม่น้ำชีต่อไป ซึ่งหากเป็นไปตามการพยากรณ์อากาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและการรับมือปัญหาน้ำท่วมเมืองในช่วงฝนตกหนักผ่านพ้นไปได้


          ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในภาพรวมทั้งจังหวัดขอนแก่น พบว่าหลายพื้นที่ขณะนี้เริ่มขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และน้ำสำหรับการทำการเกษตร โดยเฉพาะที่อยู่นอกเขตชลประทาน พบว่านาข้าวเริ่มยืนต้นตายเนื่องจากขาดแคลนน้ำในการหล่อเลี้ยง นายสมศักดิ์ ระบุว่าจากการสำรวจพบว่าใน 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงตามเกณฑ์จำนวน 12 อำเภอ โดยอำเภอหนองนาคำ เป็นอำเภอที่ฝนทิ้งช่วงยาวนาน เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ซึ่งมากที่สุดในขณะนี้ โดยจังหวัดได้ให้แต่ละอำเภอสำรวจและรายงานให้จังหวัดได้รับทราบเพื่อหาทางช่วยเหลือ เนื่องจากการที่จะประกาศภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงนั้นจะต้องระบุเป็นหมู่บ้าน และมีเกณฑ์ในการวัดเพื่อประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง คือจะต้องเป็นพื้นที่ที่ฝนไม่ตกลงมาไม่ต่ำกว่า 15 วัน





          พิจิตรนาข้าวเหี่ยวยืนต้นตาย
          ที่ จ.พิจิตร สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ยังคงส่งผลสร้างความเสียหายให้นาข้าวของเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน ในพื้นที่ตำบลสายคำโห้ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร พื้นที่การเกษตรนาข้าวเกือบ 1 พันไร่ กำลังได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาไม่เพียงพอและไม่สามารถหาแหล่งน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่อายุได้เพียง 1 เดือนกว่า จนทำให้ต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉาเพราะขาดน้ำเป็นเวลานาน คาดว่าหากไม่มีฝนที่ตกลงมาในช่วง 1-2 เดือนนี้อาจจะทำให้ต้นข้าวที่เกษตรกรหว่านไว้ยืนต้นตายจากการขาดน้ำ


          ทั้งนี้สำหรับพื้นที่การเกษตรตำบลสายคำโห้ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ที่เป็นเขตนอกเขตชลประทานและเป็นที่รับน้ำท่วม เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เสี่ยงทำนา เนื่องจากไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ เป็นการหว่านข้าวนาปีของชาวนา ซึ่งต้องใช้น้ำฝนในการทำนา


          นครพนมน้ำโขงลดต่อเนื่อง
          ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณสถานีตรวจวัดน้ำชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม วัดได้ 1.48 เมตร ซึ่งมีระดับต่ำกว่าวานนี้ (20 ก.ค.) 17 ซม. และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำโขงเมื่อปีที่แล้ว (2561) น้ำโขงต่ำกว่าปีก่อน 8.33 เมตร ขณะที่สถานีอุตุนิยมวิทยานครพนม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชม.ข้างหน้า ว่าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย สกลนคร นครพนม หนองคาย และบึงกาฬ โดยสถานีอุตุฯ นครพนม รายงานปริมาณฝนในจังหวัดมีเพียงอำเภอบ้านแพงแห่งเดียวที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกประมาณ 5.0 มม. ส่วนอีก 11 อำเภอที่เหลือตัวเลขเป็นศูนย์คือไม่มีฝนตก


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัญหาภัยแล้งที่ลุกลามพื้นที่จังหวัดนครพนม ยังส่งผลให้พื้นที่การเกษตรในอำเภอศรีสงคราม รวม 9 ตำบล จำนวน 56,682 ไร่ ได้รับความเสียหาย 100% ซึ่งจังหวัดนครพนม โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้มีหนังสือขอฝนหลวงไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ขณะที่ในพื้นที่นาของเกษตรกรพบว่าหลังปักดำเรียบร้อยแล้วแต่ไม่มีฝนตกลงมา ทำให้น้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวเริ่มเหือดแห้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ขยายเป็นวงกว้างไปทุกอำเภอของจังหวัดนครพนม


          นอกจากนี้ผลกระทบจากภัยแล้งยังทำให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ขาดแคลนหญ้า นายแถว เกษตรกรผู้เลี้ยงควาย วัย 63 ปี บ้านโนนจันทร์ หมู่ 8 ต.ท่าลาด อ.เรณูนคร เผยว่าในทุกๆ ปีระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะมีฝนตกชุก น้ำในนาก็เจิ่งนอง หญ้าที่ให้วัวควายบริโภคก็เขียวขจีในป่าสาธารณะ มีให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้เล็มกินได้อย่างเหลือเฟือ แต่ปีนี้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหญ้าในป่าที่เคยพาวัวควายไปเลาะเล็มก็ไม่มี จึงจำเป็นต้องพามาหากินหญ้าอยู่ริมถนนหลวง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงรายอื่นก็ใช้วิธีเดียวกัน


          นครราชสีมาบึงกระโตนน้ำหมด
          ที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำภายในบึงกระโตน ต.ประทาย อ.ประทาย จ.นคราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 3,700 ไร่ พบว่าปริมาณน้ำเก็บกักเหลือ 0% จากความจุทั้งหมด 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารแพในบึงกระโตน แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อในชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในบึงกระโตนลดลงอย่างรวดเร็ว จนแพเกยตื้น ไม่สามารถประกอบกิจการร้านอาหารได้ เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ ไม่สามารถให้พื้นที่บริการแก่ลูกค้าได้ โดยบึงกระโตนแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยเดินทางมาตรวจราชการและสั่งการให้แก้ปัญหาภัยแล้งเมื่อคราวจัดครม.สัญจร ที่ จ.นครราชสีมา วันที่ 21 สิงหาคม 2560


          จากปริมาณน้ำในบึงกระโตนแห้งขอดไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตรได้ส่งผลทำให้นาข้าวที่อยู่รอบๆ บึงกระโตนจำนวน 1 หมื่นไร่ ได้รับความเสียหาย ต้นข้าวแห้งเหี่ยว และเตรียมยืนต้นตายทั้งหมด โดยนายอนุกูล ทองคำ อายุ 47 ปี ชาวบ้านในอำเภอประทายบอกว่าในปีนี้เป็นปีที่ฝนทิ้งช่วงนานมาก ไม่มีฝนตกลงมาเลย ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ โดยชาวนาบางคนก็ยอมปล่อยให้ต้นข้าวยืนต้นตาย เนื่องจากขาดน้ำ อีกทั้งปริมาณน้ำที่เหลือเก็บกักอยู่เล็กน้อยจะไม่เพียงพอในการใช้ผลิตน้ำประปาให้ประชาชนใน 4 หมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน ในเขตรับผิดชอบของ อบต.ประทาย ที่ใช้น้ำภายในบึงกระโตน เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำแห้งขอดจนเกือบหมดแล้ว


          ร้อยเอ็ดเร่งทำฝนหลวงทุ่งกุลาหลังแล้งหนัก
          ที่ จ.ร้อยเอ็ด บริเวณโรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จํากัด สาขาบ้านนกเหาะ ต.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จํากัด และเกษตรกรทั่วไปในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมี ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เกษตรกรชาวนาที่สนใจโดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์การเกษตร และเกษตรกรทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติร่วมงานจำนวนมาก


          นางบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จํากัด กล่าวว่า จากฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เป็นต้นมา ทำให้เกิดภาวะฝนแล้งทั่วพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ส่งผลกระทบต่อสมาชิกของสหกรณ์ การเกษตรเกษตรวิสัยจํากัด กว่า 9,000 ราย พื้นที่นาข้าว 179,000 ไร่ ไม่มีน้ำเลย ถ้าภายในเดือนนี้ไม่มีฝนมา อาจจะส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง และส่งผลต่อปีการผลิตข้าวในปีหน้า เพราะทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นดี สู่ครัวโลก ถ้าปีนี้เป็นอย่างนี้อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่คิด 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ