ข่าว

แล้งลามยาว 4 เขื่อนหลักมีน้ำใช้ 40 วัน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2562


 

          สทนช.ส่งหนังสือด่วนถึง สปป.ลาว ชะลอทดสอบระบบไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี คาด 3 วันระดับน้ำโขงปกติ  ด้าน 3 รมช.เกษตรฯ ลงตรวจเขื่อนภูมิพล พบน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเหลือใช้ได้อีก 40 กว่าวัน สั่งหยุดสูบน้ำ ระดมทำฝนหลวงทั่วประเทศ  

 

          ความคืบหน้ากรณีระดับน้ำโขงลดต่ำลงมากจากสาเหตุเขื่อนจีนกักเก็บน้ำและเขื่อนของลาวทดสอบผลิตไฟฟ้าทำให้ระดับน้ำโขงผันผวนผิดปกติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งที่ประเทศจีน สปป.ลาว และฝั่งไทย 2.เขื่อนจิ่งหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม แจ้งเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ในช่วงวันที่ 9-18 กรกฎาคม เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ ซึ่ง สทนช.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ได้แก่ เชียงราย เลย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม โดยปัจจุบันระดับน้ำโขงที่มาจากเขื่อนจิ่นหง ณ สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ที่ 2.1.เมตร จากระดับน้ำก่อนจีนปรับลดการระบายอยู่ที่ 2.69 เมตร 

 

          ประกอบกับปัจจัยที่ 3 คือ การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ ได้เริ่มทำการทดสอบในช่วงระหว่างวันที่ 15–29 กรกฎาคม จะทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ 9-17 กรกฎาคม ทางเขื่อนได้กักเก็บน้ำบางส่วนเพื่อดำเนินการทดสอบระบบ จึงทำให้ระดับน้ำโขงฝั่งไทยลดลง และหลังจากวันที่ 17 กรกฎาคม จึงทดสอบเครื่องปั่นไฟ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา มีระดับสูงขึ้น 40-50 ซม.

 

 

          ทั้งนี้จาก 3 ปัจจัยข้างต้น ส่งผลทำให้ระดับน้ำโขงที่ลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำลดลงจากก่อนทดสอบกว่า 1 เมตร ดังนั้น สทนช.จึงได้เร่งประสานอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว และทำหนังสือด่วนผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว เพื่อให้ สปป.ลาว พิจารณาชะลอการทดสอบระบบดังกล่าวออกไปประมาณ 2-3 วัน เพื่อรอให้น้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหงไหลลงมาถึงก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน ช่วงระหว่างวันที่ 18–20 กรกฎาคม ที่คาดว่าสถานการณ์ของระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

          สำหรับสถานการณ์ของระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา พบว่าทุกสถานีระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและค่าต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน จ.เลย ณ วันที่ 18 กรกฎาคม อยู่ที่ 3.83 เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าระดับน้ำเฉลี่ย -5.28 เมตร และต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุด -1.43 เมตร นอกจากนี้ระดับค่าความแตกต่างของระดับน้ำก่อนลดการระบายกับระดับน้ำที่ต่ำสุดในช่วงลดการระบาย -1.79 เมตร ซึ่งลดต่ำลงในรอบ 28 ปี


          ที่ จ.ขอนแก่น นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา นายกสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำโขงแห้งขอดสร้างความกังวลให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงเป็นอย่างมาก เพราะไม่ทราบสาเหตุ กระทั่งมารู้จากสื่อว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจาก 2 เขื่อนหลักในจีนและลาวที่ดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนริมฝั่งโขง สำหรับการทำกิจกรรมในช่วงฤดูน้ำหลากนั้นมีข้อตกลงในประเทศต้นน้ำอย่างจีนและลาว ว่าเมื่อจะทำกิจกรรมใดในช่วงฤดูน้ำหลากหรือการผันน้ำ ต้องแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่ง สทนช.อ้างว่าได้ออกประกาศแจ้งไปยังจังหวัดริมโขงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ว่าเขื่อนจิ่งหงจะปิดเพื่อบำรุงรักษา แต่เราตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมจนถึงวันที่น้ำแห้ง ทาง สทนช.ใช้วิธีการใดในการแจ้งเตือน เพราะชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มีพื้นที่ติดริมน้ำโขง 95 ตำบลในอีสาน ไม่มีใครรู้เรื่อง 


          "สิ่งที่ต้องการเห็นการทำงานของ สทนช. คือการทำงานที่เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเข้าถึงคนกลุ่มนี้ แต่หากเป็นการแจ้งเตือนผ่านทางเว็บไซต์หรือหนังสือราชการ เป็นข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง ซึ่งสถานการณ์น้ำโขงแห้งในครั้งนี้ สร้างความกังวลให้ชาวบ้านริมฝั่งโขง เนื่องจากฤดูกาลนี้เป็นช่วงน้ำหลากที่ปลาแม่น้ำโขงหลากหลายสายพันธุ์ว่ายทวนน้ำเพื่อไปวางไข่ในแม่น้ำสาขา แต่เมื่อน้ำลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ปลาขนาดใหญ่ว่ายไปร่องน้ำลึกไม่ทัน ติดเกาะเนินทรายเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านหวั่นว่าปลาน้ำโขงจะสูญพันธุ์ และหลังจากข่าวแม่น้ำโขงลดลง ไม่ใช่คนริมโขงเท่านั้นที่มาจับปลาแต่คนต่างถิ่นต่างเข้ามาหาปลาเช่นกัน บางคนมาเป็นรถกระบะ จับปลาเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่เรากังวลว่าการจับปลาในช่วงฤดูวางไข่จำนวนมาก และหากมีสถานการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก มีโอกาสที่จะทำให้ปลาหมดไปจากแม่น้ำโขงได้” นางอ้อมบุญกล่าว


          วันเดียวกัน ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก นายประภัตร โพธสุธน, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ 3 รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง โดยมีแกนนำชาวนาชาวไร่ กว่า 500 คน จาก 22 จังหวัด เข้าเสนอข้อร้องเรียนให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาต้นทุนทำการเกษตรที่ผลผลิตเสียหายจากฝนทิ้งช่วง ทั้งนาข้าว ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่นใกล้ยืนต้นตาย บางรายถึงกับร้องไห้กลางห้องประชุม เพราะอยู่ปลายน้ำ โดยนายประภัตรได้สั่งการกรมชลประทานให้ช่วยเหลิือเกษตรกรให้ทั่วถึง ส่วนการเพิ่มปฏิบัติการทำฝนหลวง ร.อ.ธรรมนัส เตรียมประสานทุกเหล่าทัพ ร่วมบูรณาการนำเครื่องบินมาช่วยระดมทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จได้ปริมาณฝนตกมากยิ่งขึ้นเพื่อเร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตร โดยจะนำเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ให้สั่งการนำเครื่องบินมาร่วมทำฝนหลวงทั่วประเทศภายในสัปดาห์หน้า


          นายประภัตร กล่าวว่า ปัญหาน้ำเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก มีน้ำเหลือรวมกันเพียง 1.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ระบายวันละ 45 ล้านลบ.ม. ก็จะมีน้ำใช้อีก 40 กว่าวัน ดังนั้นจะลดการระบายน้ำลงเหลือ 40 ล้านลบ.ม. พร้อมกับต้องมีแผนจัดสรรน้ำอย่างเข้มข้นจะสามารถยืดเวลาการใช้น้ำออกไปจนกว่าฝนจะมาเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยาปีนี้ปริมาณฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 10% และที่น่าเป็นห่วงมากที่ตอนนี้ยังไม่มีฝนลงมา ข้าวปลูกไปแล้วจะเสียหาย ดังนั้นการจัดการน้ำครั้งนี้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันบริหารน้ำตามรอบเวร โดยให้กรมชลฯ ทำแผนใช้น้ำ หยุดเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า 400 กว่าเครื่องในลุ่มน้ำตอนบนไว้ก่อน เช่นหยุดสูบ 3 วันเพื่อให้น้ำไปถึงลุ่มเจ้าพระยา พร้อมกับชี้แจงชาวนาถ้าไม่มีน้ำฝนมาเติมห้ามทำนาปรังรอบสอง


          “จะวางแผนจัดสรรน้ำกับทุกหน่วยงาน อาจขอกำลังทหารมาร่วมด้วย ตอนนี้เริ่มเกิดปัญหาแย่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ต้นน้ำกลางน้ำต้องหยุดสูบน้ำ แถวกำแพงเพชร นครสวรรค์ ให้น้ำไปถึงลุ่มเจ้าพระยา โดยยืนยันกับเกษตรกรจะหาน้ำให้จนกว่าข้าวนาปี 6 ล้านไร่เก็บเกี่ยวเสร็จ และห้ามทำนารอบสอง เชื่อว่าชาวนารู้สถานการณ์ว่าไม่มีน้ำก็จะไม่ทำนาต่อเนื่อง” นายประภัตรกล่าว






          ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ปัญหาฝนทิ้งช่วง ภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่กำลังเผญิญวิกฤติระดับชาติ ดังนั้นให้ทุกฝ่ายเอาจริงเอาจังบูรณาการช่วยเหลือประชาชนเหมือนน้ำท่วมปี 2554 ต้องหาทางเติมฝนลงมาจะขอเครื่องบินมาทุกเหล่าทัพ อาศัยน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนแก้ไม่ได้ ทั้งนี้จะนำปัญหาที่รับฟังวันนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้นายกฯ รับทราบ เพื่อมีมาตรการแก้ภัยแล้ง นอกจากนี้จำเป็นต้องเพิ่มความถี่ทำฝนหลวง เพราะน้ำในเขื่อนน้อยวิกฤติ รวมทั้งจะเพิ่มพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำ เช่น บึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา มีปัญหาน้ำแห้งลงตลอด หาที่เก็บปริมาณน้ำให้ได้มากๆ ช่วงต้นน้ำสามารถส่งมาช่วยพื้นที่ปลายน้ำได้


          ด้านผู้บริหารเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า เขื่อนมีน้ำ 4.6 พันล้านลบ.ม. หักน้ำนอนเขื่อนที่ระบายไม่ได้ 3.8 พันล้านลบ.ม. เหลือเป็นน้ำใช้การได้ 891 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 9.23% ซึ่งการบริหารจัดการน้ำทำในรูปแบบคณะกรรมการร่วม โดยมี สทนช.เป็นแกนหลักในการตัดสินใจ เขื่อนภูมิพลนั้นปีนี้น้ำน้อยกว่าปกติถึง 2 พันล้านลบ.ม. ระบายวันละ 13 ล้านลบ.ม. ระบายออกมากกว่าไหลเข้าเฉลี่ย 20 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ในปี 2556-2559 มีน้ำใช้การวิกฤติสุด ได้งดส่งน้ำทำนาปรังลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ปีนี้สถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพลอาจมีน้ำน้อยสุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา แต่น่ากังวลมากกว่าเพราะมีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 5 พันล้านลบ.ม. สถานการณ์น่าเป็นห่วงทั้งเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ที่อาจแล้งรุนแรงเหมือนปี 2558 ที่เขื่อนภูมิพลมีน้ำเหลือใช้การ 200 ล้านลบ.ม. น้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา


          ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มเจ้าพระยา ใน 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,293 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,597 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9 ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 2.71 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 44.91 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 16,578 ล้านลบ.ม.


          ด้านสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง จำนวน 447 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดมีปริมาณรวม 36,429 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 มีน้ำใช้การได้ 12,300 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 53.03 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 124.01 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 39,639 ล้านลบ.ม.


          ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่บ้านห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ด้วยความห่วงใยประชาชนหลายจังหวัดที่กำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร โดยเน้นย้ำ ทส.พร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งและเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานและเร่งบรรเทาความเดือดร้อน โดยในส่วนของ ทส. มีกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ดูแลรับผิดชอบบริหารจัดการน้ำผิวดินและน้ำบาดาลในพื้นที่นอกเขตชลประทาน 119 ล้านไร่ จึงได้ให้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ประสบภัยแล้ง


          ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พิจิตร ว่า สถานการณ์แม่น้ำยมตอนกลางของจังหวัดประสบปัญหาภัยแล้ง โดยระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดแห้งขอด โดยเฉพาะพื้นที่บ้านวังเทโพ หมู่ 3 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนกลางของแม่น้ำยมพบว่าระดับน้ำแห้งขอดเหลือเพียงร่องน้ำคล้ายลำธารขนาดเล็ก ระดับน้ำสูงเพียง 30 ซม.เท่านั้น จากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานและน้ำจากตอนบนของแม่น้ำยมที่ไม่มีไหลลงมาเพิ่มเข้าพื้นที่ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝนที่ทุกปีที่ผ่านมาจะมีปริมาณน้ำมากจนใกล้ล้นตลิ่ง ทั้งนี้หากระดับน้ำยังคงลดต่ำลงและฝนทิ้งช่วงอีก รวมทั้งน้ำเหนือไม่ไหลลงมา จะทำให้ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและน้ำการเกษตรเป็นจำนวนหลายหมื่นไร่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำยมที่เริ่มทำการเพาะปลูกข้าว


          นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ปัจจุบันฝนทิ้งช่วงซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ได้เตือนเกษตรกรให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งทางจังหวัดส่งเสริมให้ประชาชนจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วม


          วันเดียวกัน ที่กองทัพน้อยที่ 1 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลสถานการณ์ภัยแล้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญมาก เพราะปีนี้ภัยแล้งค่อนข้างวิกฤติ แต่ถือว่าเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ในส่วนของทหารได้เตรียมความพร้อม ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนกองทัพมีความพร้อมอยู่แล้วในการระดมศักยภาพ ทั้งเครื่องมือและกำลังพลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งการช่วยเหลือ เป็นธรรมดาที่บางครั้งอาจจะไม่ครอบคลุมและไม่ถูกใจคนทั้งหมด แต่ขอให้ทุกคนคิดว่าเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในภาพรวม อย่าหยิบประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนมาซ้ำเติม


          “การบูรณาการช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องช่วยกัน อย่าหยิบประเด็นนี้มาทำให้เกิดความแตกแยก” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ