ข่าว

"กมธ.ทางด่วนฯ" ประเดิมสอบขยายสัมปทานทางด่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กมธ.ทางด่วนฯ" ประเดิมสอบ ขยายสัมปทานทางด่วน เรียก บอร์ดทางด่วน-สหภาพ-BEM แจงอังคารหน้า "ยุทธพงศ์" ยันไม่ตั้งธงใครผิด

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส)  สภาผู้แทนนราษฎร นัดแรกเพื่อเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยมติที่ประชุมเลือกนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ., นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์  ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานกมธ. คนที่หนึ่ง, นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เป็นรองประธานกมธ.​คนที่สอง เป็นต้น

 

         ทั้งนี้นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะโฆษก กมธ. แถลงว่า การประชุมนัดที่2 วันที่ 23 กรกฎาคม กมธ.​จะตรวจสอบกรณีที่คณะกรรมการบริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีมติต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ระยะเวลา 30 ปี โดยได้เรียก ตัวแทนของบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย, ประธานสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ ตัวแทนบริษัททางด่วนฯ ให้ข้อมูล โดยประเด็นสำคัญที่ต้องการรายละเอียด คือ เหตุผลและรายละเอียดการพิจารณาของบอร์ดการทางพิเศษฯ ขยายอายุสัญญาสัมปทาน จำนวน 30 ปี ตามมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 อย่างไรก็ตามในการขยายอายุสัมปทานดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 แต่ในรายละเอียดยังต้องพิจารณาถึงประเด็นทางกฎหมาย, ประเด็นที่ถูกยื่นให้กระบวนการทางศาลตรวจสอบรวมถึงค่าชดเชย ทั้งนี้การพิจารณาของกมธ.ฯ ไม่ใช่ตั้งธงที่จะกล่าวโทษว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ชอบ หรือพบความไม่โปร่งใส

 

          "หน้าที่ของกมธ. คือ ให้ทุกฝ่ายชี้แจง โดยไม่ตั้งธงหรือตั้งประเด็นว่าฝ่ายใดทำผิด ซึ่งในการประชุมนัดที่ 2 กมธ.ต้องการฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนผลการศึกษาที่ศึกษาได้ทั้งหมด จะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาและแจ้งไปยังรัฐบาล อย่างไรก็ตามการดำเนินการใดๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถเดินหน้าได้ เพราะกมธ.ฯ ไม่มีอำนาจแทรกแซงการดำเนินการใดๆ" นายยุทธพงศ์ กล่าว

 

          นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า กมธ.ฯ จะยังไม่ตั้งอนุกมธ.ฯ เพื่อเร่งการพิจารณารายประเด็นที่สำคัญ​ทั้งกรณีทางด่วน หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความซ้ำซ้อนในการพิจารณา อย่างไรก็ตามการประชุมของกมธ.ฯ​ยอมรับว่ามีช่วงระยะเวลาที่สั้น ดังนั้นจึงกำหนดการประชุมกมธ. สัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันอังคาร และ วันพุธ เวลา 09.00 น. 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ