ข่าว

"โคราช-เลย-สารคาม"อ่วม เขื่อนพิมาย-แม่น้ำชีแห้งขอด 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562


 

 

          อีสานแล้งจัด เลย โคราช สารคาม ฝนทิ้งช่วงกว่า 2 เดือน นาข้าวเริ่มขาดน้ำ  มหาสารคามเสียหายกว่า 50,000 ไร่ น้ำชีแห้งขอด  ส่วนเขื่อนพิมายมีน้ำไม่ถึง 10%  ขณะที่อุตุฯ ชี้ หน้าฝนปีนี้แล้งสุดในรอบ 10 ปี

 

 

 

          หลายพื้นที่ในภาคอีสานประสบปัญหาสถาณการณ์ภัยแล้ง แม่น้ำหลายสายซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวบ้าน พืชและสัตว์ ปริมาณน้ำแห้งขอดอยู่ในขั้นวิกฤติจนสามารถเดินข้ามไปมาได้อย่างสบาย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงการทำการเกษตรเพื่อเป็นอาหารและสร้างรายได้อย่างยิ่ง ขณะที่เขื่อนหลายแห่งปริมาณน้ำน้อยจนน่าเป็นห่วง

 

          วันที่ 15 กรกฎาคม สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของ จ.มหาสารคาม ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่บ้านทาสองคอน อ.เมือง อยู่ในสภาพแห้งขอดสามารถเดินข้ามได้เช่นกัน ซึ่งแม่น้ำชีเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความยาว 765 เมตรไหลผ่านในพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และอ.เมือง ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงของชาวมหาสารคาม แต่ในปีนี้มหาสารคามได้ประสบภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาเนื่องจากไม่มีฝนตกจนปริมาณน้ำในแม่น้ำชีลดลงจนแห้งขอดอย่างเห็นได้ชัด หลายพื้นที่ประสบภัยแล้งทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่ต้องออกหาอาหารตามธรรมชาติ เช่น หาขุดหอยขุดปู


          นางนิยม นามมุงคุณ ราษฎรบ้านเหล่ากา หมู่ 3 ต.กำพี้ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เล่าว่า เดินทางมาจากตำบลกำพี้ เกิดมาอายุ 50 ปี เพิ่งเจอแม่น้ำชีที่แห้งขอดในปี 2562 อยู่ที่อำเภอบรบือ ประสบปัญหาภัยแล้งนาข้าวแห้งตาย ทราบว่าแม่น้ำชีที่บ้านท่าสองแห้งขอดจึงพากันเหมารถมาทั้งหมู่บ้านเพื่อมางมหอยไปทำอาหารและนำไปขาย ซึ่งมีหอยหลากหลายชนิด เช่น หอยทราย หอยเลี้ยงน้อง หอยเล็บม้า หอยฉลาม หอยกรอบ โดยนำไปต้ม แล้วจิ้มเอาแต่ส่วนหัวนำไปแช่ในช่องฟรีซ แล้วค่อยนำออกมาทำเป็นอาหาร นำไปผัด หรือใส่ส้มตำ ถ้าเหลือจากการทำอาหารก็นำไปขายซึ่งเป็นทางเลือกแก้ปัญหาที่ชาวบ้านประสบภัยแล้งอีกทาง


    
          ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่าน จ.มหาสารคาม ช่วงบริเวณสถานี E8A อ.เมืองมหาสารคาม ปริมาณความจุลำน้ำอยู่ที่ 881.00 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เครื่องวัดระดับน้ำไม่สามารถอ่านค่าได้ ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 9.18 เมตร โดยปริมาณค่าฝนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันมีปริมาณน้ำฝนสะสมเพียง 291.9 มิลลิเมตร ลดน้อยลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 171.3 มิลลิเมตร โดยค่าเฉลี่ยฝนสะสมของจังหวัดมหาสารคามอยู่ที่ 1,200 มิลลิเมตร


          ส่วนบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอวาปีปทุม ชาวบ้านทำพิธีแห่นางแมวขอฝนในแบบโบราณ สร้างขวัญกำลังใจ ก่อนร่วมประชุมรับฟังเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ที่เดินทางมาบินสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้าน เนื่องจากฝนไม่ตกติดต่อกันมากว่า 2 เดือน ต้นข้าวเฉาตายเสียหายกินพื้นที่กว่า 50,000 ไร่ จังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้งเพื่อให้ความช่วยเหลือ 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอ คือ วาปีปทุม พยัคฆภูมิสัย


          ด้าน น.ส.วาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นั่งเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำรวจผืนนา ลงพื้นที่และพบชาวนาที่ทำเรื่องร้องขอให้กรมฝนหลวงเข้าไปทำฝนเทียม  ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นบินสำรวจพื้นที่แล้วหลายครั้งพร้อมปฏิบัติการทันทีเมื่อความชื้นในอากาศเหมาะสม


          ส่วนที่่ จ.นครราชสีมา ภัยแล้งยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณน้ำภายในเขื่อนกักเก็บน้ำอำเภอพิมาย พบว่าแห้งขอดจนชาวบ้านสามารถเดินข้ามไปมาได้ นับว่าแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี ทำให้เจ้าหน้าที่จัดสรรน้ำโครงการศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์อำเภอพิมายไม่สามารถเปิดประตูเขื่อนปล่อยน้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีจำนวน 20,000 ไร่ ที่อยู่ท้ายเขื่อนพิมายได้ ทำให้เกษตรกรใน 4 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าหลวง ต.ชีวาน ต.ดงใหญ่ และต.กระชอน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร ต้นข้าวนาปียืนต้นตายเกือบทั้งหมด


          สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลายาวนานทำให้ปริมาณน้ำแห้งขอด เกษตรกรและชาวบ้านกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคในขณะนี้ ทำให้ไม่มีน้ำเติมเข้าเขื่อน จนล่าสุด ปริมาณน้ำภายในเขื่อนพิมายเหลือไม่ถึง 10% ของความจุ


          ขณะเดียวกันในช่วงปริมาณน้ำที่แห้งขอดชาวบ้านใช้เวลาว่างลงไปงมหอยนาและหอยแครงที่อยู่บริเวณเขื่อนพิมายนำไปประกอบอาหาร หากได้มากก็จะนำไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัวช่วงวิกฤติแล้งนี้


          ส่วนที่ จ.เลย สถานการณ์ภัยแล้งยังคงรุนแรงและขยายพื้นที่ออกไปอย่างต่อเนื่องเพราะฝนไม่ตกมานานเกือบ 2 เดือนแล้ว ทำให้ต้นข้าวที่เกษตรกรปักดำไว้ก่อนหน้านี้เริ่มขาดน้ำ แห้งเหี่ยวตาย เกษตรกรต้องเร่งสูบน้ำใส่ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เพิ่มต้นทุนการผลิตขึ้นอีก ขณะที่แหล่งน้ำสาธารณะตามลำห้วยต่างๆ ก็เริ่มขาดแคลน


          สำหรับอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานทั้ง 14 แห่งในจังหวัดเลย รวมความจุอ่างทั้งหมด 115.82 ลูกบาศก์เมตร เหลือน้ำใช้การได้เพียง 42.7 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41.2 โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ อ.วังสะพุง แหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา และการเกษตร ระดับน้ำที่ใช้การได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.7 ไม่สามารถปล่อยลงคลองส่งน้ำให้แก่เกษตรกรได้แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ระดับน้ำลงขนาดนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านพาเดินกันลงไปจับสัตว์น้ำถึงกลางอ่างเก็บน้ำ


          ด้าน น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงหน้าฝนนี้ที่มีนักวิชาการหลายคนออกมาให้ข้อมูลเตือนให้ระวังวิกฤติแล้งหนักว่า จากข้อมูลที่ประเทศไทยได้ประกาศเข้าสู่หน้าฝนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าปริมาณฝนเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในอดีตที่ผ่านมา ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของประเทศ ปีนี้นับเป็นปีที่ฝนน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนพื้นที่อื่นไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน เหนือ และภาคใต้ ค่าเฉลี่ยฝนสะสมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าน้อยกว่าแค่ปี 2558 ในทุกภาค


          “สาเหตุสำคัญที่ทำให้หน้าฝนของไทยปีนี้ฝนน้อยมาจากตัวการที่ทำให้เกิดฝนในบ้านเรา คือร่องหรือหย่อมความกดอากาศต่ำ มรสุมตะวันตกฉียงใต้และพายุที่ผ่านมาแทบไม่มีกำลังแรงมากพอทำให้ฝนตกอย่างที่ควรจะเป็น แม้ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีพายุมูนเข้ามาแต่ก็ทำให้เกิดฝนได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ไม่มากพอที่จะทำให้น้ำในพื้นที่เกษตรเพิ่มมากขึ้น” น.ส.กรรวี กล่าว


          ส่วนเรื่องผลกระทบจากเอลนิโญที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตนั้น รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปีนี้พบว่าปรากฏการณ์เอลนิโญเป็นลักษณะกำลังอ่อน ไม่มีผลกระทบกับไทยที่ชัดเจนมากนัก หากจะให้เห็นผลก็ต้องลักษณะกำลังแรง จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายกังวลมากจนเกินไป แม้ว่าปกติแล้วในช่วงเดือนมิถุนายนและ กรกฎาคมประเทศไทยจะมีฝนน้อยและจะไปตกมากในช่วงสิงหาคม-กันยายน แต่เมื่อดูแนวโน้มจากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาและคาดการณ์ฝน 3 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปริมาณฝนก็ไม่ได้มีมากอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เป็นไปได้ว่าหน้าฝนปีนี้จะมีฝนน้อยจนอาจทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจนเกิดภาวะแล้งได้


          “ขอให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการทำการเกษตรไว้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 16-20 กรกฎาคมนี้ อาจเป็นช่วงนาทีทองที่ประเทศไทยจะกลับมามีฝนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีพายุก่อตัวในประเทศฟิลิปปินส์จะส่งผลให้ไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าประเทศไทยน่าจะมีพายุเข้ามามีผลกระทบทำให้ทั่วไทยมีฝนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ลูก” น.ส.กรรวี กล่าวทิ้งท้าย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ