ข่าว

กองทุนบัตรทองปรับสิทธิประโยชน์ "โรคธาลัสซีเมีย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กองทุนบัตรทอง ปรับสิทธิประโยชน์ "โรคธาลัสซีเมีย" ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด รวมกรณีผู้บริจาคไม่ใช่ญาติ


กองทุนบัตรทอง ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ครอบคลุมผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ผู้บริจาคไม่ใช่ญาติ เริ่มปีงบประมาณ 63 พร้อมขยายเป้าหมายปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด 110 ราย เผย 11 ปี มีผู้ป่วยรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดฯ 414 ราย        

 

          วันที่ 7 ก.ค. 62 - นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) "การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกรณีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เริ่มปีงบประมาณ 2563 ในหน่วยบริการที่มีศักยภาพและภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร พร้อมให้มีการกำกับติดตาม เฝ้าระวังและประเมินผล

 

          ทั้งนี้ข้อเสนอการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงอยู่ในกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาในปี 2554 คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และบริการ เห็นชอบในหลักการ ให้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเป็นสิทธิประโยชน์ในกองทุนบัตรทอง โดยจำกัดเฉพาะผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงและมีข้อบ่งชี้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ตามข้อมูลผลการศึกษาโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) โดยให้นำผลการศึกษาเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และปี 2556 คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการให้ทำการศึกษาและพัฒนาข้อเสนอบริการผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ตั้งแต่การป้องกันจนถึงการรักษาให้ครอบคลุม นำมาสู่ข้อเสนอการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกรณีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียในครั้งนี้ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคอื่นๆ ที่มีข้อบ่งชี้จำเป็นต้องรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว   

 

 

          นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2562 บอร์ด สปสช.ได้พิจารณาปรับอัตราและเงื่อนไขการจ่ายชดเชยค่าบริการ ซึ่งครอบคลุมระยะการรักษาตั้งแต่ก่อนรับการปลูกถ่าย ระหว่างการปลูกถ่าย และหลังการปลูกถ่าย โดยกำหนดอัตราชดเชยแบบเหมาจ่ายกรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยเอง (Autologous) รายละ 750,000 บาท และกรณีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาค (Allogeneic) ทั้งในกรณีที่ผู้บริจาคเป็นญาติพี่น้องและไม่ใช่ญาติพี่น้อง รายละ 1,300,000 บาท และในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพื่อดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่จะเริ่มในปีงบประมาณ 2563 จะคลอบคลุมอยู่ในเงื่อนไขการใช้สิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ต้องมีข้อบ่งชี้ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ปี ตามแนวทางของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย

 

          "การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในอดีตมีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาน้อยมากเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1 ล้านบาท หลังจากกองทุนบัตรทองได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในกองทุนบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2551-2561 มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว 414 ราย เป็นผู้ป่วยเด็ก 79 ราย ผู้ใหญ่ 335 ราย ส่วนปี 2562 กำหนดเป้าหมายการปลูกถ่าย 97 ราย อย่างไรก็ตามจากการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกรณีผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่บอร์ด สปสช.ได้เห็นชอบแล้วนั้น ในปีงบประมาณ 2563 ได้มีการขยายเป้าหมายการรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวน 110 ราย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงให้กับผู้ป่วย" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

          สำหรับในส่วนของหน่วยบริการที่ให้บริการการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 10 แห่ง ดังนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ