ข่าว

"กรมชลฯ"รับมือน้ำหลากทุกภาค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กรมชลฯ"รับมือน้ำหลากทุกภาค ย้ำพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด วางเครื่องมือพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือทันท่วงที

 

27 มิถุนายน 2562 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้เตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำหลากที่กำลังจะมาถึงและเร่งเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังประสบภัยแล้ง  

 

โดยเน้นย้ำสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เตรียมเครื่องมือเครื่องจักรพร้อมเจ้าหน้าที่ที่สามารถเข้าให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้คงอยู่ในเกณฑ์ควบคุมเสมอ พร้อมกันนี้ได้เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำชลประทานทุกพื้นที่ อาทิ บริเวณคลองบางหลวงเชียงราก ในพื้นที่ตำบลบ้านกระแชง ตำบล- สวนพริกไทย ตำบลบางพูด ตำบลบางพูน ตำบลบ้านกลาง ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

 

ทั้งนี้เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้สะดวกยิ่งขึ้นในช่วงน้ำหลาก และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องจักรเข้าไปกำจัดวัชพืชและผักตบชวา ในบริเวณคลองพระยาบรรลือ หมู่ที่ 3 ตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองให้ดีขึ้น

 

ส่วนในพื้นที่ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำบริเวณคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง อำเภอดอนเจดีย์ และอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ ได้ลงพื้นที่นำเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง ไปสูบน้ำจากลำน้ำธรรมชาติ อาทิ ลำห้วยกระเสียว และลำห้วยโตนด มาเติมให้กับคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง

 

ซึ่งในวันพรุ่งนี้(28 มิ.ย. 62) จะติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง คาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำในคลองเพิ่มขึ้นอยู่ที่  8 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดอนเจดีย์ที่อยู่บริเวณด้านท้ายคลองมะขามเฒ่า – อู่ทอง ให้มีน้ำเพียงพอและลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่

 

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2562 เพื่อร่วมกันหาแนวทาง ข้อตกลงร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ  การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูฝน โดยมีกลุ่มผู้ใช้น้ำจากฝายแม่ลาว เขื่อนแม่สรวย และน้ำประตูระบายน้ำเจ้าวรการบัญชา รวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ลาว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย


ส่วนที่โครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษารังสิตเหนือ เจ้าหน้าที่ชลประทาน ได้ลงพื้นที่ชี้แจงเเละขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลลำไทร เเละตำบลบ่อตาโล่ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ร่วมกันเพาะปลูกข้าวนาปีให้เเล้วเสร็จตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้  ยังได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำในคลองรังสิต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากที่จะมาถึง ให้สามารถระบายน้ำได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ณ บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

 

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 กรมชลประทาน ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำ การเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัย    น้ำท่วม ที่พร้อมจะปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา ก่อนจะเดินทางเข้าพบนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ทั้งนี้เพื่อรายงานสรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก แผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย ทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ช่วงเผชิญเหตุ และช่วงฟื้นฟูหลังภาวะอุทกภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ ซึ่งได้เน้นย้ำว่า ได้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบ เตรียมพร้อมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูล เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ระบบการสื่อสาร และการประชาสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

 

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร กล่าวว่าในช่วงนี้มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ค่อนข้างแรง ส่งผลดีในกรณีบริเวณภาคพื้น มีความชื้นเข้ามาในแผ่นดินได้มากซึ่งก็เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง แต่ก็อาจจะมีข้อเสียในลักษณะที่กระแสความเร็วลมมีความแรงมากยิ่งขึ้นเป็นอุปสรรคที่เมฆจะเกิดการพัฒนาตัวไปเป็นเมฆฝนได้ ขอให้ประชาชนช่วยกันรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำ เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำต่างๆก็มีปริมาณลดลงเนื่องจากฝนไม่ได้ตกลงไปบริเวณเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำมากเท่าที่ควร ทำให้ต้องมีความจำเป็นในการปล่อยน้ำออกมาช่วยเหลือ ฉะนั้นน้ำที่ปล่อยออกมามีปริมาณมากกว่าที่ไหลเข้าไปในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำต่าง ทำให้มีปริมาณน้ำลดลง

 

สำหรับการปฏิบัติหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 9 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี สุรินทร์ และ จ.สระแก้ว ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.พะเยา เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุทัยธานี สระบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา

 

รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง อ่างเก็บน้ำบ้านลานคา และอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี มีเพียงหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น นครราชสีมา และ อุบลราชธานี ไม่มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงเนื่องจากกลุ่มเมฆในพื้นที่เป้าหมายไม่สามารถพัฒนาตัวต่อไปเป็นเมฆฝนได้

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ