ข่าว

"ศาลฎีกา"ประชุมใหญ่ 1 ส.ค.เลือกผู้พิพากษานั่งตุลาการศาลรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปธ.ศาลฎีกา"ลงนามออกระเบียบคัดเลือกผู้พิพากษาฎีการะดับ หน.คณะคุณสมบัติพร้อม-เหมาะสม 3 คน นั่งตุลาการศาลรธน. เริ่มสมัครถึง 5 ก.ค.นี้ ประชุมใหญ่ 1 ส.ค.นี้

 

27 มิถุนายน 2562 "นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา" ได้ออกประกาศศาลฎีกา ลงวันที่ 26 มิ.ย.62 เรื่องการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา 

 

โดยกำหนดให้นัดประชุมใหญ่ศาลฎีกา (ผู้พิพากษาชั้นฎีกา 176 คน) วันที่ 1 ส.ค.นี้ เวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกา ชั้น 3 อาคารศาลฎีกา สนามหลวง เพื่อลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 3 คนเพื่อไปดำรงตำแหน่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 200 วรรคหนึ่ง (1) , วรรคสอง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) , วรรคสอง และมาตรา 12 วรรคสอง , ระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ.2562 ข้อ 8

 

การสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อไปดำรงตำแหน่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" นั้น ต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยให้ยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ต่อเลขานุการศาลฎีกา ภายในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.นี้ เวลา 16.30 น.

 

ขณะที่การรับสมัครคัดเลือกนั้นได้แต่งตั้งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา 5 คน เป็น"คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และนับคะแนน" ประกอบด้วย นายสมชัย ฑีฆาอุตมากร เป็นประธานคณะกรรมการฯ ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบฯ อีก 4 คน คือนายปุณณะ จงนิมิตรสถาพร  , นายอุทัย โสภาโชติ ,นายเมธี ประจงการ , นายธวัชชัย สุรักขกะ โดยคณะกรรมการชุดนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รายงานผลการตรวจสอบและนับคะแนน ตามระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสมัครคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของศาลยุติธรรมนี้ หลังจากที่ประธานศาลฎีกา ออกประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว 1 วันแรกนี้ยังไม่ปรากฏรายชื่อผู้พิพากษา ร่วมสมัครเข้าการคัดเลือก

 

ทั้งนี้ในส่วนของการคัดเลือกนั้น โดยมี"ระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562" กำหนดรายละเอียดขั้นตอนไว้ในสาระสำคัญ เช่น ข้อ 9 การประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อลงคะแนนหรือผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้พิพากษาเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่มีอำนาจหน้าที่เข้าประชุมและลงมติในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จึงถือเป็นองค์ประชุม

 

"ศาลฎีกา"ประชุมใหญ่ 1 ส.ค.เลือกผู้พิพากษานั่งตุลาการศาลรธน.

 

ข้อ 10 การเลือกให้กระทำโดยเปิดเผย ด้วยการทำเครื่องหมายกากบาท (X) อย่างชัดเจน ลงหน้าชื่อ-สกุลของผู้ที่จะเลือกจำนวนไม่เกิน 3 คนหรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ในบัตรเลือก ซึ่งบัตรจะระบุชื่อ-สกุล , ลำดับหมายเลขของผู้ลงคะแนนตามบัญชีอาวุโสในศาลฎีกา โดยให้นำบัตรเลือก ใส่ลงในหีบบัตรเลือกเพื่อนับคะแนน

 

ข้อ 11 การลงคะแนนเลือก "ผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" นั้น ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 คนแรก ที่มีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามเกณฑ์นั้น หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวน (3คน) ที่จะต้องคัดเลือก ก็ให้มีการลงคะแนน อีกครั้งหนึ่ง

 

ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังแล้ว ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องคัดเลือกนั้น ก็ให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

 

และกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเท่ากันในลำดับใด ที่จะทำให้มีผู้ได้รับคัดเลือกเกิน 3 คนก็ให้มีการลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่งสำหรับผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน หากส่วนนี้ลงคะแนนแล้วยังมีผู้ได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งเท่ากันอีก ก็ให้ "รองประธานศาลฎีกา" ที่มีอาวุโสสูงสุดที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จับสลากว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากัน ผู้ใดเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เพื่อให้ครบ 3 คน แต่ถ้าการลงคะแนนเลือกนี้หากไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งก็ให้ดำเนินการเลือกส่วนนี้ใหม่ (กรณีต้องเลือกคนที่มีเท่ากัน)

 

ข้อ 12 กรณีที่มีผู้สมัครไม่เกิน 3 คน (การคัดเลือกเพื่อไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องการคนที่มีคุณสมบัติพร้อมเหมาะสม 3 คน) ไม่ให้นำวิธีการลงคะแนนเลือกตามข้อ 11 มาใช้ แต่ให้ "ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา" ลงคะแนนเลือกผู้สมัครทีละคน  โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเกินครึ่งหนึ่ง ให้เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนตามเกณฑ์นี้ หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่ต้องให้เลือก ก็ให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 200 วรรคสอง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 วรรคสอง

 

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม "ระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562"ได้ที่ http://www.supremecourt.or.th/webportal/supremecourt/admin/announcements/files/June_27_2019_8_10_8e68f2d942e5a8eb66a8d463436bde75.pdf

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ