ข่าว

"ทั้งแล้ง-ทั้งฝน"เร่งเติมน้ำเขื่อน-รับมือฝนเพิ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทุกภาคของประเทศ ยังแล้ง-ฝนตกหนักกรมชลฯประสานฝนหลวงฯเร่งเติมน้ำเขื่อน 13แห่งเร่งด่วนช่วยพื้นที่เกษตร ส่วนสำนักชลประทานทุกแห่งพร้อมรับมือฝนเพิ่มขึ้น 25-27มิ.ย.

 

25 มิถุนายน 2562 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยทั่วประเทศ เร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้งจากการเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง  

 

รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำกินใช้ พื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 สำหรับเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ได้ขึ้นบินทำฝนหลวง ทำให้มีฝนตกจ.เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ พิจิตร ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร สุรินทร์ นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำกุดตาเพ็ชร อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด อ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็ง อ่างเก็บน้ำบ้านลานคา อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำห้วยยาง และอ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช

 

อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 5 จังหวัด รวม 23 อำเภอ 93 ตำบล 786 หมู่บ้าน เช่น จ.เชียงราย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี นอกจากนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 22 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 171 แห่ง

 

โดยเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับข้อมูลจากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างฯ หลายแห่งยังคงมีปริมาณน้ำน้อย ทางกรมชลประทานจึงมีความต้องการขอรับการสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง ให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ต่ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งมีจำนวน 13 แห่ง

 

 "ทั้งแล้ง-ทั้งฝน"เร่งเติมน้ำเขื่อน-รับมือฝนเพิ่ม

 

รวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะภัยแล้ง ได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำมูลบน จ.นครราชสีมา เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนลำนางรอง อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.หนองบัวลำภู อ่างเก็บน้ำห้วยส้มโฮง จ.นครพนม   อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ

 

อ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ จ.อุบลราชธานี อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน จ.กาญจนบุรี อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง โดยทางกรมฝนหลวงฯ จะเร่งดำเนินการวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา  ได้แสดงแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งทางกรมฝนหลวงฯจะนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจวางแผน  การขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงร่วมด้วย

 

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการพยากรณ์สภาพอากาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา ว่าในช่วงวันที่ 25-27 มิ.ย. 2562 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย นั้น

 

 "ทั้งแล้ง-ทั้งฝน"เร่งเติมน้ำเขื่อน-รับมือฝนเพิ่ม


สภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

 

กรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

 

การกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญได้กำชับให้เตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ประจำไว้ตามจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้าไปปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย

 

 "ทั้งแล้ง-ทั้งฝน"เร่งเติมน้ำเขื่อน-รับมือฝนเพิ่ม


ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง www.rid.go.th และ wmsc.rid.go.th หรือติดตามข่าวสารได้ทางสื่อสังคมออนไลน์ FB : เรารักชลประทาน และ FB : ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือโทรศัพท์สายด่วน กรมชลประทาน หมายเลข 1460 หรือ ติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ